Knowledge Resources

จากพร้อมเพย์ สู่แบงก์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ

อ่านแต่ชื่อเรื่อง อาจจะงงว่า “พร้อมเพย์” กับข่าว “5 แบงก์ใหญ่ไทยที่มีความเสี่ยงเชิงระบบ” นั่นเกี่ยวกันอย่างไร ขอเฉลยแต่หัววันเลยว่า มีความเหมือนกันที่ “ชื่อ” ที่สร้าง “ความกังวล”

ส่วนของพร้อมเพย์นั้น แท้จริงเป็นระบบที่ตั้งใจทำให้ให้ “รับเงิน” ได้ง่าย ๆ โดยฝั่งผู้โอนเสียค่าธรรมเนียมโอนเงินน้อยลงมาก แต่อาจจะเป็นเพราะต้องการตั้งชื่อให้สวย จึงข้ามไปเล่นชื่อที่ฝั่งต้นทาง (พร้อมเพย์ = พร้อมจ่าย) และเมื่อชื่อสื่อถึงการจ่ายเงินหรือเสียเงินออกไปจากตัว (พร้อมจะเพย์) ผู้คนก็กังวล ถ้าตั้งว่า “พร้อมรับ” ก็น่าจะเข้าใจง่ายขึ้น ไม่ติดใจ เพราะตัวเองได้เงิน (พร้อมจะรับ) สมดังเจตนารมย์ของระบบ แค่ชื่ออาจจะไม่ปังแบบพร้อมเพย์

ส่วนการประกาศรายชื่อแบงก์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบทั้ง 5 แห่งนั้น ความจริงต้องไม่ลืมว่า การทำธุรกิจใด ๆ ย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจสถาบันการเงินที่มีการรวมศูนย์เอาธุรกิจที่มีความเสี่ยงเข้ามาไว้ด้วยกัน

ตามแนวทางสากลจึงกำหนดให้มีการกำกับดูแลแบงก์ขนาดใหญ่ที่มี “ความสำคัญ” ในระบบการเงินของประเทศ ซึ่งความสำคัญที่ว่า มีดัชนีชี้วัด 4 ด้านคือ

  1. ขนาดสินทรัพย์ (สินทรัพย์และรายการนอกงบดุล มีขนาดใหญ่แค่ไหน)
  2. ความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ (มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินทุน เกี่ยวพันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ มากแค่ไหน)
  3. ความทดแทนกันได้และโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน (ถ้าระบบงานล่มไปแห่งหนึ่งจะเสียหายต่อภาพรวมแค่ไหน)
  4. ความซับซ้อน (มีการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อนุพันธ์นอกตลาด และ เงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวเอง มากน้อยแค่ไหน)

แบงก์ใดถูกพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อข้างต้นในระดับที่สูง ก็จะถูกประกาศชื่อว่า “มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ” ซึ่งผลกระทบหลัก ๆ คือ จะต้องรักษาฐานทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความผันผวน แต่หากแบงก์ไหนที่มีอัตราส่วนฐานทุนเกินเกณฑ์อยู่แล้ว (รวมถึงตามเกณฑ์ใหม่นี้ด้วย) ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

(ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/235/38.PDF)

แต่ในความจริงคือ ทั้งแบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์นั้นได้เรียนรู้ หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมา จึงมีการปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น การรักษาอัตราส่วนทางการเงินก็มีความรัดกุมขึ้น มีความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยง และมีมาตรการพร้อมรับสถานการณ์ด้านลบได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

การตั้งชื่อ หรืออย่างน้อยการเผยแพร่ชื่อ ว่าทั้ง 5 แบงก์ “มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ” แม้จะเป็นศัพท์ที่คนในวงการเข้าใจกันดีว่ากำลังพูดถึง “Systematic risk” และไม่ได้ติดใจอะไร

แต่เมื่อ keyword “ความเสี่ยงเชิงระบบ” ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็ทำให้คนวงนอกส่วนใหญ่ เกิดความกังวล ว่า 5 แบงก์นี้มีปัญหาอะไร ทำไมแบงก์ชาติต้องหมายหัวระบุชื่อเสียชัดเจนขนาดนั้น

ถึงขนาดท่านนายกรัฐมนตรีต้องออกโรงชี้แจงด้วยตัวเองว่าไม่ต้องแตกตื่น

และเมื่อประกาศแบงก์ชาติในรูปข้างบนถูกเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 60 ผ่านไปหนึ่งวันคือ 26 ก.ย. 60 แบงก์ชาติก็ต้องออกแถลงข่าวต่อเนื่องไปทันที โดยใช้ชื่อว่า “แนวทางกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ” โดยท่านรองผู้ว่าการฯ ลงมาแถลงข่าวด้วยตัวเอง (ดูคลิปได้ในเว็บ bot.or.th)

(ที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2560/n4760t.pdf)

สรุปสั้น ๆ คือ ไม่เรียกว่า “มีนัยต่อความเสี่ยง” แล้ว แต่เรียกว่า “มีความสำคัญ” แทน ซึ่งก็เชื่อว่าจะทำให้ “คนวงนอกส่วนใหญ่” เข้าใจมากขึ้น และคลายกังวลลงไปได้

Categories: Knowledge Resources

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *