ในตอนที่แล้ว (ภาวะตลาดแบบนี้ลงทุนในอะไร และจัดพอร์ตแบบไหนดีนะ ? ตอนที่ 1 | รู้ทันภาวะเศรษฐกิจ) ได้สรุปไว้ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ยังพอจะเติบโตได้ แต่ในอัตราที่เชื่องช้า โดยมีปัจจัยสำคัญคือการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Fed Fund Rate ของสหรัฐฯ จ่อคิวอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2558 แถมตลาดหุ้นทั่วโลกในภาพรวมก็ให้ผลตอบแทนไม่มากนัก แถมยังมีความผันผวนสูงมากในบางตลาด ในขณะที่ประมาณการณ์เศรษฐกิจในอนาคต มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ลดลง … โดยที่สินทรัพย์การลงทุนหลัก ๆ ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ตราสารหนี้ตลาดเงิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และ กองทุนอสังหาริมทรัพย์/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวดังนี้
Asset Allocation & Asset Selection
- ตราสารหนี้ตลาดเงิน ให้ผลตอบแทนต่ำ ในช่วง 1.50% – 2.50% ต่อปี (โดยประมาณ) แต่สม่ำเสมอมั่นคงมาก และอัตราผลตอบแทนจะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศ … เหมาะสำหรับใช้เป็นที่พักเงินจากการลงทุนในประเภทอื่น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากออมทรัพย์ และใช้เป็นที่หลบภัยในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน
- ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นมาอยู่ในช่วง 2.00% -5.00% ต่อปี (โดยประมาณ) โดยตราสารหนี้ระยะยาวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น แต่หากภาวะอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะยาวก็จะมีผลขาดทุนมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้นเช่นกัน … สำหรับนักลงทุนที่เน้นความเติบโต คาดหวังผลตอบแทนระดับสูง (เช่น เกิน 10% ต่อปี) ในระยะยาว การลงทุนในตราสารหนี้เหมาะเป็นสินทรัพย์รอง ช่วยเสริมรายได้ และสร้างความมั่นคงให้กับพอร์ตการลงทุน แต่สำหรับนักลงทุนที่เน้นความแน่นอน คาดหวังผลตอบแทนระดับปานกลางแต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก สามารถใช้การลงทุนในตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์หลักได้
- ตราสารทุน ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยาวในระดับ 15%-25% ต่อปี (โดยประมาณ) แต่ก็มีความผันผวนสูงเช่นกัน บางปีอาจจะได้กำไรหลายสิบเปอร์เซนต์ แต่ในบางปี ก็อาจขาดทุนในระดับหลายสิบเปอร์เซนต์ได้เช่นกัน แต่อย่างที่กล่าว เมื่อมองกันยาว ๆ แล้ว ตราสารทุนให้ผลตอบแทนที่สูงสุดในบรรดาสินทรัพย์ลงทุนทุกชนิด … สำหรับนักลงทุนที่เน้นการเติบโต จึงขาดตราสารทุนไม่ได้ แต่จะมีไว้เป็นสัดส่วนเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการณ์ต่าง ๆ เป็นสำคัญ
- สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน จะมีการเคลื่อนไหวของราคาตามปัจจัยในระดับโลก โดยเฉพาะระดับสภาพคล่องและอัตราเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทนี้จึงขึ้นลงเป็นรอบใหญ่ ๆ ตามปัจจัยระดับ Global ในปีที่ดี ก็อาจให้ผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซนต์ อย่างเช่น ราคาทองคำ ในยุคที่ Fed ทำ QE (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของสหรัฐฯ) ใหม่ ๆ แต่ในช่วงที่แย่ ก็อาจขาดทุนได้มหาศาลเช่นกัน เช่น ราคาทองคำ ในยุคที่มีความชัดเจนว่า QE จะถูกยกเลิก รวมถึงราคาน้ำมัน ในช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน … นักลงทุนที่มีความสามารถในการประเมินอัตราเงินเฟ้อและปัจจัยมหภาค ก็จะสามารถใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นเครื่องมือต่อยอดวามมั่งคั่งได้อีกทางหนึ่ง
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนประเภทนี้ จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีกระแสรายได้แน่นอน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม (ได้ค่าเช่าพื้นที่) ระบบโทรคมนาคม (ได้ค่าบริการระบบ) สำนักงาน (ได้ค่าเช่าพื้นที่) ทำให้ราคาของกองทุนประเภทนี้มีความผันผวนต่ำ แถมยังได้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลในอัตราสูง ในระดับ 5%-8% (โดยประมาณ … นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ แต่ไม่อยากเสี่ยงลงทุนในหุ้น กองทุนประเภทนี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ลงทุนยาวไปได้เท่าไรกันนะ ?!?
(นักลงทุนสามารถเลือกจะลงทุนในสินทรัพย์ได้เป็นรายตัว หรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนผ่านกองทุนรวม จะเปิดโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้นและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนได้มากกว่า ในที่นี้ จึงจะขอใช้กองทุนรวมเป็นตัวอย่างในการนำเสนอ)
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กล่าวไปแล้ว บวกกับลักษณะเฉพาะตัวของสินทรัพย์การลงทุนข้างต้น ในระยะนี้ (ประมาณ 3 เดือนจากนี้) จึงพอจะสร้างเป็นพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolio) สำหรับนักลงทุนที่เน้นการเติบโตของความมั่งคั่ง ได้ดังนี้
ประเภทสินทรัพย์ |
สัดส่วน | เหตุผล/หมายเหตุ | ตัวอย่างกองทุนรวม | |
ตราสารหนี้ |
ตราสารหนี้ตลาดเงิน | 15% | เพื่อเป็นสภาพคล่องสำรองที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก | • K-MONEY (บลจ.กสิกรไทย) • TCMENJOY (บลจ.ยูโอบี) • MMM (บลจ.เอ็มเอฟซี) |
ตราสารหนี้ | 10% | เพื่อเสริมความมั่นคงของพอร์ตและขยายระดับผลตอบแทน โดยเน้นตราสารที่มีอายุปานกลาง เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น | • K-FIXED (บลจ.กสิกรไทย) • TFIF (บลจ.ยูโอบี) • TMBABF (บลจ.ทหารไทย) |
|
ตราสารทุน |
ตราสารทุนในประเทศ | 20% | เพื่อหวังผลตอบแทนสูงในระยะยาว แต่ยังจำกัดสัดส่วนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังเติบช้า | • TTPF (บลจ.กรุงไทย) • K-STAR (บลจ.กสิกรไทย) • ABSM (บลจ.อเบอร์ดีน) |
ตราสารทุนต่างประเทศ | 30% | • K-GA (บลจ.กสิกรไทย) • TMBWDEQ (บลจ.ทหารไทย) • T-GlobalEQ (บลจ.ธนชาต) |
||
สินค้าโภคภัณฑ์ |
ทองคำ | -0- | มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลกเริ่มสิ้นสุดลง และเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว เงินเฟ้อยังต่ำ | – |
น้ำมัน | -0- | – | ||
กองทุนอสังหาริมทรัพย์/ |
25% |
เพื่อหวังผลตอบแทนสม่ำเสมอที่สูงกว่าตราสารหนี้ พอสมควร และเสริมความมั่นคงของพอร์ต |
• PHATRA PROP (บลจ.ภัทร) • M-PROPERTY (บลจ.เอ็มเอฟซี) • ONE-PROP (บลจ.วรรณ) |
|
รวม |
100% |
ชวนทำความเข้าใจ
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน
- ข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น ไม่ได้เป็นคำแนะนำการลงทุน แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างให้นักลงทุนได้นำไปใช้วิเคราะห์ต่อยอดได้
- ตัวอย่างกองทุนรวมที่นำเสนอในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นกองทุนที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้นักลงทุนไปค้นคว้าต่อได้อย่างสะดวกขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม โดยนักลงทุนสามารถค้นหากองทุนรวมที่โดดเด่นให้ผลตอบแทนดีได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น www.morningstarthailand.com หรือ www.siamchart.com/fund-compare
- ผู้นำเสนอข้อมูล ไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลขาดทุนใด ๆ ที่นักลงทุนได้รับจากการนำข้อมูลนี้ไปใช้
Categories: Investment Articles