คนรุ่นใหม่อย่างพวกเราคงเคยได้ยินมาบ่อยครั้งว่า “เริ่ม(ลงทุน)ก่อนรวยกว่า” หรือไม่ก็ “ออมวันนี้เพื่อวันหน้า” และก็มักจะเห็นกราฟแสดงจำนวนเงินออมเงินลงทุนระยะยาว ในกรณีที่ได้รับผลตอบแทนต่าง ๆ กัน และ/หรือ กรณีที่ระยะเวลาออม/ลงทุนต่างกัน เช่น
1) ไม่มีเงินมาก่อนเลย แต่นับจากนี้สามารถเติมเงินได้เดือนละ 5,000 และได้ผลตอบแทน 2% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี จะมีเงิน 2,463,627
2) เหมือนกับกรณี 1 (คือผลตอบแทน 2% ต่อปี) แต่เริ่มช้าไป 10 ปี คือเหลือระยะเวลา 20 ปี แบบนี้ตอนจบจะมีเงิน 1,473,984 ก็คือ ช้าไป 10 ปี มีเงินน้อยกว่ากันถึงประมาณ 1 ล้าน
3) ระยะเวลา 30 ปีเท่ากันกับกรณี 1 แต่ทำผลตอบแทนได้เพิ่มจาก 2% เป็น 5% ต่อปี จำนวนเงินตอนจบจะเพิ่มเป็น 4,161,293 เท่ากับว่า ผลตอบแทนเพียง 3% ที่เพิ่มขึ้นตลอด 30 ปีนั้น สร้างเงินได้มากขึ้นถึง 1.7 ล้าน
4) เหมือนกับกรณี 3 (ระยะเวลาลงทุน 30 ปี) แต่ได้ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 15% ต่อปี จะทำให้ตอนจบมีเงินมากถึง 34,616,398 พูดอีกอย่างคือ ผลตอบแทน +10% ที่เพิ่มขึ้นจากกรณี 3 สร้างเงินได้มากขึ้นไปอีก 30.5 ล้าน !!!
จากตัวอย่างทั้ง 4 ก็พอจะเห็นภาพว่า ยิ่งได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงเท่าไร เมื่อเวลาผ่านไปก็จะยิ่งเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้มากขึ้นในอัตราก้าวหน้า !!
(การคำนวณทั้ง 4 กรณี ได้ผลมาจาก helpfulcalculators.com)
พอเห็นตัวเลขถึงจุดนี้นักออมเงินรุ่นใหม่ก็มักจะฟินในอารมณ์ เพราะฝันเห็นความมั่งคั่งของตัวเองเพิ่มพูนมหาศาลเมื่อยามสูงวัย จากตัวเปล่า กลายเป็นเศรษฐีหลายสิบล้าน … แต่แล้ว พอจะเริ่มออมหรือลงทุนเข้าจริง ๆ กลับไปสะดุดกึกกับคำถามตัวโตที่ว่า “แล้วสินทรัพย์แบบไหนล่ะ ที่ให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว?” หรือไม่ก็ “ถ้าจะหวังผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ย 15% ต่อปี ต้องลงทุนในอะไร?” หลายคนจึงหยุดกระบวนการฝันฟิน ณ จุดนี้ เพราะไปต่อไม่ถูก แล้วก็เอาเงินไปฝากออมทรัพย์หรือเอาไปซื้อ smartphone รุ่นใหม่ เช่นเคย
แต่ไม่ต้องงงอีกต่อไป เพราะข้อมูลต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้พอเห็นภาพว่า การลงทุนในอะไร ให้ผลตอบแทนประมาณไหนในระยะยาว (เท่าที่พอจะมีข้อมูลย้อนหลังให้คำนวณได้)
ซึ่งอันดับแรกที่นำโด่งมาคือ การลงทุนในกลุ่มหุ้นสามัญขนาดเล็ก (วัดจาก mai Total Return Index ที่รวมผลตอบแทนจากทั้งราคาที่เปลี่ยนไป เงินปันผลที่ได้ และการได้รับแจกสิทธิต่าง ๆ เช่น Warrant) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 19.87% ต่อปี ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา
ที่ตามมาติด ๆ คือ การลงทุนในกลุ่มหุ้นสามัญทั่วไป (วัดจาก SET Total Return Index) ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 16.30% ต่อปี ตลอดเวลาเกือบ 14 ปีที่ผ่านมา และหากดูที่กำไรจากราคาหุ้นอย่างเดียว คือวัดจาก SET Index หุ้นโดยทั่ว ๆ ไปให้ผลตอบแทนสูงถึง 6.76% ต่อปี ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา (SET Total Return Index เกิดหลัง SET Index ประมาณ 26 ปี)
นอกจากนั้น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อย่างคอนโดมิเนียม ก็ให้ผลตอบแทนสูงถึง 8.73% ต่อปี ในช่วง 7 เศษที่ผ่านมา (เท่าที่มีข้อมูล) ขณะที่การถือลงทุนที่ดินเปล่า ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.42% ต่อปี ส่วนการลงทุนในทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวนั้น ให้ผลตอบแทนประมาณ 4-5% ต่อปี
ส่วนการลงทุนในทองคำ หากมองกันยาว ๆ ย้อนหลังไปเกือบ 21 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับ 5.46% ต่อปี ก็คือไม่ได้มากมายนัก หลังจากที่ราคาทำจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,800 USD/Oz แล้วก็ร่วงยาวมาอยู่ที่ระดับ 1,100 USD/Oz ในช่วง 2-3 ปีล่าสุดนี้
ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ และ กองทุนรวมตลาดเงินที่ใช้ทดแทนเงินสดหรือเงินฝากออมทรัพย์ ให้ผลตอบแทนต่ำเพียง 3.11% ต่อปี และ 2.31% ต่อปี เท่านั้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ มีเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในระดับ 2.93% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยตลอดเวลาเกือบ 19 ปี) คอยไล่ล่าทำลายมูลค่าเงินของเราอยู่ตลอดเวลา
(คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดใหญ่เต็มตา)
จากข้อมูลทั้งหมด ก็พอจะสรุปได้ว่า
- จะลงทุนหรือออมอะไร ต้องได้ผลตอบแทนอย่างน้อยประมาณ 3% ต่อปีไว้ก่อน ถ้าหลงไปทำอะไรที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่านี้ เท่ากับ ยิ่งนานยิ่งเสื่อมค่า เมื่อเทียบกับกำลังซื้อของเราจริง ๆ ที่มีตัวแปรคืออัตราเงินเฟ้อ
- ถ้าหวังผลตอบแทนระดับ 5%- 9% ต่อปี ต้องพิจารณาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดหรือที่ดิน (ซึ่งสามารถศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ได้จากเว็บไซต์เฉพาะทางอย่าง terrabkk.com หรือ thinkofliving.com หรือ reic.or.th ฯลฯ)
- แต่ถ้าหวังสูงจริงจังคือผลตอบแทนระดับ 15% ต่อปีขึ้นไป ต้องลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น เท่านั้น
และจากการคำนวณผลจากการลงทุนในระยะยาวที่แสดงให้เห็นไว้ช่วงแรกของบทความนี้ ก็พอจะสรุปของสรุปได้ว่า ถ้าหวังจะรวยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แค่พออยู่พอกิน ต้องลงทุนในหุ้นเท่านั้น หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องคอนโด … ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านหรือทาวเฮาส์ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ จะไม่สามารถพาเราไปถึงเป้าหมายได้เลย
การลงทุนมีความเสี่ยงร่วมด้วยอยู่เสมอ แต่การไม่กล้ารับความเสี่ยงอย่างเพียงพอ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะยาวในอัตราที่สูงพอ เท่ากับว่าเรา “ปิดประตู” การไปถึงเป้าหมายของเราแล้วอย่างสิ้นเชิง … และการจะไปถึงเป้าหมายได้ โดยที่จะไม่ล้มหายตายจากขาดทุนหมดตัวไปเสียก่อน ก็จะต้องหาความรู้ให้เพียงพอ รู้ให้ลึก รู้ให้จริง ด้วยเช่นกัน เพื่อเราจะได้กล้าอย่างมั่นใจ 🙂
———
ผลตอบแทนข้างต้นคำนวณโดยใช้ข้อมูลจาก
• Aspen for Windows
• ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
• ข้อมูลดัชนีผลตอบแทนรวม ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Categories: Investment Articles