ธนบัตร (Bank Note) หรือที่เราเรียกว่าสั้น ๆ ว่าแบงก์นั้น ในประเทศไทยมีการพัฒนามาเป็นลำดับ ซึ่งปัจจุบันนี้ ธนบัตรที่เราใช้ คือเป็นรุ่นที่ 16 แล้ว นับตั้งแต่มีการพิมพ์ธนบัตรในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2445 ในสมัยรัชกาลที่ 5
(ภาพจาก www.bot.or.th)
แต่น้อยคนที่จะสังเกตว่า ธนบัตรรุ่นที่ 15 ที่เริ่มออกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2544 และยังมีหมุนเวียนใช้ซื้อขายสินค้ากันอยู่พอสมควรในปัจจุบัน ได้ซ่อนสิ่งสูงค่าไว้ด้านหลัง ซึ่งก็คือ “พระราชดำรัส” และ “พระบรมราชโองการ” ของพระเจ้าอยู่รัชกาลต่าง ๆ ในยุครัตนโกสินทร์ … มาลองดูรายละเอียดกัน ว่าธนบัตรแบบไหน มีข้อความว่าอย่างไร
1. ธนบัตร 20 บาท
“ถ้าคนไทยทุกคน ถือว่าตนเป็นเจ้าของบ้านเมือง และต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว ความทุกข์ยากของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นไปได้”
– พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 –
2. ธนบัตร 100 บาท
“พระเพณีทาสที่มีอยู่ในราชอาณาจักรสยาม ถึงเป็นวิธีทาสทำสารกรมธรรม์ขายตัวด้วยใจสมัคร มิใช่ทาสเชลยที่เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง แต่ก็เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญประโยชน์และสุขสำราญของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องเลิกถอนอย่าให้มีประเพณีทาสภายในพระราชอาณาจักรนี้ กรุงสยามจึงจะมีความเจริญสมบูรณ์เท่ากับประเทศอื่น”
– พระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 –
3. ธนบัตร 500 บาท
“การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
– พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 –
(“เขา” ในที่นี้ หมายถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายและถ่ายทอดความเจริญแบบตะวันตกให้กับกรุงสยามอย่างกว้างขวางในรัชสมัยนั้น)
4. ธนบัตร 1,000 บาท
“เศรษฐกิจพอเพียง — เศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”
– พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 –
ซึ่งหากจะสรุปรวมใจความของธนบัตรทั้ง 4 แบบ ก็อาจจะพูดได้ว่า
“เห็นแก่ส่วนรวม รักความเท่าเทียม เลือกเรียนรู้ อยู่อย่างพอดี”
Categories: เนื้อหาเฉลิมพระเกียรติ