นักลงทุนทั้งมือใหม่มือเก๋า น่าจะเคยได้ยินคำว่า ราคาเป้าหมาย ราคาพื้นฐาน มูลค่าพื้นฐาน หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะเรียกว่า Target Price หรือ Fair Price หรือ Fair Value กันมาบ้าง ทั้งหมดนั้น คือสิ่งเดียวกัน โดยในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “Fair Price” นะครับ โดยเจ้า Fair Price นี้เป็นตัวบอกว่า หุ้นนี้ ราคาที่เหมาะสมดีงามตามท้องเรื่อง ณ ตอนนี้ มันควรจะเป็นกี่บาท
► Fair Price สามารถคำนวณมาได้จาก 2 แนวทางหลัก ๆ
1. Relative approach หรือ Market multiples Approach (เทียบความถูกแพงกับค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้น)
1.1) แบบแรกก็คือ Price to Book Value (หรือ P/BV) ซึ่งก็คือการ เอา Book Value หรือราคาตามงบการเงิน (ตามบัญชี) ของบริษัท ที่เราคาดการณ์ไว้ในอนาคต 12 เดือนข้างหน้า คูณกับ P/BV ratio ของอุตสาหกรรมเดียวกัน ประมาณว่า ความถูกแพงในระยะยาวของหุ้นแต่ละตัวจะปรับเข้าสู่ตัวเลขใกล้ ๆ กัน คือ ควรจะมี P/BV ใกล้ ๆ กันทั้งอุตสาหกรรม เช่น หุ้น XYZ คาดว่าจะมี Book Value เท่ากับ 15 บาท/หุ้น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี P/BV Ratio 2 เท่า ก็พอจะประมาณได้ว่า ราคาหุ้น XYZ ที่เหมาะสมคือแถว ๆ 30 บาท
1.2) แบบที่สองคือ Price to Earning (หรือ P/E) ก็คือการเอากำไรต่อหุ้น (Earning per share) ของบริษัที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต 12 เดือนข้างหน้า คูณกับ Price to Earning Ratio (P/E Ratio) ของอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยอิงหลักการเหมือน P/BV เช่น หุ้น DEF คาดว่าจะมีกำไร 5 บาท/หุ้น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี P/E Ratio เท่ากับ 15 เท่า ก็พอจะกะได้ว่า ราคาหุ้น DEF น่าจะอยู่แถว ๆ 75 บาท
2. Discount Cash Flow Approach (คิดลดกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคต)
2.1) แบบแรกคือ Dividend Discount Model คือการเอาประมาณการเงินปันผลที่ผู้ลงทุนจะได้รับในอนาคตมาคิดเป็นมูลค่าในวันนี้ เช่น คาดว่าหุ้น HIJ จะจ่ายปันผล 10 บาทในปีหน้า โดยมี discount rate ที่เหมาะสม (ซึ่งมีทฤษฎีที่เรียกว่า Capital Asset Pricing Model หรือ CAPM มาเป็นตัวช่วยในการคำนวณ) คือ 10% และเงินปันผลของหุ้นนี้มีการเติบโตปีละ 5% ก็จะคำนวณได้ว่า ราคาหุ้น HIJ ควรจะเท่ากับ “10 บาท / (10% – 5%)” ซึ่งเท่ากับ 200 บาท โดยวิธีการคำนวณแบบนี้เรียกว่า Gordon Growth Model
2.2) แบบที่สองคือ Free Cash Flow Discount คือการเอาประมาณการกระแสเงินสดสุทธิที่เจ้าของกิจการจะได้รับในอนาคต มาคิดเป็นมูลค่าในวันนี้ ซึ่งการคำนวณก็มักจะใช้ Excel เป็นตัวช่วย โดยจะคำนวณไล่มาตั้งแต่ รายรับ รายจ่าย จนเหลือเป็นกระแสเงินสุทธิในแต่ละปี แล้วเอามาคิดลดด้วย Discount Rate ที่เหมาะสม (ซึ่งเรียก Discount Rate นี้ว่า Weighted Average Cost of Capital หรือ WACC)
เมื่อเอาก้อนกระแสเงินสดที่คิดลดแล้วในแต่ละปีมารวมกัน ก็จะได้ Fair Price ของหุ้นในที่สุด
อย่างไรก็ดี ในการคำนวณ Fair Price ต้องทำหลาย ๆ วิธี และดู Range ของตัวเลขที่คำนวณได้ ไม่ใช่การคำนวณออกมาค่าเดียวแล้วฝังใจใช้ไปเลย เพราะอนาคตไม่แน่นอน จะมีช่วงราคาที่มันเป็นไปได้อยู่ช่วงหนึ่ง ไม่ใช่จุดใดจุดเดียว ในการตัดสินใจลงทุน ก็ดูว่า ราคาตลาดในปัจจุบัน มันอยู่แถว ๆ ไหน เมื่อเทียบกับช่วงที่คำนวณได้นั้น เช่น ตอนนี้ราคา 50 บาท แต่คำนวณช่วงราคาที่ควรเป็นได้ประมาณ 70-90 บาท แบบนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะขอบล่าง สูงกว่าราคาปัจจุบัน แต่ราคาคำนวณได้ที่ 45-60 บาท แบบนี้ก็น่าสนใจน้อยลงมา เพราะก้ำกึ่ง
► ถ้าขี้เกียจ หรือไม่สามารถคำนวณ Fair Price ได้เอง ควรทำยังไงดี ?
จริง ๆ ก็มีทางลัดให้ไปดูตัวเลข Fair Price ที่นักวิเคราะห์ค่ายต่าง ๆ เขาทำมาให้แล้ว และเปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ settrade.com ในส่วน IAA Consensus
(อยู่ที่มุมขวาล่างของภาพนะครับ)
อย่างในรูปเป็นตัวอย่างของหุ้น ADVANC ซึ่งมีนักวิเคราะห์ 12 ค่าย ประเมิน Fair Price ไว้ให้แล้ว ซึ่งเขาก็จะใช้แนวทางการประเมินข้างต้นในการคำนวณ แตกต่างกันไปแล้วแต่ความถนัดของแต่ละค่าย รวมถึงมีสมมติฐานและมุมมองในอนาคตต่างกันไปด้วย
(ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 2559 จาก www.settrade.com)
จะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยของ Fair Price สำหรับหุ้น ADVANC ในช่วงนี้ (จะแสดงข้อมูล 30 วันย้อนหลัง) คือ 207 บาท ซึ่งเราพอจะเอาตัวเลขนี้เป็นแนวทางตัดสินใจได้ เนื่องจาก 1) ยังสดใหม่อยู่พอสมควร สะท้อนข่าวสารข้อมูลที่มี ณ ตอนนี้ไปแล้ว และ 2) ไม่ลำเอียงเพราะเป็นค่าเฉลี่ยจากหลายเจ้า
► แล้วถ้าอยากศึกษาแบบลงลึกจนคำนวณเองได้ มีทางเลือกยังไงบ้าง ?
1. ศึกษาเอกสารที่ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Adviser หรือ FA) เปิดเผยต่อตลาด เมื่อมีดีลซื้อขายกิจการ
อย่างในรูป เป็นดีลที่บริษัท EE ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า ก็จะต้องมีการคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ เพื่อเทียบว่า ราคาที่ซื้อขายกันนั้น สมเหตุผลหรือไม่ โดยลองคำนวณหลาย ๆ วิธีแล้วเอามาดูว่า Range เป็นอย่างไร ซึ่งรูปที่คัดมา เป็นแค่บางช่วงบางตอนเท่านั้นเพื่อให้พอเห็นภาพ แนะนำให้ดู เอกสารฉบับสมบูรณ์ จะดีที่สุดครับ
2. อ่านหนังสือวิชาการด้านการลงทุน
อย่างในรูป เป็นชุดหนังสือเตรียมสอบ Certified Investment and Securities Analyst หรือ CISA Level 2 ในหมวด การประเมินมูลค่าสินทรัพย์
(ที่มา www.set.or.th)
3. ศึกษาหลักวิชาการประเมินมูลค่าหุ้นผ่านหลักสูตรออนไลน์
ตัวอย่างเช่น วิชา Private Equity and Venture Capital ของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Università Bocconi ผ่านทางเว็บไซต์ coursera.org ซึ่งเป็นหลักสูตรเรียนเอง 5 สัปดาห์จบ แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แถมถ้าเรียนจบ ทำข้อสอบผ่าน ก็สามารถเลือกขอรับ Certificate จากมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย (มีค่าออก certificate $49) … เท่ซ้าาา
โดยเฉพาะ Week 4 นี่เป็นการสอนคำนวณมูลค่ากิจการแบบเนื้อ ๆ แต่เข้าใจง่าย มีซับอังกฤษและไฟล์ PowerPoint แจกฟรีด้วย
ใครอ่านจบหรือเรียนจบ ก็แทบจะสมัครงานด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) หรือ งานวิเคราะห์ตราสารทุน (Equity Analysis) ได้เลย
ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ชัด ๆ ก่อนนำ Fair Price ไปใช้ ว่า Fair Price นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตามเวลาที่ผ่านไป ตามข้อมูลสถานะของกิจการ และตามมุมมองของคนประเมิน ห้ามหลงเข้าใจผิดว่า ตัวเลขนี้จะคงเดิมไปตลอดไม่มีวันเปลี่ยนแปลง … แต่กระนั้น ตัวเลข Fair Price ที่ได้มา ณ วันนี้ ถ้าถูกคำนวณมาอย่างดี มีหลักการถูกต้อง และทำอย่างตรงไปตรงมา โดยนักวิเคราะห์ที่มีคุณวุฒิถูกต้องครบถ้วน ก็พอจะใช้เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มี ณ ตอนนี้ (Best available information at this moment) สำหรับการตัดสินใจ ณ ตอนนี้ได้ (แปลว่า ถ้าไม่ใช้ข้อมูลนี้ ก็ไม่มีอย่างอื่นที่ดีกว่าแล้วในเชิงการวิเคราะห์มูลค่า อย่างอแง) … ส่วนใครจะใช้ Technical Analysis ช่วยดูจังหวะซื้อขายประกอบไปด้วย ก็ไม่ผิดอะไรครับ

Categories: Investment Articles