Investment Articles

ตั๋ว B/E คืออะไร และ Non-rated B/E มันมีปัญหายังไง

screenshot-190
 . 
ในฐานะที่เคยดูแลเงินลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน และเป็นทั้งผู้ออกตราสารหนี้เอง รวมเวลาเกิน 10 ปี ขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประเด็นร้อนในช่วงนี้ ว่าด้วย  Non-rated B/E .. โดยขอไล่เรียงมาเป็น bullet ดังนี้ครับ
 .
• เมื่อบริษัทต้องการระดมทุน จะมีทางเลือก 2 ทางหลัก ๆ คือ 1) ขายหุ้น 2) ขายหนี้
 .
• ฝั่งการขายหุ้น ก็เช่นการออกหุ้น IPO แล้วเอามาเข้าตลาด หรือไม่ก็ ออกหุ้นเพิ่มทุนก้อนใหม่ .. ฝั่งการขายหนี้ ก็คือการเอาเครดิตตัวเองไปขอยืมเงินคนอื่นมา
 .
• การระดมทุนด้วยการขายหนี้ก็มี 2 แบบหลัก ๆ คือ 1) กู้ยืมธนาคาร และ 2) ออกตราสารหนี้ไปขายนักลงทุน (ก็คือกู้ยืมนักลงทุนนั่นเอง)
 .
• การกู้ยืมธนาคาร โดยทั่วไปจะมีต้นทุนสูงกว่าการออกตราสารหนี้ ทำให้ยุคหลัง ๆ มานี้ บริษัทต่าง ๆ นิยมออกตราสารหนี้ทดแทนการกู้ยืมธนาคาร

 .
• ในการออกตราสารหนี้ก็ต้องมีการกำหนดดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้นักลงทุน (ซึ่งก็คือเจ้าหนี้นั่นเอง) โดยดอกเบี้ยนี้จะแปรตามระดับความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ ถ้าความน่าเชื่อถือสูง ดอกเบี้ยก็ต่ำ ถ้าสถานะดูไม่ดี ความน่าเชื่อถือต่ำ ดอกเบี้ยก็สูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงให้ผู้ลงทุน
 .
• โดยทั่วไป การออกตราสารหนี้ จะมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อมาวิเคราะห์ “ระดับความน่าเชื่อถือ” หรือ Credit Rating .. ซึ่ง Credit Rating ที่เสี่ยงน้อยที่สุดคือ “AAA” ลดหลั่นลงไปที่ “AA+” “AA” “AA-” “A+” … “D”
 .
• ตัวอย่างบริษัทที่มี Credit Rating “AAA” ณ วันที่ 12 ม.ค. 60 ถ้าออกตราสารหนี้อายุ 5 ปี จะต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 2.64% แต่หากมี Credit Rating ต่ำกว่า เช่น “A-” โดยเฉลี่ยก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 3.13% และหากมีอายุยาวขึ้น ดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น
 .
screenshot-188
(ข้อมูล Corporate bond yield curve จาก ThaiBMA)
 .
• ประเภทตราสารหนี้ที่บริษัทเลือกใช้ได้หลัก ๆ (มีแบบอื่นอีก แต่ขอไม่พูดถึง) ก็จะมี 1) Bill of Exchange หรือ ตั๋วแลกเงิน ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า B/E และ 2) หุ้นกู้ .. โดย B/E จะมีอายุไม่เกิน 9 เดือน และหุ้นกู้จะมีอายุ 1 ปีขึ้นไป
 .
• การระดมทุนระยะสั้นด้วย B/E เป็นทางเลือกที่บริษัทนิยม เพราะทำได้เร็ว มีขั้นตอนไม่มาก และจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้ (เพราะระยะเวลากู้ยืมสั้นไม่ถึงปี) .. โดยอัตราดอกเบี้ย B/E ก็จะแปรตามความน่าเชื่อของบริษัท .. บริษัทที่มี Credit Rating เมื่อจะออกขาย B/E นักลงทุนก็จะอิงตาม Credit Rating ของบริษัทนั้น ๆ
 .
• แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีการทำ Credit Rating เพราะ 1) การทำนั้นมีต้นทุน เพราะต้องจ้างให้ Rating Agency เข้ามาวิเคราะห์สถานะบริษัท และออกรายงาน ต่อให้สถานะแข็งแกร่ง ก็อาจจะไม่อยากเสียเงินส่วนนี้ และ 2) บางบริษัทรู้ว่า Credit Rating ตัวเองจะแย่ ทำไปก็ไม่สวย ต้นทุนดอกเบี้ยก็จะสูง จึงไม่ทำ .. B/E ที่ออกมาโดยไม่มี Credit Rating กำกับมาด้วย จะเรียกว่า “Non-rated B/E” หรือ ตั๋วแลกเงินที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
 .
Non-rated B/E ไม่สามารถขายให้ประชาชนรายย่อยธรรมดาได้โดยตรง ต้องขายให้สถาบัน หรือ นักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) เท่านั้น ด้วยเชื่่อว่าเป็นนักลงทุนกลุ่มที่มีศักยภาพในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือได้เอง และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
 .
Non-rated B/E ที่ขายให้สถาบัน จะรวมถึงการขายกองทุนรวมด้วย และกองทุนรวมสามารถทำกองทุนที่มี Non-rated B/E เป็นไส้ใน มาขายต่อให้ “นักลงทุนทั่วไป ที่ไม่ใช่ HNW” ได้ด้วย (กลต. ห้ามมีตราสาร Non-rated เกิน 15% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนนั้น) .. เท่ากับ นักลงทุนใด ๆ สุดท้ายแล้วก็มีโอกาสเจอ Non-rated B/E ได้เช่นกัน ผ่านการซื้อกองทุนรวม
 .
• ตามที่เล่าไปข้างต้นว่า บริษัทที่ออก Non-rated B/E ก็มีกลุ่มที่ฐานะการเงินไม่ดีรวมอยู่ด้วย เมื่อบริษัทเหล่านี้มีปัญหาในการชำระคืนหนี้ แล้ว Non-rated B/E นี้มาอยู่ในกองทุนรวม นักลงทุนก็จะเจอปัญหาในที่สุด คือไม่ได้รับคืนเงินต้นบางส่วน (ส่วนที่เป็น Non-rated B/E ที่มีปัญหา) หรือใช้เวลานานเป็นปี ๆ กว่าจะแก้ปัญหาจบและได้คืนเงิน
 .
• แม้กลต.จะจำกัดสัดส่วน Non-rated B/E ไว้ที่ 15% ของสินทรัพย์รวมของกองทุน แต่ถ้าส่วนนี้เสียหายไป ก็ถือว่าเสียหายหนักมาก สำหรับนักลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เพราะมักจะคาดหวังว่าจะได้เงินต้นคืน ภายในเวลาที่กำหนดชัดเจนแต่แรก โดยเฉพาะกองทุนประเภท Term Fund ที่รู้แต่แรกว่าวันไหนจะจบปิดกองได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทน
 .
ฝากถึงกองทุนรวม: อยากให้พิจารณาความน่าเชื่อถือสำหรับ Non-rated B/E อย่างเข้มข้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมาเข้ากองทุน
..
ฝากถึงนักลงทุน: ถ้ามีคนเสนอขายกองทุนรวมตราสารหนี้ ให้เช็คนิดนึงว่า มีพวก Non-rated หรือไม่ สัดส่วนเท่าไร และมีเจ้าไหนบ้าง .. ถามไปเลย ไม่ต้องอาย ถ้าเสียหายภายหลังจะอายกว่าที่ไม่ได้ถามแต่แรก .. พอเห็นชื่อบริษัทแล้ว ก็แวะไปดูงบการเงินเขาสักหน่อย ถ้าชัดเจนว่าแข็งแกร่ง ก็พอจะวางใจได้ แต่ถ้าก้ำกึ่งหรือไม่แน่ใจ ก็ต้องคิดให้หนัก
 .
• ทั้งนี้ Non-rated B/E มักออกโดยบริษัทขนาดกลางและเล็ก และไม่ได้มีจำนวนบริษัทมากนัก ความเสียหายที่จะเกิดกับระบบตลาดเงินตลาดทุนโดยรวมจึงมีจำกัด (ถ้าจะมี) ยังไม่ได้ลุกลามเป็น Systematic risk แต่อย่างใด ..  บริษัทที่มี Credit rating ดีงาม ฐานะการเงินแข็งแกร่ง กำไรสวย ๆ ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอย่างที่บอกว่าผู้ออก Non-rated B/E เองก็ไม่ได้แย่ทุกรายเสมอไป .. จึงขอให้นักลงทุนมีสติพิจารณา อย่า panic ด่วนตัดสินใจโดยยังไม่มีข้อเท็จจริง
 .
May the knowledge (and profit) be with you 🙂

(ad)

Categories: Investment Articles

Tagged as:

1 reply »

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *