Investment Articles

แก่ไปจะมีเงินเท่าไรนะ ? … โหลดฟรีไฟล์คำนวณฐานะการเงินยามเกษียณ

screenshot.329คนวัยทำงานอย่างเรา ๆ พวกที่ยังมีเงินเดือนเข้าบัญชีเป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ได้เงินมาเท่าไรก็ใช้ไปเพื่อความสุขความสบายในปัจจุบันเป็นหลัก อาจจะมีเก็บออมบ้าง ก็เท่าที่เหลือจากสิ่งที่ใช้ คงจะมีคนจำนวนไม่มากนักที่เริ่มฉุกคิดว่า เหยย ตอนเกษียณไปแล้ว ตอนไม่ต้องทำงานแล้ว (คือจริง ๆ ไม่มีใครให้ทำงานแล้ว) เงินเดือนและโบนัสที่เข้าบัญชีมาแบบอัตโนมัติทุก ๆ สิ้นเดือน มาเป็นเวลาหลายสิบปีตลอดชีวิตการทำงานนั้น จะสิ้นสุดลง เราจะต้องใช้ชีวิตด้วยลำแข้งของตัวเอง คือต้องดำรงชีพด้วยเงินทองที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานเพียงอย่างเดียว

พออ่านถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเริ่มปั่นป่วนในท้อง กลัวว่าอนาคตยามไม่ได้ทำงาน จะมีเงินพอกินพอใช้หรือไม่ ?!?

วิธีที่จะขจัดหรือลดความกลัว ก็คือต้องเอาสิ่งที่กลัวมาวิเคราะห์กันให้ชัด ๆ ให้เห็นเป็นตัวเลข โดยใช้แบบจำลอง (model) ง่าย ๆ ที่มีตัวแปรไม่กี่ตัว และใช้การคำนวณพื้น ๆ มาช่วย … เพื่อที่จะได้เห็นอนาคตเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้ามันต่ำกว่าเป้าในใจ ก็เร่งเครื่องขึ้นอีกนิด หรือถ้ามันเข้าเป้าฉลุยแล้ว ก็จะได้สบายใจได้

ในการคำนวณว่า ณ เวลาที่เราเกษียณไปแล้ว (ไม่จำเป็นต้องตอนอายุ 60 เสมอไป) ตอนนั้นเราจะมีทรัพย์สินเงินทองมากแค่ไหน มีรายได้จากทรัพย์สินทรัพย์สูงแค่ไหน จะมีค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่ไหนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีได้ดั่งใจ โดยที่ไม่ต้องเอาเงินต้นของทรัพย์สินนั้นออกมาใช้เลย เราสามารถรู้ได้ด้วยตัวแปรเพียง 6 ข้อ

  1. จำนวนปีที่เรายังต้องทำงาน หรือ อยากจะทำงานต่อไป | ยิ่งอายุเรายังน้อย เวลาในการทำงานของชีวิตก็จะยังเหลืออีกมาก (แต่ถ้าเราอายุยังน้อย รายได้ก็ยังไม่มากเช่นกัน)
  2. เงินเดือนและโบนัส (รายได้ประจำ) สุทธิหลังจ่ายภาษีแล้ว | ชัดเจนว่าถ้ารายได้ประจำสูง ชีวิตก็ดี (ดีตั้งแต่ตอนนี้เลยด้วย)
  3. อัตราการเพิ่มของเงินเดือน | คงไม่มีใครได้เงินเดือนเท่าเดิมไปตลอด ล้วนแต่จะเพิ่มขึ้นตามอายุงาน ตามตำแหน่งงาน และตามอัตราเงินเฟ้อที่บริษัทมักใช้เป็นปัจจัยหลักในการขึ้นเงินเดือนของพนักงานโดยรวมโดยเฉลี่ย
  4. อัตราการออม | ยิ่งเราใช้จ่ายน้อย มีภาระหนี้น้อย ก็จะเหลือเงินออมมากขึ้น เท่ากับว่าจะเอาเงินที่เหลือไปลงทุนให้งอกเงยได้มากขึ้น … โดยคนที่มีเงินเดือนสูงขึ้น ก็มักจะสามารถออมได้ในสัดส่วนสูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายประจำเช่น ค่ากิน ค่าโทรศัพท์ ไม่ได้เพิ่มตาม หรือถ้าเพิ่ม ก็เพิ่มในสัดส่วนที่ต่ำกว่า … เว้นแต่ว่า คนที่ยิ่งมีเงินเดือนสูง ยิ่งใช้จ่ายเกินตัว เงินเดือนขึ้น 20% ก็เปลี่ยนจากรถญี่ปุ่นมือสองไปเป็นรถยุโรปป้ายแดง แบบนี้ก็จะไม่ช่วยให้ออมได้มากขึ้น
  5. อัตราผลตอบแทนการลงทุน | ยิ่งนำเงินที่เหลือใช้ ไปลงทุนได้ผลตอบแทนในอัตราสูงเท่าไร เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป ที่คนทั่วไปสามารถคาดหวังได้แบบค่อนข้างจะแน่นอน ก็น่าจะอยู่ในช่วง 3% – 6% ต่อปี โดยแบบ 3% อาจจะได้จากการฝากเงินระยะยาวหรือลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนแบบ 6% ก็จะอาจจะได้จากการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบ Freehold [อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Passive Income จากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์]
  6. จำนวนทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมมาได้แล้ว หรือพูดสั้น ๆ คือ เงินที่มีอยู่แล้วตอนนี้ | ยิ่งเรามีเงินก้อนมาแล้วมากเท่าไร ก็จะเป็นแรงส่งให้อนาคตทางการเงินของเราสบายขึ้นมากเท่านั้น

ทุกปัจจัยทั้ง 6 ข้อข้างต้น ยิ่งตัวเลขสูงเท่าไร ก็ยิ่งดี มีเวลาทำงานนาน ได้เงินเดือนดี ออมได้มาก นำไปลงทุนต่อยอดได้ผลตอบแทนสูง และมีเงินก้อนมาอยู่แล่ว ล้วนแล้วแต่ช่วยให้คุณภาพชีวิตยามเกษียณของเราดีขึ้นทั้งสิ้น

และเพื่อให้ทุกท่านได้ลองคำนวณตัวเลขของท่านเองจริง ๆ ผ่านปัจจัยทั้ง 6 ข้อข้างต้น ผมจึงได้นำ  Model นี้มาทำเป็นไฟล์ Excel ให้ผู้อ่านสามารถนำไปลองใช้ได้เลย (หน้าตาแบบนี้นะครับ)

Retirement Calculation Model by TIF(คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น)

[ Retirement Calculation Model by TIF ] <– กดเพื่อ download (เปิดไฟล์จาก Desktop จะสะดวกสุด)

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงจะขอยกตัวอย่าง ข้อมูลคร่าว ๆ (ส่วนแบบที่ตรงกับตัวท่านเอง แบบที่ละเอียด ไปลองเล่นได้ในไฟล์ที่ปล่อยให้ download) ของคน 4 กลุ่ม ตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน จนถึงวัยเตรียมเลิกทำงาน ซึ่งจะมีลักษณะตัวแปรทั้ง 6 ต่างกันไป

Retirement Calculation Model by TIF - Examples(คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น)

กลุ่มที่ 1 คนเริ่มทำงาน อายุประมาณ 20 ปี เงินเดือน 15,000 ซึ่งมักจะมาตัวเปล่า ไม่มีเงินเก็บ แต่เมื่อผ่านการทำงานตลอด 40 ปี (สมมติเกษียณตอนอายุ 60 ปี) ด้วยตัวแปรด้านการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน สัดส่วนเงินที่ออมได้ (เป็นสัดส่วนน้อยสุด เพราะค่าใช้จ่ายประจำ ยังเป็นสัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับรายได้) ใครจะเชื่อว่าตอนเกษียณ จะมีเงินเก็บเกือบ 10 ล้านบาท และสร้างรายได้ประจำให้ได้ถึงเดือนละ 45,706 บาท แบบไม่ต้องออกแรง เท่ากับว่า จะสามารถใช้จ่ายได้สูงถึงเดือนละ 45,706 บาทเช่นกัน โดยที่เงินต้นไม่หดหาย … นั่นเท่ากับว่า ถ้าเราใช้ไม่เกิน 45,706 บาทต่อเดือน เราก็จะมีกินมีใช้ไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด (แต่เราก็ยังจะต้องตายอยู่ดี :P)

กลุ่มที่ 2 คนทำงานมาได้สัก 10 ปี เริ่มมีตำแหน่ง เริ่มมีเงินเก็บ เงินเดือนเริ่มสูงขึ้น ก็ประมาณการได้ว่า เมื่อยามเกษียณจะมีเงินเก็บเกือบ 22 ล้านบาท และสามารถใช้จ่ายได้ถึงเดือนละ 100,433 บาท

กลุ่มที่ 3 เริ่มเป็นผู้บริหาร เงินเดือนหลักแสน เงินเก็บหลายล้าน ถ้าทำงานต่อไปอีกสัก 20 ปี ตอนเกษียณก็จะมีเงิน 42 ล้านกว่า ๆ ซึ่งนำผลตอบแทนจากเงินนั้นมาใช้จ่ายได้เดือนละเกือบ 200,000 บาท

กลุ่มที่ 4 จะเริ่มวางแผนการเกษียณแล้ว มีเงินเดือนสูง มีเงินเก็บจำนวนมาก และอัตราการออมสูงมาก กลุ่มนี้จะมีตัวเลขใกล้เคียงกับกลุ่ม 3 เพราะอะไรต่าง ๆ เริ่มชัดเจนและอิ่มตัวแล้วเช่นกัน ก็คือ จะเกษียณแบบมีเงินทองเกือบ 43 ล้านบาท และมีรายได้จากการลงทุนปีละ 2.4 ล้านบาท หรือเดือนละเกือบ 200,000 บาท คือใช้จ่ายได้เดือนละเกือบ 200,000 บาทแบบชิว ๆ โดยไม่ต้องทำให้เงินต้นหดหายไป

โดยจุดประสงค์ที่เขียนเรื่องนี้ และสร้าง Model นี้ขึ้นมา ก็เพื่อ (1) เป็นกำลังใจให้คนทำงานรุ่นใหม่ ว่าถึงแม้ตอนนี้เราจะเงินเดือนน้อย ไม่มีเงินออม แต่เดี๋ยวต่อไปชีวิตก็ค่อย ๆ เติบโตก้าวหน้า และถ้าเรารู้จักออมเงิน ไม่มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายออกไปมากนัก แถมรู้จักลงทุน เมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาว เมื่อถึงยามเกษียณ ชีวิตเราไม่ได้แย่อะไรเลย โดยสามารถเอากรณีของกลุ่มคนที่ 1 มาเป็นตัวอย่างพื้นฐานสุด ๆ ได้ คืออย่างน้อยตอนแก่ จะมีเงินใช้เดือนละเกือบ 50,000 บาท แบบที่เป็นไปได้ค่อนข้างสูงมากทีเดียว และเพื่อ (2) ให้คนที่ทำงานมาได้สักพักแล้ว ได้มีตัวช่วยใน ตรวจสอบ ชีวิตทางการเงิน ว่าถ้ายังอยู่แบบนี้ต่อไป พอถึงวัยเกษียณแล้ว จะพอกินพอใช้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากไม่พอ จะได้พยายามฝ่าฟันให้มากขึ้น เสียแต่เนิ่น ๆ

แล้วชีวิตการเงินของคุณล่ะครับ จะเป็นอย่างไรเมื่อยามเลิกทำงาน อย่าลืม Download ไฟล์มาลองใช้ดู 🙂

[ Retirement Calculation Model by TIF ] <– กดเพื่อ download (เปิดไฟล์จาก Desktop จะสะดวกสุด)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *