เนื้อหาเฉลิมพระเกียรติ

3 ห่วง 3 เงื่อนไข … เข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ต่อไปนี้จะขอใช้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9) จึงคิดว่าเป็นโอกาสสมควรที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาอธิบายให้เข้าใจกันละเอียดยิ่งขึ้น

screenshot-486

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทางผ่านพระราชดำรัสในหลายโอกาสด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 (เท่าที่หาข้อมูลพบ)

“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด …”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 –

—-

“…ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง… คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข… พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”

– พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 –

“…เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

-พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2542

จะเห็นว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงชี้แนะแก่ประชาชนชาวไทยมาช้านานกว่า 40 ปี โดยยุคหลังมานี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้รวบรวมหลักการและสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นแนวทางพัฒนาแบบทางสายกลาง 3 ห่วง สอดประสานกันคือ (1) มีความพอประมาณ ไม่มากไปน้อยไป เหมาะสมกับฐานะ (2) มีเหตุผล ถูกหลักการ ไม่เลื่อนลอย และ (3) มีภูมิคุ้มกัน เตรียมตัวรับเหตุการณ์ล่วงหน้า ไม่ประมาท ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงได้ .. โดยมี 3 เงื่อนไขที่สำคัญคือ (1) ต้องมีความรู้ (2) ต้องมีคุณธรรม และ (3) ต้องรู้จักใช้ชีวิต

 

ถ้าจะยกตัวอย่างในเชิงเศรษฐกิจการเงิน ก็สามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางได้ทุกแง่มุม ดังเช่นตัวอย่างถามตอบในหนังสือ “นานาคำถาม เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของสภาพัฒน์ฯ

screenshot-483screenshot-484screenshot-485ตอนแรกใครที่ได้ฟังแต่ชื่อ อาจเข้าใจไปได้ว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องไม่ทันโลก ถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อได้ศึกษาลงลึกในรายละเอียดดังกล่าว ก็จะเห็นว่าปรัชญานี้ทันโลก และอธิบายครบถ้วน ทั้งเหตุ (จะต้องทำอย่างไร) และ ผล (แล้วจะได้อะไร)

ซึ่ง “เหตุ” ก็ได้แก่การนำหลัก 3 ห่วง 3 เงื่อนไขไปใช้ และ “ผล” ก็คือ การได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่สมดุล มีความมั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว

เมื่อเห็นกลไกอย่างนี้แล้ว ก็เชื่อว่าใครที่นำไปใช้ครบมิติของชีวิต ก็น่าจะได้รับทั้งความสุขและความเจริญ และเมื่อตัวเราเจริญ คนรอบข้างและสังคมก็จะเจริญตาม และเมื่อคนรอบข้างและสังคมเจริญ เราเองก็จะมีความสุขยิ่งขึ้น เกิดเป็นวัฎจักรด้านบวกที่ไม่รู้จบขึ้นมาได้จริง

sJ@TIF — 2.01น. 16 ต.ค.59

ที่มาและแหล่งศึกษาเพิ่มเติม:

อ่านต่อ: เกษตรทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้คนไทยได้อยู่ดีกินดี อย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *