ก่อนที่จะไปสู่ภาควิเคราะห์ว่าทำไมราคาน้ำมันต้องดิ่วเหว ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องราวพื้นฐานของน้ำมันกันเล็กน้อยครับ
1. ประเภทน้ำมัน
น้ำมันที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานในโลกเรานั้น มีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ (1) น้ำมันดิบเหลว หรือ Crude Oil และ (2) น้ำมันดิบจากหิน หรือ Shale Oil
(1) Crude Oil นั้นมีลักษณะเป็นของเหลวข้น สีดำ เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลาหลายล้านปี จนได้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่นำมาเผาไหม้ให้พลังงานความร้อนได้ โดยประเทศที่มี Crude Oil อยู่เป็นจำนวนมาก ก็คือประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่นซาอุดิอาราเบีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้บางประเทศเช่นเวเนเซูเอลา
(ที่มา: wikipedia)
และประเทศที่มีปริมาณ Crude Oil สำรองอยู่มาก และสามารถผลิตส่งออกได้ในปริมาณสูงจำนวน 12 ประเทศ ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรชื่อ OPEC หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลก(ที่มา: wikipedia)
(2) Shale Oil เกิดจากของแข็งสีดำที่เรียกว่า Oil Shale ซึ่งเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานเหมือนกัน แต่ไม่เท่า Crude Oil ในการสกัด Oil Shale เพื่อให้ได้ Shale Oil นั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางเคมีเข้ามาช่วยเร่งปฏิกิริยาในการแปลงสภาพเป็นของเหลวที่เผาไหม้ให้พลังงานได้ในที่สุด
(ที่มา: wikipedia)
ประเทศที่มี Oil Shale (ที่จะแปลงมาเป็น Shale Oil) เป็นจำนวนมาก ได้แก่ รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา
(ที่มา: EIA.gov)
2. การนำมาใช้/การลงทุน/ต้นทุน
(1) ในการขุดเจาะ Crude Oil ขึ้นมาใช้งานนั้น บ่อน้ำมันแต่ละบ่อ จะมีอายุใช้งานได้ประมาณ 20 ปี และแต่ละปีจะมีผลผลิตลดลงประมาณ 2%-5% โดยที่ต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันจะประกอบด้วย Fix Cost คือตัวระบบขุดเจาะและดูดน้ำมันที่ลงทุนเป็นก้อนใหญ่ครั้งแรกครั้งเดียว และ Variable Cost คือ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ที่ต้องจ่ายออกไปเรื่อย ๆ ทุกขณะที่มีการขุดเจาะน้ำมัน โดย Variable Cost ของการขุดเจาะ Crude Oil คือ $20-$30/barrel (อ้างอิง: Time.com)
เท่ากับว่า บ่อน้ำมันแบบ Crude Oil ที่มีอายุใช้งานมาแล้วสัก 10 ปี แทบจะได้ Fix Cost คืนไปหมดแล้ว ต่อจากนี้ ถ้าผลิตแล้วขายได้เกิน $20-$30/bbl (barrel ย่อกันว่า bbl) ก็จะครอบคลุม Variable Cost ได้ทั้งหมด = กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย
(2) แต่สำหรับ Shale Oil นั้น แต่ละบ่อจะสูญเสียผลผลิตอย่างรวดเร็ว 25-28% ในแต่ละปี หมายความว่า เมื่อเข้าต้นปีที่ 2 ของบ่อนั้น จากจุดเริ่มต้นที่เคยผลิตน้ำมันได้วันละ 100 bbl จะเหลือแค่ 72-75 bbl เท่านั้น แปลว่าบ่อ Shale Oil แต่ละบ่อมีอายุใช้งานแบบคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น (หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็ยังให้น้ำมันอยู่ แต่เป็นปริมาณน้อยมากจนไม่คุ้ม) โดยต้นทุนรวมของการผลิต Shale Oil คือประมาณ $65/bbl (อ้างอิง: Time.com) (ที่มา: seekingalpha.com)
เท่ากับว่า ใครที่จะทำธุรกิจ Shale Oil จะต้องลงทุนทำบ่อ Oil Shale ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อทดแทนบ่อเดิมที่มีอายุทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ปี (เทียบกับบ่อ Crude Oil ที่ใช้ได้ 20 ปีสบาย ๆ) แถมจะต้องขายให้ได้เกิน $65/bbl ถึงจะเริ่มมีกำไร และการที่ต้องลงทุนใหม่อยู่เสมอนั้นในขณะที่รายได้ต้องเติบโตด้วย แปลว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ และต้นทุน Fix Cost นั้นแทบจะกลายมาเป็น Variable Cost ทั้งหมด เพราะไม่สามารถต้นทุนกระจายออกไปในระยะเวลายาว ๆ ได้
กลับมาที่ประเด็นของเรา …
ด้วยเหตุที่การผลิต Shale Oil มีต้นทุนสูงต่อหน่วยกว่า Crude Oil ผู้ผลิต Shale Oil จึงแบกรับความเสี่ยงจากราคาขายน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างมาก แต่เนื่องจากช่วงปี 2011 เป็นต้นมาจนถึงกลางปี 2014 ราคาน้ำมันดิบ (อ้างอิงแหล่ง Brent) อยู่ในช่วงสูงกว่า $100/bbl เกือบตลอดเวลา ทำให้ผู้ผลิต Shale Oil เก็บเกี่ยวกำไรจากส่วนต่างประมาณ $35-$45/bbl ได้อย่างเต็มอิ่มเสมอมา
เป็นผลให้ปริมาณการผลิต Shale Oil (เรียกอีกอย่างว่า Tight Oil) ของโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4-5 ปีมานี้ (Bakken และ Eagle Ford คือชื่อแหล่ง Oil Shale ที่สำคัญของสหรัฐฯ)
(ที่มา: EIA.gov)
และเนื่องจาก Shale Oil ที่ผ่านกระบวนการเคมีแล้ว จะนำไปใช้งานได้ไม่ต่างจาก Crude Oil เท่ากับว่า ประเทศผู้ผลิต Shale Oil กำลังท้าชนกับกลุ่มประเทศผู้ผลิต Crude Oil อย่าง OPEC แบบตรง ๆ … หนำซ้ำ แหล่งพลังงานทางเลือก อย่าง แสงอาทิตย์ หรือ ลม ตลอดจนพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าล้วน ๆ อย่าง Tesla cars ล้วนแต่ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อรักษาความสามารถในการต่อรองในตลาดโลก เพื่อรักษาความสำคัญและความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจของ Crude Oil ได้ต่อไป ประจวบกับการเกิดภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดโลกจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว OPEC จึงเริ่มเดินเกมส์โดยการไม่ลดกำลังการผลิตและส่งสัญญาณซ้ำ ๆ ว่ายังไงก็จะคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม (ที่มา: Bloomberg.com วันที่ 13 ม.ค. 58)
เป็นผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาอยู่ที่ $47.75/bbl ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต Shale Oil เรียบร้อย แต่ยังสูงกว่า Variable Cost ของการผลิต Crude Oil
ซึ่งเกิดผลลัพธ์ คือ
- ผู้ประกอบการ Shale Oil ทรุด เพราะราคาขายต่ำกว่าต้นทุน แถมหนี้สินก็มาก เพราะต้องกู้มารีบขยายโครงการบ่อน้ำมัน
- ขณะที่สมาชิก OPEC บางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ Fix ค่าเงินตัวเองไว้กับ USD อย่างเช่น Saudi Arabia ก็ยังสบายดีกับ Variable Cost ที่ต่ำเพียง $30/bbl แม้รายได้จะลดลงจากการที่ราคาขายน้ำมันลดลง
- ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ อย่างเช่น Russia ซึ่งไม่ได้ผูกค่าเงินไว้กับ USD กลับเผชิญปัญหาค่าเงินตกต่ำอย่างมากและเงินเฟ้อพุ่งสูง เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่อิงกับการค้าน้ำมันอย่างมาก (รายได้ของประเทศหายวูบจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก –> นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น –> ค่าเงินร่วงหนัก –> สินค้านำเข้าแพงขึ้นทันที –> อำนาจซื้อลดลงแรงและเร็ว –> เงินเฟ้อสูงลิ่ว)
(ที่มา: tradingeconomics.com)
- เงินเฟ้อลดต่ำทั่วโลก (ไม่นับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ) เนื่องจากต้นทุนพลังงานและการขนส่งลดต่ำลง ข้าวของแพงช้าลง ทำให้การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ในตัว (ซึ่งอาจจะทำให้อุปสงค์ของน้ำมันกลับมาสมดุลกับอุปทานที่ล้นอยู่ได้เร็วขึ้นก็เป็นได้)
- เมื่อเงินเฟ้อลดต่ำลง ดอกเบี้ยโดยทั่วไปก็มีแนวโน้มต่ำตามไปด้วย ซึ่งช่วยดูดซับกระแสคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังจบมาตรการ QE
- จากการที่ดอกเบี้ยยังคงมีแนวโน้มต่ำอยู่ เงินเฟ้อก็ต่ำอยู่ การลงทุนในทองคำจึงยังมีความน่าสนใจน้อย (ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนใน Oil futures) การลงทุนในตราสารหนี้ก็ไม่น่าสนใจ ทำให้ momentum มีโอกาสเอียงไปที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น อย่างช่วยไม่ได้ 🙂
และจากการที่ OPEC ต้องการทุบ Shale Oil ให้ฟุบจริงจัง OPEC จึงน่าจะต้องรักษาสถานการณ์ oversupply ไว้ต่อไป เพื่อกดราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ต่ำไปอีกระยะ (เอาให้แน่ใจว่าตายจริง) หลังจากนั้น จึงจะกลับมาคาดหวังได้อีกครั้งกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ส่วนจะเป็นเดือนไหนปีไหนนั้น ยังไม่อาจจะรู้ได้ในตอนนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตะ Shale Oil ให้มีต้นทุนต่ำลงกว่า $30/bbl ซึ่ง ณ จุดนั้นผู้ผลิต Shale Oil ก็จะไม่ต้องกลัว OPEC ทุบราคาอีกต่อไป (เพราะถ้าทุบ ก็ต้องทุบให้ต่ำกว่า $30/bbl ซึ่งจะกลายเป็นขาดทุนทั่วหน้า)
ป.ล. เหตุที่ค่อนข้างเชื่อกับแนวคิดที่ว่า OPEC เป็นตัวละครหลัก (แต่อาจจะไม่ใช่ต้นคิดและอาจไม่ใช่ผู้กำกับบท) เพราะ OPEC เป็นผู้ที่ควบคุม Supply หลักของโลกได้แค่ดีดนิ้วมือสั่งลดกำลังการผลิต แต่กลับยืนยันแข็งขันว่า จะคงกำลังการผลิตเท่าเดิมต่อไป
Categories: Investment Articles
เงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น การลงทุนถึงไม่น่าสนใจซิครับ ผมงง
ต้องแยกเงินเฟ้อในรัสเซียที่สูง กับ เงินเฟ้อทั่วโลก (Ex-Russia) ที่ต่ำ
ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก แต่ดันไปกระทบเศรษฐกิจโลกซะงั้น
เมกาจะทุบรัสเซียโดยยืมมือโอเปก