เราสามารถเช็คง่าย ๆ ว่า ในการขายของเรา มีเหตุผล และสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนของเรา หรือไม่ ไม่ว่าจะสายคุณค่า หรือสายเทคนิค
ถ้าทุกครั้งที่เราขาย เรามีเหตุผล และสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนของเรา .. สามารถบอกตัวเองได้เลย ว่าเราไม่ใช่มนุษย์ Panic .. ต่อให้เราขาย แต่ตลาดดันกลับขึ้นมา
เพราะเหตุผลที่เราใช้ มันเกิดจากข้อมูล “ณ ขณะนั้น” ตอนที่จำเป็นต้องตัดสินใจ ตอนที่สถานการณ์อยู่ตรงหน้า ถ้าเหตุผลตอนนี้ถูกต้อง ต่อให้สถานการณ์ในระยะต่อไป (ซึ่งอาจะกินเวลาแค่ครึ่งวัน) มันไม่ใช่แบบที่เราคิด ก็ไม่ต้องเสียใจ
ซึ่งการรีบขาย แล้วผิดทาง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Type I Error คือคิดว่าจะแย่แล้วกลับไม่แย่ ซึ่งตรงข้ามกับ Type II Error คือ คิดว่าไม่แย่หรอก แต่เอาจริง ๆ กลับเยินมาก … ซึ่งตัวอย่าง Type II Error ที่เจ็บแสบสุด คือตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ผู้คนจำนวนมาก ยังชิว คิดว่าไม่มีอะไร แต่สุดท้าย ตลาดหุ้นทั่วโลก ลบเยิน กว่า 50% (เป็นอย่างน้อย)
แต่จริง ๆ จะเรียกว่าเป็น Error ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะทั้ง Type I/II Error ในขณะที่ตัดสินใจนั้น มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้ว แค่เรายังไม่รู้ .. ส่วนการลงทุน เรายังไม่รู้อนาคตล่วงหน้า จึงว่ากันที่ปัจจุบัน
ดังนั้น ถ้าเรามีเหตุผลสมบูรณ์ดีในการขาย แต่ผ่านไปกลายเป็นผิดทาง แล้วมีใครมาเรียกว่าเราพวก Panic สามารถตอบกลับไปสวย ๆ ได้เลยว่า “ขอบคุณมาก ท่านนักวิเคราะห์หลังเกมส์” ซึ่งนักวิเคราะห์หลังเกมส์จะไม่เคยผิด เพราะเอาเรื่องที่เกิดแล้วมาอธิบาย แต่เขาก็จะลืมไปเหมือนกัน ว่าคุณค่าจะน้อย เนื่องจากไม่ได้ช่วยการตัดสินใจเฉพาะหน้าสักเท่าไร เว้นแต่จะเก็บเป็นสถิติย้อนหลังระยะยาว แล้วเอามาช่วยคำนวณการตัดสินใจครั้งถัดไป
และจากทั้งหมดข้างต้น นั่นหมายความว่า ถ้าตอนที่ขาย เราไม่ได้เช็คข้อมูลอะไรเลย หาเหตุผลไม่ได้ มโนล้วน ๆ เปิดมาเจอหน้าจอแดง ๆ ก็โยนซ้ายทันที .. นั่นแหละคือ Panic 🙂
ป.ล. แรงบันดาลใจของบทความนี้เกิดจากการที่เมื่อวานตลาดดิ่ง เพราะทรัมป์นำโด่ง แต่แล้วก็เด้งกลับขึ้นมาหลังจากที่ทรัมป์เริ่มเผยนโยบาย ซึ่งไม่ได้กระทบเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนตอนที่หาเสียงไว้ (ตบหลังแล้วมาลูบหัว) แล้วก็มีคนออกมาบอกว่า “โอว พวก Panic เยอะเลย” (ซึ่งเยอะเลยนั้นหมายถึงนักลงทุน “ทั่วโลก”)
ป.ล. เมื่อวานส่วนตัวไม่ได้ขายจ้า
Categories: Investment Articles