(ถ้าเครื่องใครโหลด Sub Thai ไม่ขึ้น กดเข้าไปดูได้ที่ TED ครับ)
คลิปนี้เป็นหนึ่งในสุดยอด TED Talk ที่มีคนดูมากที่สุด (มากกว่า 21 ล้านครั้ง) และมีการแปลไปแล้ว 42 ภาษา รวมถึงภาษาไทย (โดย Thipnapa Huansuriya และ Unnawut Leepaisalsuwanna) … ใครอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น เพื่อที่จะทำการใหญ่ เพื่อที่จะเปลี่ยนโลก เชิญชม
“คุณจะอธิบายยังไง เวลาสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามคาด? หรือเอางี้ดีกว่า คุณจะอธิบายยังไง เวลาคนอื่นเขาทำอะไรบางอย่างสำเร็จ ทั้งที่มันที่ผิดไปจากทุกอย่างที่คุณคาดไว้? ตัวอย่างเช่น ทำไมแอปเปิลถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากนัก ปีแล้วปีเล่า ก็ยิ่งมีนวัตกรรมมากกว่าคู่แข่งทุกราย ทั้งที่แอปเปิลก็เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ เหมือนชาวบ้านเขา มีคนเก่งๆ มาทำงานเหมือนๆ กับบริษัทอื่นๆ ใช้เอเจนซี ที่ปรึกษา และสื่อแบบเดียวกัน แล้วทำไม แอปเปิลถึงแตกต่างจากคนอื่น…
เมื่อสามปีครึ่งที่ผ่านมา ผมค้นพบอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนมุมมองของผม ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกมันทำงานยังไง … สิ่งที่ผมพบ คือแบบแผนอย่างหนึ่ง ที่ผู้นำและองค์กรที่เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และพี่น้องตระกูลไรท์ ล้วนคิด ทำ และสื่อสาร ในรูปแบบเดียวกันนี้
(ภาพจาก TED.com)
ทำไม? อย่างไร? และ อะไร? ความคิดเล็กๆ นี่ล่ะ สามารถอธิบายได้ ว่าทำไมบางองค์กร และผู้นำบางคนถึงสร้างแรงบันดาลใจได้ ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้
ผมจะยกตัวอย่างแอปเปิลเพราะมันเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ถ้าแอปเปิลเป็นเหมือนบริษัทอื่นๆ ข้อความสื่อสารการตลาดคงจะออกมาแบบนี้ “เราทำคอมพิวเตอร์ที่สุดยอด การออกแบบสวยงาม ใช้ง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ” ไม่มีทาง แต่นั่นล่ะ เราส่วนใหญ่สื่อสารกันแบบนี้ การตลาดก็ทำแบบนี้ การขายก็ทำแบบนี้ เวลาสื่อสารกับผู้คน เราก็ทำแบบนี้ เราบอกว่าเราทำอะไร เราต่างอย่างไร หรือดีกว่าอย่างไร แล้วก็คาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากผู้บริโภค เช่น อยากให้เขามาซื้อของ
นี่ครับ แอปเปิลเขาสื่อสารแบบนี้ “ทุกอย่างที่เราทำ เราทำเพราะเราเชื่อในการท้าทายสิ่งเก่าๆ เราเชื่อในการคิดต่าง และเพื่อท้าทายระบบเก่าๆ นั้น เราสร้างผลิตภัณฑ์ของเราให้มีดีไซน์สวยงาม ใช้งานง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ และเราก็เลยสร้างคอมพิวเตอร์ที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา อยากซื้อสักเครื่องไหมครับ?” แตกต่างสุดๆ เลยใช่ไหมครับ? คุณอยากซื้อคอมพิวเตอร์จากผมแล้ว ผมแค่สลับลำดับการนำเสนอข้อมูลเท่านั้นเองสิ่งที่ผมค้นพบก็คือ คนเขาไม่ได้ซื้อสิ่งที่คุณทำ เขาซื้อเพราะเหตุผลที่คุณทำมัน คนเขาไม่ได้ซื้อสิ่งที่คุณทำ เขาซื้อเหตุผลที่คุณทำ
เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การขายของให้คนที่เขาต้องการสิ่งที่คุณมี เป้าหมายคือการขายไอเดียให้คนเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ เป้าหมายไม่ใช่แค่จ้างคน ที่ต้องการได้งาน แต่เราต้องจ้างคนที่เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ ผมพูดแบบนี้เสมอเลยครับ ถ้าคุณจ้างคนเพียงเพราะเขาทำงานได้ เขาก็จะทำงานเพื่อเงินของคุณ แต่ถ้าคุณจ้างคนที่เขาเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อ เขาจะทำงานให้คุณชนิดถวายหัว ไม่มีตัวอย่างไหนดีเท่ากับ เรื่องของพี่น้องตระกูลไรท์อีกแล้ว
คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแซมมวล เพียร์พอนท์ แลงค์ลีย์ ย้อนไปตอนต้นศตวรรษที่ 20 การคิดค้นเครื่องบินที่คนบังคับได้ก็เหมือนธุรกิจดอทคอมสมัยนี้ ใครๆ ก็พยายามคิดค้นวิธีสร้างเครื่องบิน แซมมวล เพียร์พอนท์ แลงค์ลีย์ มีสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสูตรของความสำเร็จ คือ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าคุณถามใครสักคนว่า “ทำไมสินค้าหรือบริษัทของคุณจึงล้มเหลว?” เขาก็จะให้เหตุผลหลากหลาย แต่สรุปได้ว่า เป็นสามอย่างเดิมๆ เสมอ นั่นคือ ทุนน้อย บุคลากรไม่เก่ง และภาวะตลาดไม่ดี สามเรื่องนี้แหละ ตลอดเลย เอาละ ลองมาดูกัน แซมมวล เพียร์พอนท์ แลงค์ลีย์ ได้เงิน 50,000 ดอลลาร์ จากกรมการสงคราม ให้คิดเครื่องจักรกลที่บินได้ ดังนั้น เงินไม่ใช่ปัญหา เขามีตำแหน่งที่ฮาร์วาร์ด และทำงานที่สมิธโซเนียน และรู้จักคนกว้างขวาง เขารู้จักคนเก่งๆ ทุกคนในยุคนั้น เขาจ้างแต่คนระดับสุดยอดหัวกะทิ ด้วยเงินที่มีอยู่ และสภาวะตลาดก็เยี่ยมมากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ติดตามเขาทุกฝีก้าว ใครๆ ก็ติดตามแลงค์ลีย์ แล้วทำไมคุณถึงไม่รู้จักแซมมวล เพียร์พอนท์ แลงค์ลีย์ล่ะ
สองสามร้อยไมล์ห่างออกไปในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ออร์วิล กับวิลเบอร์ ไรท์ ไม่มีอะไรที่เราจะเรียกว่าเป็น ส่วนผสมของความสำเร็จเลย เขาไม่มีเงิน เงินที่เอามาลงทุนกับความฝันของเขา คือกำไรที่ได้จากร้านจักรยานของเขา ทุกคนในทีมของสองพี่น้องตระกูลไรท์ ไม่มีใครมีปริญญาสักคน รวมทั้งออร์วิลและวิลเบอร์เองด้วย หนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ไม่ได้แยแสพี่น้องคู่นี้สักนิด สิ่งที่แตกต่างคือ ออร์วิลกับวิลเบอร์ทำไปด้วยแรงผลักดัน จากเป้าหมายที่มีความหมาย ด้วยความเชื่อ เขาเชื่อว่าถ้าเขาสามารถ คิดค้นวิธีสร้างเครื่องบินขึ้นมาได้ มันจะเปลี่ยนโลกได้ แซมมวล เพียร์พอนท์ แลงค์ลีย์ไม่คิดอย่างนั้น เขาอยากรวย อยากดัง เขาไขว่คว้าหาผลลัพธ์อย่างอื่น เขาแสวงหาเงินทอง ความร่ำรวย แล้วดูสิครับ เกิดอะไรขึ้น คนที่เชื่อในความฝันของสองพี่น้องตระกูลไรท์ ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำร่วมกับเขา ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งทำงานเพื่อค่าจ้าง แล้วพวกเขาก็มักจะเล่าว่า ทุกครั้งที่พี่น้องตระกูลไรท์ออกไปทดสอบเครื่องบิน พวกเขาต้องเอาอะไหล่ไปด้วยห้าชุด เพราะเขาจะทดลองแล้วทดลองอีก จนเครื่องพังถึงห้าครั้ง แล้วถึงจะยอมกลับมากินข้าวมื้อเย็น
แล้วในที่สุด วันที่ 17 ธันวาคม 1903 พี่น้องตระกูลไรท์ก็ออกบินได้สำเร็จ ไม่มีใครอยู่ร่วมรับรู้กับเขาเลยด้วยซ้ำ กว่าโลกจะรู้ข่าวก็สองสามวันหลังจากนั้น ข้อพิสูจน์อีกอย่างว่าแลงค์ลีย์ ทำงานด้วยแรงจูงใจที่ผิด ก็คือ วันที่พี่น้องตระกูลไรท์ทำสำเร็จ เขาก็เลิกเลย เขาน่าจะพูดว่า “สิ่งที่คุณคิดค้นได้มันเจ๋งจริงๆ เลย ผมจะพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีของคุณ” แต่เขาไม่พูดอย่างนั้น เมื่อเขาไม่ได้เป็นคนแรก ไม่ได้เงินทอง ไม่ได้ชื่อเสียง เขาก็เลิกเลย …
(การบินสำเร็จครั้งของพี่น้องตระกูลไรท์ ซึ่งบินได้ไกล 36.6 เมตร ใช้เวลา 12 วินาที เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1903 ณ มลรัฐ North Carolina, USA. ภาพจาก wikipedia.org)
โลกนี้มี “คนในตำแหน่งผู้นำ” กับ “คนที่เป็นผู้นำ” คน “ในตำแหน่งผู้นำ” เขามีอำนาจ ตามตำแหน่งหน้าที่ แต่คนที่ “เป็นผู้นำ” เขาสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือในองค์กร เราเดินตามคนที่ “เป็นผู้นำ” ไม่ใช่เพราะเราจำเป็นต้องทำ แต่เพราะเราอยากทำ เราเดินตามคนที่ “เป็นผู้นำ” ไม่ใช่เพื่อเขา แต่เพื่อตัวเราเอง คนที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไม” นั่นแหละคือคนที่มีความสามารถ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง หรือค้นพบคนที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้“
– บางส่วนจาก Talk ของ ไซมอน ซิเน็ค @ TEDxPuget Sound 2009 –
Categories: Thoughts & Quotes