เราคงจำกันได้ว่าในช่วงปี 2559 ภาครัฐและสถาบันการเงินได้รณรงค์ให้ประชาชนลงทะเบียนบริการ PromptPay (พร้อมเพย์) โดยผูกบัญชีธนาคารที่ต้องการใช้รับเงิน (จริง ๆ บริการนี้น่าจะชื่อว่า “พร้อมรับ” มากกว่า) ไว้กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชน โดยเมื่อจะมีรายการโอนเงินมาเข้าบัญชีนี้ ก็แค่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราให้กับต้นทาง ซึ่งจุดเด่นของบริการนี้ตามที่โฆษณากันไว้แต่แรกคือ “เงินเข้าบัญชีเร็ว” และ “ค่าธรรมเนียมต่ำมาก”
เคราะห์หามยามดี วันนี้ได้ลองเข้าเว็บ internet banking ของธนาคารที่ใช้งานเป็นประจำหลายค่าย ก็พบว่ามีเมนู “พร้อมเพย์” โผล่ขึ้นมาแล้ว จะช้าไปใย จึงถือโอกาสทดลองใช้บริการนี้มันซะเลย โดยบัญชีพร้อมเพย์ (ใช้รับเงิน) ของผมจะใช้ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) และมีบัญชีออมทรัพย์กับหลายธนาคาร เช่น ไทยพาณิชย์ (SCB) และกรุงศรีอยุธยา (Krungsri)
รอบแรก เป็นการทดสอบโอนจาก SCB มาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ BBL เป็นจำนวน 50,000 บาทปรากฎว่ารายการนี้ค่าธรรมเนียม “ศูนย์บาท” นั่นก็คือ ฟรีค่าโอน จากเดิมที่การโอนเงินข้ามธนาคารในจำนวนขนาดนี้จะเสียค่าโอนหลายสิบบาท
พอเงินออกจากต้นทางแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องไปเช็คที่ปลายทาง คือบัญชีพร้อมเพย์ ว่าเงินจะเข้าทันทีหรือจะช้าแค่ไหน ซึ่งผลคือ เงินเข้าแทบจะทันที ไม่มีดีเลย์ !!
รอบสอง ลองโอนจาก Krungsri มาเข้า BBL บัญชีพร้อมเพย์เจ้าเก่า
ลองด้วยยอดเงิน 50,000 บาทเช่นเดิม ปรากฎว่า Krungsri คิดค่าโอน 5 บาท (ขณะที่ SCB ไม่คิดเลย) แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าโอนข้ามธนาคารตามปกติที่คิดหลายสิบบาทอยู่ดี
ทีนี้ก็อยากรู้ว่า ถ้าโอนด้วยยอดที่ต่ำกว่านี้ จะคิดค่าโอนเท่าไร จึงลองที่ยอด 10,000 บาท ปรากฎว่า ค่าโอนเหลือ 2 บาท
แต่ 2 บาท ก็ยังถือว่าเสียค่าโอนอยู่ดี เลยลองลดจำนวนเงินลงอีก เหลือ 5,000 บาท ก็พบว่า คราวนี้จะฟรีค่าโอนแล้ว จึงถือโอกาสโอนจริงมันซะเลย 😀
และเช่นเคย ก็ต้องไปเช็คที่บัญชีพร้อมเพย์ปลายทาง ว่าเงินจะเข้าทันทีหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เงินโอนมาแทบจะทันทีเช่นกัน
สรุปว่า บริการพร้อมเพย์ (ที่จริง ๆ คือพร้อมรับ) เปิดใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้วแบบเงียบ ๆ ไม่ป่าวประกาศ ซึ่งทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินในภาพรวมลดต่ำลงกว่าการโอนเงินข้ามธนาคารแบบเดิมมาก และหลายกรณี โอนฟรี !!
ส่วนธนาคารต้นทางของผู้อ่านจะคิดค่าธรรมเนียมเท่าไร ก็น่าสนุกที่จะลองเล่นดูด้วยตัวเอง
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณภาครัฐและสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ร่วมใจกันพัฒนาและเปิดใช้บริการนี้ เพราะได้ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงไปได้มาก ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ ก็คือประชาชนโดยรวมนั่นเอง
-SJ@TIF-
Categories: Knowledge Resources