(กดเพื่อดูปาฐกถาฉบับเต็มพร้อมบรรยายไทย ที่นี่ )
ส่วนหนึ่ง(เกือบทั้งหมด) จากปาฐกถาของ Sir Ken Robinson นักพัฒนาการระบบการศึกษาระดับโลกชาวอังกฤษ
“… ในบางส่วนของประเทศ[สหรัฐฯ] มีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันถึง 60 % ในชุมชนคนพื้นเมืองอเมริกัน มีอัตราการออกกลางคันสูงถึง 80 % มีการประมาณว่า ถ้าเราลดตัวเลขนี้ลงได้ครึ่งหนึ่งระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเติบโตเพิ่มขึ้น เกือบล้านล้านเหรียญเป็นเวลามากกว่า 10 ปี จากมุมมองทางเศรษฐกิจแล้ว เป็นผลลัพธ์ที่ดี ที่เราน่าจะลุกขึ้นมา ทำให้เป็นจริงใช่ไหมล่ะครับ นอกจากนี้ จริงๆ แล้วเราต้องใช้เงินมหาศาล เพื่อเยียวยาความเสียหาย จากวิกฤตที่นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน
แต่วิกฤตที่เราเห็นนี้ เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่เรายังไม่ได้นึกถึงก็คือ เด็กทั้งหมดที่ยังอยู่ในโรงเรียนแต่ไม่สนใจเรียน ไม่สนุกกับการเรียน และไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงใดๆ จากการเรียน
มีหลักการอยู่สามอย่าง ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์เติบโตงอกงาม แต่หลักสามอย่างนี้ ถูกขัดขวางโดยวัฒนธรรมการศึกษา ที่ครูส่วนใหญ่ต้องทำตาม และเด็กส่วนใหญ่ต้องจำทน
1) หลักการข้อแรกคือ ธรรมชาติของมนุษย์ มีความแตกต่างหลากหลาย
การศึกษาภายใต้ พรบ. การศีกษา No Child Left Behind นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมือน ไม่ใช่ความหลากหลาย สิ่งที่โรงเรียนพวกนี้ถูกสั่งให้ทำ ก็คือ ค้นหาว่าเด็กทำอะไรได้ภายในนิยาม “ผลสัมฤทธิ์” แบบแคบๆ หนึ่งในผลกระทบของ พรบ. No Child Left Behind คือการมุ่งความสนใจแคบๆ อยู่แค่สี่สาขาวิชาที่เรียกว่า STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ซึ่งก็สำคัญมากนะครับ ผมไม่ได้มาต่อต้านวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตรงกันข้าม ผมจะบอกว่ามันจำเป็น แต่มันยังไม่เพียงพอ การศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญพอๆ กัน แก่ วิชาศิลปะ มนุษยศาสตร์ และพลศึกษาด้วย เด็กๆ เติบโตและประสบความสำเร็จมากที่สุด ในหลักสูตรที่เปิดกว้าง ที่ชื่นชมความสามารถหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ไม่กี่อย่าง อ้อ แล้วที่ศิลปะมีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะ มันช่วยเพิ่มคะแนนวิชาคณิตศาสตร์นะครับ แต่ศิลปะสำคัญ เพราะมันสื่อสารกับตัวตนของเด็ก ส่วนที่ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากศิลปะที่สามารถเข้าถึงได้
2) หลักการข้อที่สอง ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์เติบโตงอกงาม คือความอยากรู้อยากเห็น
ถ้าคุณจุดประกาย ความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กได้ บ่อยครั้ง เขาจะเรียนรู้ต่อเอง โดยไม่ต้องให้เราคอยช่วยเลย เด็กๆ เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ ความสำเร็จที่แท้จริง คือการที่คุณปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมาได้ แทนที่จะปิดกั้นมันเอาไว้ คุณจะเห็นว่า ท้ายที่สุด การศึกษาก็คือการเรียนรู้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น ก็ถือว่าการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้น แต่คนเรากลับใช้เวลามากมาย พูดเรื่องการศึกษา โดยไม่เคยพูดถึงการเรียนรู้ เป้าหมายของการศึกษา คือการทำให้คนเรียนรู้
บทบาทของครู คือการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ แค่นั้นเอง ผมว่าที่มาของปัญหาส่วนหนึ่งคือ วัฒนธรรมการศึกษากระแสหลัก มัวแต่ใส่ใจการทดสอบ ไม่ใช่การสอนและการเรียนรู้ ที่จริงการสอบก็สำคัญนะครับ การสอบมาตรฐานมีบทบาทสำคัญ แต่มันไม่ควรเป็นวัฒนธรรมหลักของการศึกษา เราควรใช้การสอบเป็นเครื่องมือวินิจฉัย เพื่อช่วยในการเรียนรู้ (เสียงปรบมือ)
3) หลักการข้อที่สามคือ ชีวิตของมนุษย์มีความสร้างสรรค์อยู่ในตัว
เราจึงเขียนประวัติย่อของเราแตกต่างกันไป เพราะเราสร้างชีวิตของเราเอง และเราก็สร้างมันขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ระหว่างที่เราใช้ชีวิต มันเป็นวิถีธรรมชาติ ของการเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมของมนุษย์จึงได้หลากหลาย น่าสนใจ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
เราสร้างชีวิตของเราผ่านกระบวนการที่ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ของการจินตนาการทางเลือกและความเป็นไปได้ และบทบาทหนึ่งของการศึกษา คือการปลุกและพัฒนาพลังความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ แต่ตรงกันข้าม เรากลับสร้างวัฒนธรรมของการมีมาตรฐานเดียว
ประเทศฟินแลนด์ มักติดอันดับสูงสุดของโลก ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เรารู้แค่ว่าเขาเก่งสามเรื่องนี้แหละ เพราะนั่นคือแค่สามเรื่องที่มีการทดสอบกันเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือปัญหาหนึ่งของการทดสอบ มันไม่ได้ค้นหาสิ่งอื่นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในฟินแลนด์เขาทำอย่างนี้ครับ
ข้อแรก เขาไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับแค่สามวิชานี้ เขามีแนวทางด้านการศึกษาที่กว้างมาก ซึ่งรวมทั้งวิชามนุษยศาสตร์ พลศึกษา และศิลปะ
ข้อสอง ที่ฟินแลนด์ไม่มีการทดสอบมาตรฐาน ผมหมายความว่า มีบ้างนิดหน่อย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักเรียนต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้า ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักเรียนต้องนั่งติดอยู่กับโต๊ะ
ข้อสาม ฟินแลนด์ไม่มีปัญหานักเรียนลาออกกลางคัน เด็กจะลาออกกลางคันไปทำไมล่ะ ถ้าเด็กมีปัญหา เราจะเข้าไปช่วยแก้ไขอย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเขา สนับสนุนเขา
แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาประสิทธิภาพสูงเหล่านี้เขาทำกัน เป็นสิ่งที่ ระบบการศึกษาอเมริกาไม่ได้ทำเลย โดยภาพรวม ในปัจจุบันนี้นะครับ น่าเศร้านะ ตัวอย่างเช่น ที่ฟินแลนด์เขาจัดการเรียนการสอน ให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน เขาตระหนักว่านักเรียนคือผู้เรียนรู้ และระบบจะต้องดึงดูดความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็นความเป็นตัวตนอันมีเอกลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก นั่นคือวิธีที่คุณจะทำให้เขาเรียนรู้ได้
สองคือ เขายกย่องอาชีพครู ให้มีสถานภาพสูงมากๆ เขาตระหนักว่าคุณไม่สามารถปรับปรุงการศึกษาได้ ถ้าคุณไม่เลือกคนที่ดีเลิศมาเป็นผู้สอน และไม่สนับสนุนและสร้างพัฒนาการทางวิชาชีพ แก่ครูเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง การลงทุนพัฒนาคนในวิชาชีพ ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย มันคือการลงทุน และทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จล้วนเข้าใจข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือเซียงไฮ้ ล้วนเข้าใจความจริงข้อนี้
และข้อสาม เขามอบอำนาจและความรับผิดชอบ ให้แก่โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเอง คุณเห็นไหม มันแตกต่างอย่างมาก จากรูปแบบการสั่งการและควบคุมการศึกษา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในบางระบบ ที่รัฐบาลกลาง หรือผู้บริหารของรัฐ เป็นผู้ตัดสินใจ คนพวกนี้รู้ดีที่สุด และเขาจะคอยบอกว่าคุณต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือ การศึกษาไม่ได้เกิดขึ้น ในห้องประชุมคณะกรรมการ หรืออาคารที่เรานั่งร่างกฏหมาย มันเกิดขึ้นในห้องเรียนและในโรงเรียน และคนที่ลงมือปฏิบัติคือครูและนักเรียน ถ้าคุณไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่เขา มันไม่มีทางสำเร็จ คุณต้องคืนอำนาจให้คนเหล่านี้
การศึกษาไม่ใช่ระบบเครื่องยนต์กลไก มันเป็นระบบของมนุษย์ มันเป็นเรื่องของคน คนที่อยากเรียนรู้ หรือไม่อยากเรียนรู้ นักเรียนทุกคนที่ลาออกกลางคันย่อมมีเหตุผล ซึ่งมีต้นตอมาจากอะไรบางอย่างในชีวิตเขา เขาอาจรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ไม่สำคัญ เขาอาจรู้สึกว่ามันขัดแย้ง กับการดำเนินชีวิตของเขานอกโรงเรียน ปัญหาพวกนี้อาจมีแนวคล้ายๆ กัน แต่เรื่องราวของแต่ละคนต่างมีลักษณะเฉพาะ ผมเพิ่งไปประชุมในลอสแองเจลิส กับกลุ่มที่เขาเรียกว่า หลักสูตรการศึกษาทางเลือก หลักสูตรเหล่านี้ออกแบบมา เพื่อดึงเด็กๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีลักษณะร่วมบางอย่าง เช่น ออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนได้รับการสนับสนุนจากครู มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน และมีรายวิชาที่กว้างและหลากหลาย และหลักสูตรพวกนี้มักมีนักเรียนเข้าร่วม ทั้งจากนอกโรงเรียนและในโรงเรียน และมันก็ประสบความสำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ เขาเรียกหลักสูตรพวกนี้ว่า “การศึกษาทางเลือก” คุณคิดดูสิ มีหลักฐานสนับสนุนจากทั่วโลกว่า ถ้าหลักสูตรทั้งหมดเป็นแบบนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีทางเลือก
ผมเลยคิดว่า เราต้องใช้อุปมาที่แตกต่างออกไป เราต้องมองว่านี่ [การศึกษา] เป็นระบบของมนุษย์ ซึ่งเติบโตงอกงามได้ดีภายใต้สภาวะบางอย่าง และไม่เติบโตงอกงามภายใต้สภาวะบางอย่าง
ไม่ไกลจากเมืองที่ผมอยู่ มีหุบเขาชื่อว่าเดทธ์ แวลลีย์ (Death Valley — หุบเขาแห่งความตาย) เดทธ์ แวลลีย์เป็นที่ที่ร้อนที่สุด แห้งที่สุดในอเมริกา และไม่มีต้นไม้อะไรขิ้นเลย เพราะว่าฝนไม่ตก มันจึงได้ชื่อว่าเดทธ์ แวลลีย์ ในฤดูหนาวปี ค.ศ. 2004 เกิดมีฝนตกในเดทธ์ แวลลีย์ น้ำฝนปริมาณเจ็ดนิ้วตกลงมาภายในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2005 ก็เกิดปรากฎการณ์ ที่พื้นของเดทธ์ แวลลีย์ทั้งหมดปกคลุมไปด้วยดอกไม้ อยู่สักพักหนึ่ง นี่เป็นการพิสูจน์ว่า เดทธ์ แวลลีย์ยังไม่ตาย มันแค่หลับใหลอยู่ ภายใต้พื้นผิวของมัน เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ของความเป็นไปได้ รอคอยสภาวะที่เหมาะสมเพื่อแทงยอดออกมา สำหรับระบบแบบชีวภาพแบบนี้ เมื่อใดที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ชีวิตย่อมถือกำเนิดขึ้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเสมอ
มีคำพูดที่คมคายอันหนึ่งของเบนจามิน แฟรงคลิน
“ในโลกนี้มีคนอยู่สามประเภท คนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว คนที่ไม่เข้าใจ และไม่อยากทำความเข้าใจ พวกนี้คงไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร แล้วก็มีคนที่เปลี่ยนแปลงได้คนที่เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะรับฟัง แล้วก็มีคนที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลง คนที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น”
ถ้าเราสามารถสนับสนุน และโน้มน้าวคนได้มากขึ้น ก็จะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แล้วถ้าการเคลื่อนไหวนั้นเข้มแข็งมากพอ มันก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ … “
ปาฐกถานี้บรรยายไทยโดย Thipnapa Huansuriya และตรวจทานโดย Kelwalin Dhanasarnsombut ทีมคนไทยใจดีใน Thai TED translator community
Categories: Thoughts & Quotes