Investment Articles

ใคร อะไร ทำไมน้ำมันดิ่ง !!

energy-oil_rig-12222

ก่อนที่จะไปสู่ภาควิเคราะห์ว่าทำไมราคาน้ำมันต้องดิ่วเหว ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องราวพื้นฐานของน้ำมันกันเล็กน้อยครับ

1. ประเภทน้ำมัน

น้ำมันที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานในโลกเรานั้น มีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ (1) น้ำมันดิบเหลว หรือ Crude Oil และ (2) น้ำมันดิบจากหิน หรือ Shale Oil

(1) Crude Oil นั้นมีลักษณะเป็นของเหลวข้น สีดำ เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลาหลายล้านปี จนได้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่นำมาเผาไหม้ให้พลังงานความร้อนได้ โดยประเทศที่มี Crude Oil อยู่เป็นจำนวนมาก ก็คือประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่นซาอุดิอาราเบีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้บางประเทศเช่นเวเนเซูเอลา

screenshot.105(ที่มา: wikipedia)

และประเทศที่มีปริมาณ Crude Oil สำรองอยู่มาก และสามารถผลิตส่งออกได้ในปริมาณสูงจำนวน 12 ประเทศ ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรชื่อ OPEC หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกscreenshot.106(ที่มา: wikipedia

(2) Shale Oil เกิดจากของแข็งสีดำที่เรียกว่า Oil Shale ซึ่งเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานเหมือนกัน แต่ไม่เท่า Crude Oil ในการสกัด Oil Shale เพื่อให้ได้ Shale Oil นั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางเคมีเข้ามาช่วยเร่งปฏิกิริยาในการแปลงสภาพเป็นของเหลวที่เผาไหม้ให้พลังงานได้ในที่สุด

Oilshale11
(ที่มา: wikipedia)

ประเทศที่มี Oil Shale (ที่จะแปลงมาเป็น Shale Oil) เป็นจำนวนมาก ได้แก่ รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา

screenshot.108
(ที่มา: EIA.gov)

2. การนำมาใช้/การลงทุน/ต้นทุน

(1) ในการขุดเจาะ Crude Oil ขึ้นมาใช้งานนั้น บ่อน้ำมันแต่ละบ่อ จะมีอายุใช้งานได้ประมาณ 20 ปี และแต่ละปีจะมีผลผลิตลดลงประมาณ 2%-5% โดยที่ต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันจะประกอบด้วย Fix Cost คือตัวระบบขุดเจาะและดูดน้ำมันที่ลงทุนเป็นก้อนใหญ่ครั้งแรกครั้งเดียว และ Variable Cost คือ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ที่ต้องจ่ายออกไปเรื่อย ๆ ทุกขณะที่มีการขุดเจาะน้ำมัน โดย Variable Cost ของการขุดเจาะ Crude Oil คือ $20-$30/barrel (อ้างอิง: Time.com)

เท่ากับว่า บ่อน้ำมันแบบ Crude Oil ที่มีอายุใช้งานมาแล้วสัก 10 ปี แทบจะได้ Fix Cost คืนไปหมดแล้ว ต่อจากนี้ ถ้าผลิตแล้วขายได้เกิน $20-$30/bbl (barrel ย่อกันว่า bbl) ก็จะครอบคลุม Variable Cost ได้ทั้งหมด = กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

(2) แต่สำหรับ Shale Oil นั้น แต่ละบ่อจะสูญเสียผลผลิตอย่างรวดเร็ว 25-28% ในแต่ละปี หมายความว่า เมื่อเข้าต้นปีที่ 2 ของบ่อนั้น จากจุดเริ่มต้นที่เคยผลิตน้ำมันได้วันละ 100 bbl จะเหลือแค่ 72-75 bbl เท่านั้น แปลว่าบ่อ Shale Oil แต่ละบ่อมีอายุใช้งานแบบคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น (หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็ยังให้น้ำมันอยู่ แต่เป็นปริมาณน้อยมากจนไม่คุ้ม) โดยต้นทุนรวมของการผลิต Shale Oil คือประมาณ $65/bbl (อ้างอิง: Time.comscreenshot.109(ที่มา: seekingalpha.com)

เท่ากับว่า ใครที่จะทำธุรกิจ Shale Oil จะต้องลงทุนทำบ่อ Oil Shale ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อทดแทนบ่อเดิมที่มีอายุทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ปี (เทียบกับบ่อ Crude Oil ที่ใช้ได้ 20 ปีสบาย ๆ) แถมจะต้องขายให้ได้เกิน $65/bbl ถึงจะเริ่มมีกำไร และการที่ต้องลงทุนใหม่อยู่เสมอนั้นในขณะที่รายได้ต้องเติบโตด้วย แปลว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ และต้นทุน Fix Cost นั้นแทบจะกลายมาเป็น Variable Cost ทั้งหมด เพราะไม่สามารถต้นทุนกระจายออกไปในระยะเวลายาว ๆ ได้

กลับมาที่ประเด็นของเรา …

ด้วยเหตุที่การผลิต Shale Oil มีต้นทุนสูงต่อหน่วยกว่า Crude Oil ผู้ผลิต Shale Oil จึงแบกรับความเสี่ยงจากราคาขายน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างมาก แต่เนื่องจากช่วงปี 2011 เป็นต้นมาจนถึงกลางปี 2014 ราคาน้ำมันดิบ (อ้างอิงแหล่ง Brent) อยู่ในช่วงสูงกว่า $100/bbl เกือบตลอดเวลา ทำให้ผู้ผลิต Shale Oil เก็บเกี่ยวกำไรจากส่วนต่างประมาณ $35-$45/bbl ได้อย่างเต็มอิ่มเสมอมา screenshot.110

เป็นผลให้ปริมาณการผลิต Shale Oil (เรียกอีกอย่างว่า Tight Oil) ของโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4-5 ปีมานี้ (Bakken และ Eagle Ford คือชื่อแหล่ง Oil Shale ที่สำคัญของสหรัฐฯ)

screenshot.111(ที่มา: EIA.gov)

และเนื่องจาก Shale Oil ที่ผ่านกระบวนการเคมีแล้ว จะนำไปใช้งานได้ไม่ต่างจาก Crude Oil เท่ากับว่า ประเทศผู้ผลิต Shale Oil กำลังท้าชนกับกลุ่มประเทศผู้ผลิต Crude Oil อย่าง OPEC แบบตรง ๆ … หนำซ้ำ แหล่งพลังงานทางเลือก อย่าง แสงอาทิตย์ หรือ ลม ตลอดจนพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าล้วน ๆ อย่าง Tesla cars ล้วนแต่ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อรักษาความสามารถในการต่อรองในตลาดโลก เพื่อรักษาความสำคัญและความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจของ Crude Oil ได้ต่อไป ประจวบกับการเกิดภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดโลกจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว OPEC จึงเริ่มเดินเกมส์โดยการไม่ลดกำลังการผลิตและส่งสัญญาณซ้ำ ๆ ว่ายังไงก็จะคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม screenshot.112(ที่มา: Bloomberg.com วันที่ 13 ม.ค. 58)

เป็นผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาอยู่ที่ $47.75/bbl ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต Shale Oil เรียบร้อย แต่ยังสูงกว่า Variable Cost ของการผลิต Crude Oil

ซึ่งเกิดผลลัพธ์ คือ

  1. ผู้ประกอบการ Shale Oil ทรุด เพราะราคาขายต่ำกว่าต้นทุน แถมหนี้สินก็มาก เพราะต้องกู้มารีบขยายโครงการบ่อน้ำมัน
  2. ขณะที่สมาชิก OPEC บางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ Fix ค่าเงินตัวเองไว้กับ USD อย่างเช่น Saudi Arabia ก็ยังสบายดีกับ Variable Cost ที่ต่ำเพียง $30/bbl แม้รายได้จะลดลงจากการที่ราคาขายน้ำมันลดลง
  3. ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ อย่างเช่น Russia ซึ่งไม่ได้ผูกค่าเงินไว้กับ USD กลับเผชิญปัญหาค่าเงินตกต่ำอย่างมากและเงินเฟ้อพุ่งสูง เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่อิงกับการค้าน้ำมันอย่างมาก (รายได้ของประเทศหายวูบจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก –> นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น –> ค่าเงินร่วงหนัก –> สินค้านำเข้าแพงขึ้นทันที –> อำนาจซื้อลดลงแรงและเร็ว –> เงินเฟ้อสูงลิ่ว)screenshot.113 screenshot.114(ที่มา: tradingeconomics.com)
  4. เงินเฟ้อลดต่ำทั่วโลก (ไม่นับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ) เนื่องจากต้นทุนพลังงานและการขนส่งลดต่ำลง ข้าวของแพงช้าลง ทำให้การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ในตัว (ซึ่งอาจจะทำให้อุปสงค์ของน้ำมันกลับมาสมดุลกับอุปทานที่ล้นอยู่ได้เร็วขึ้นก็เป็นได้)
  5. เมื่อเงินเฟ้อลดต่ำลง ดอกเบี้ยโดยทั่วไปก็มีแนวโน้มต่ำตามไปด้วย ซึ่งช่วยดูดซับกระแสคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังจบมาตรการ QE
  6. จากการที่ดอกเบี้ยยังคงมีแนวโน้มต่ำอยู่ เงินเฟ้อก็ต่ำอยู่ การลงทุนในทองคำจึงยังมีความน่าสนใจน้อย (ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนใน Oil futures) การลงทุนในตราสารหนี้ก็ไม่น่าสนใจ ทำให้ momentum มีโอกาสเอียงไปที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น อย่างช่วยไม่ได้ 🙂

และจากการที่ OPEC ต้องการทุบ Shale Oil ให้ฟุบจริงจัง OPEC จึงน่าจะต้องรักษาสถานการณ์ oversupply ไว้ต่อไป เพื่อกดราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ต่ำไปอีกระยะ (เอาให้แน่ใจว่าตายจริง) หลังจากนั้น จึงจะกลับมาคาดหวังได้อีกครั้งกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ส่วนจะเป็นเดือนไหนปีไหนนั้น ยังไม่อาจจะรู้ได้ในตอนนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตะ Shale Oil ให้มีต้นทุนต่ำลงกว่า $30/bbl ซึ่ง ณ จุดนั้นผู้ผลิต Shale Oil ก็จะไม่ต้องกลัว OPEC ทุบราคาอีกต่อไป (เพราะถ้าทุบ ก็ต้องทุบให้ต่ำกว่า $30/bbl ซึ่งจะกลายเป็นขาดทุนทั่วหน้า)

ป.ล. เหตุที่ค่อนข้างเชื่อกับแนวคิดที่ว่า OPEC เป็นตัวละครหลัก (แต่อาจจะไม่ใช่ต้นคิดและอาจไม่ใช่ผู้กำกับบท) เพราะ OPEC เป็นผู้ที่ควบคุม Supply หลักของโลกได้แค่ดีดนิ้วมือสั่งลดกำลังการผลิต แต่กลับยืนยันแข็งขันว่า จะคงกำลังการผลิตเท่าเดิมต่อไป

4 replies »

  1. เงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น การลงทุนถึงไม่น่าสนใจซิครับ ผมงง

  2. ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก แต่ดันไปกระทบเศรษฐกิจโลกซะงั้น

  3. เมกาจะทุบรัสเซียโดยยืมมือโอเปก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *