Investment Articles

TIF @ Money Channel ตอนที่ 2 | เส้นทางการลงทุนในหุ้น

45688_10151248927721557_1892778530_n

เนื้อหาฉบับ Uncut ที่สัมภาษณ์ในรายการ “มือใหม่” ช่วง “ถามมือเก๋า” ตอนที่ 2 วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ณ Money Channel สัมภาษณ์โดยคุณทีน่า สุภัททกิต เจตทวีกิจ

Q1: เทคนิคการเลือกหุ้นมาลงทุนในระยะยาว มีวิธีคัดเลือกอย่างไร คร่าวๆ

A1: ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า มุมมองที่จะนำเสนอนี้ เป็นมุมมองส่วนตัว ซึ่งตรงกับจริตและบริบททางการเงินและความรู้ความเข้าใจส่วนตัวจริงๆ ท่านอื่นๆ อาจมีจริตและบริบทส่วนตัวต่างกันไป ก็อาจมีมุมมองที่ต่างไปจากนี้ได้ครับ

  1. เริ่มดูที่ธุรกิจ ที่ผ่านมาจะต้องมีการเติบโต และมีแผนที่จะเติบด่อไป ดังนั้นบริษัทที่มีการสื่อสารกับนักลงทุนเป็นอย่างดี ละเอียด ชัดเจน ในเรื่องแผนธุรกิจ จึงน่าสนใจลงทุนเป็นพิเศษ
  2. ดูที่ผู้บริหาร ว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่ มุมานะในการขยายกิจการแค่ไหน แผนที่ผ่านๆ มาทำได้จริงแค่ไหน มีชื่อเสียงเสียหายหรือเปล่า ซึงก็ดูได้จาก การสัมภาษณ์ ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือไม่ก็ใน Opportunity Day
  3. ดูแนวโน้มของกำไรต่อหุ้น ว่าเติบโตมั๊ย เพราะกำไรต่อหุ้นที่เติบต่อเนื่องราบรื่น คือปัจจัยหลักที่ผลักดันราคาหุ้นให้เติบโตได้ในระยะยาว
  4. ดูบทวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ ผ่านทาง settrade.com SAA Consensus เพื่อให้เห็นมุมมองโดยรวมของนักวิเคราะห์ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาด และอัพเดทข่าวที่เกี่ยวกับบริษัท
  5. ดูจังหวะการซื้อขาย โดยอาศัยเครื่องมือทางเทคนิกเข้าช่วย … เพราะต่อให้เราประเมินมูลค่ามาดียังไง เราก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ชัดๆ ว่า วันไหน เวลาไหน ณ ราคาเท่าไร ที่เราควรซื้อขายหุ้น คือไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนระยะยาวเพียงใด มันต้องมีจุดเล็กๆ ของเวลา ที่เราต้องเปิดหน้าจอ หรือโทรไปหาโบรกเกอร์ ว่าเอาล่ะ ตอนนี้นะ ราคานี้นะ ที่เราจะซื้อแล้ว เราจะขายแล้ว

Q2: ตลอดเส้นทางการลงทุนที่ผ่านมา ลงทุนหุ้นตัวไหนแล้วถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด รบกวนยกตัวอย่างหุ้นในอดีต 1 ตัวที่เลือกมาลงทุนแล้วประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ 

A2: จริงๆ แล้วก็มีหลายตัว เช่น หุ้นในหมวดอาหารที่กำลังไปได้ดีในธุรกิจโรงแรม หุ้นลิสซิ่ง หุ้นสื่อสาร

Q3: ทำไมตอนนั้นถึงเลือกหุ้นตัวนั้น มีเรื่องราวชี้นำ หรือ คัดเลือกจากปัจจัยอะไร หาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร

A3: ก็มีลักษณะเป็นไปตามหลักในการเลือกหุ้นที่กล่าวไปเมื่อตอนก่อน  โดยเฉพาะในเรื่องความชัดเจนของแผนการขยายธุรกิจในอนาคต และความมุ่งมั่นของเจ้าของ ซึ่งก็เห็นผลลัพธ์ได้จากกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้น ไปพร้อมๆ กับราคาหุ้น ส่วนข้อมูลก็หาจาก Public information ทั้งจาก SAA Consensus เอกสารเผยแพร่ของตัวบริษัทเอง และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข เช่น การเติบโตของกำไรต่อหุ้น โดยใช้โปรแกรมกราฟต่างๆ เข้าช่วย

Q4: จังหวะการเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นรอดูจังหวะแบบไหน เข้าซื้อที่ราคาเท่าไหร่ และวางแผนในการลงทุนหุ้นตัวนี้อย่างไร

A4: จังหวะที่ชอบที่สุดคือ ก้นบึ้งของวิกฤติต่างๆ เช่น ช่วงปลายปี 2008 ทีมีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือไม่ก็ช่วงปลายปี 2011 ที่มีเรื่องหนี้ยุโรปผสมโรงกับน้ำท่วมใหญ่  เพราะการซื้อในช่วงนี้ มีโอกาสสูงที่ราคาจะกลับขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องแนวโน้มของราคาด้วย

Q5: ระหว่างที่ถือมีการติดตามข้อมูลหุ้นตัวนั้นอย่างไร  มีวิธี Revised กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวหรือการออมไว้ในหุ้นอย่างไร และเมื่อไหร่บ้าง

A5: ก็ตามอ่านงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบการเงิน ความจริงข้อมูลสำคัญๆ หลายอย่าง แฝงอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ตามอ่านเอกสารเผยแพร่ของบริษัท เช่น Management Discussion & Analysis หรือ MD&A ตามดู Opportunity Day โดยเฉพาะเรื่องแผนธุรกิจในอนาคต และการทำได้จริงสำหรับแผนที่ผ่านๆ มา

ส่วนเรื่องกรอบเวลาลงทุน ก็ถือยาวได้เท่าที่ธุรกิจยังเติบโต และราคาหุ้นยังไปต่อ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะเป็นกี่ปี หรือกี่สิบปี ส่วนการซื้อเพิ่มก็มีอยู่ตลอดทาง จากเงินใหม่บ้าง จากสภาพคล่องที่สำรองไว้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อหุ้นทำ New High แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการซื้อเพิ่มที่ New High ไม่ได้รับประกันเสมอไปว่าจะได้กำไร แค่เป็นจุดที่มีโอกาสสูง

และจริงๆ แล้วหุ้นที่ธุรกิจดี มีการขยายตัว ราคาหุ้นในตลาดก็อาจได้รับผลกระทบด้านลบจากปัจจัยภายนอกได้เช่นกัน เช่น การขายของนักลงทุนต่างชาติเพื่อเอาสภาพคล่องในช่วงวิกฤติปี 2008 ซึ่งถ้านักลงทุนเผชิญกับภาวะเช่นนี้ ต้องพิจารณาให้ดี ว่าจะทนถือไว้ หรือจะขายตามแนวโน้มไปก่อน และกลับมาซื้อใหม่เมื่อคลื่นลมสงบ (และแอบหวังว่า ในราคาที่ต่ำลง)

ประเด็นสำคัญคือ หุ้นที่ดี ต้องเป็นหุ้นที่เรากลับเข้ามาซื้อได้อีก เมื่อปัจจัยภายนอกกลับมานิ่ง และตลาดพร้อมจะไปต่อ ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าพื้นฐานธุรกิจจะดีแค่ไหน แต่ความมั่งคั่งของเรา ในฐานะรายย่อย ก็วัดกันที่ราคาหุ้น ถ้าราคาตกลงมากๆ นานๆ อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับเราจนลงเรื่อยๆ การซื้อขายตามแนวโน้มระยะยาว ซึ่งบางทีกว่าจะซื้อขายสักครั้งกินเวลาเป็นปีๆ หรือบางตัว ยังไม่ต้องขายเลยก็มี ผมเชื่อว่าน่าจะทำกำไรได้มากกว่าการ Buy-and-Hold แบบไม่ดูแนวโน้มราคา แต่เราต้องเข้าใจหลักของมันด้วย

Q6: และการลงทุนหุ้นระยาวตัวไหนที่สร้างบทเรียนที่ดีที่สุดในการลงทุน สาเหตุของความผิดพลาดในการลงทุนครั้งนั้น และบทเรียนที่ได้คืออะไร

A6: จริงๆ แล้วยังไม่มีหุ้นระยะยาวตัวไหนที่ทำให้ขาดทุน เพราะยังอยู่ในขาขึ้นยาวต่อกันหลายปี ถ้าจะมีความผิดพลาด ก็คงอยู่ที่ว่า ตอนนั้นผมควรจะซื้อมากกว่านี้ บทเรียนที่ได้คือ การจะมีความมั่งคั่งในระดับที่เปลี่ยนชีวิตได้ เมื่อเรามั่นใจในการลงทุนอะไรแล้ว จะต้องกล้าลงทุนให้ได้ในปริมาณมากๆ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์โดยรวม แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วย ไม่ยึดติดกับมุมมอง ถ้าต่อมาความจริงฟ้องว่าเรามองผิดไปจริงๆ ก็ต้องกล้าปรับพอร์ตเช่นกัน

Disclaimer:

  • เนื้อหาที่นำเสนอ เป็นมุมมองเฉพาะตัวที่ใช้แล้วได้ผลดีกับตัวเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
  • เนื้อหาที่นำเสนอในแต่ละหัวข้อ เน้นในเชิงหลักการ และด้วยข้อจำกัดตามบริบทของการสัมภาษณ์ จึงไม่สามารถครอบคลุมทุกแง่มุมในรายละเอียดที่อาจเกี่ยวข้อง

อ่านต่อตอนที่ 3 (ตอนจบ): การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ] [ ย้อนไปอ่านตอน 1: หลักคิดของการเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ดี ]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *