Investment Articles

เข้าใจ “กองทุนรวม” แบบครบ จบในตอนเดียว

บทความคัดสรรจากเว็บไซต์ https://thailandinvestmentforum.com โดย TIF

สินทรัพย์ที่คนปกติทั่วไปสามารถใช้ลงทุนได้นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1) สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical asset) เช่น ที่ดิน คอนโดมิเนียม งานศิลปะ นาฬิกา เครื่องประดับ กระเป๋า รถโบราณ และ 2) สินทรัพย์ทางการเงินซึ่งจับต้องไม่ได้ (Financial asset)

ในส่วนของสินทรัพย์ทางการเงิน ก็สามารถแบ่งได้หลายประเภท ตามระดับความเสี่ยงและระดับของผลตอบแทนที่เป็นไปได้

ซึ่งระดับความเสี่ยง ก็หมายถึง โอกาสที่ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา เช่น ราคาหุ้นที่ขยับขึ้นลงในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์

ส่วนระดับของผลตอบแทนที่เป็นไปได้ หมายถึง อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เงินปันผล และกำไรจากราคาหุ้น ซึ่งโดยทั่วไป ระดับความเสี่ยงและระดับผลตอบแทนที่เป็นไปได้ จะเป็นไปในทางเดียวกัน คือถ้าเสี่ยงมากขึ้น โอกาสได้ผลตอบแทนสูงก็มีมาก หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า

“High Risk, High Expected Return”

(สังเกตว่า ไม่ใช่ Take High Risk แล้วจะ Get High Return เสมอไป มันเป็นโอกาสหรือความคาดหวัง ที่จะได้ High Return)

พอเริ่มเห็นภาพแล้ว เราก็มาไล่เรียงกันเสียหน่อย ว่าสินทรัพย์ทางการเงินในโลกนี้ ที่นิยมลงทุนกันมีอะไรบ้าง พอเป็นตัวอย่าง

  1. ตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งก็คือเอกสารที่ภาครัฐออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงิน (เป็นหนี้) จากประชาชนและนักลงทุนทั่วไป ในด้านของความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืนนั้น อยู่ในระดับต่ำ เพราะภาครัฐมีความสามารถหารายรับจากเงินภาษีแถมยังสามารถกู้เงินใหม่มาใช้คืนเงินกู้เดิมได้ด้วย ในด้านของความผันผวนของราคาตราสารหนี้ชนิดนี้ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็จะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
  2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็คือเอกสารที่บริษัทเอกชนออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุน ซึ่งระดับความเสี่ยงว่าจะได้รับคืนเงินที่ให้กู้ยืมไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ ซึ่งในอดีตก็มีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวว่าเกิดการเบี้ยวหนี้ตราสารหนี้ เช่นนั้นแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงแตกต่างกันไปตามระดับความน่าเชื่อถือ (ว่าจะสามารถใช้หนี้คืนได้ครบถ้วน) ของบริษัทผู้กู้ยืม ตัวอย่างเช่น การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงสุด (ระดับ AAA) อายุ 10 ปี จะได้ผลตอบแทนประมาณ 3.5% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำลงมา (เช่นระดับ A) อายุ 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 3.88% ต่อปี
  3. หุ้นสามัญ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หุ้น” คือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของในธุรกิจ ราคาหุ้นสามัญโดยเฉพาะที่สามารถซื้อขายกันได้ในตลาดหลักทรัพย์นั้นก็จะขยับขึ้นลงได้รายวัน เปลี่ยนไปตามปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่เข้ามากระทบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การควบรวมธุรกิจ การประกาศกำไรขาดทุน และเมื่อมีปัจจัยมากมายที่รายล้อมอยู่ ความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นสามัญจึงมีสูงมาก เพียงข้ามคืนสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงหลักสิบเปอร์เซนต์ ทั้งในฝั่งได้กำไรและขาดทุน แต่กระนั้น ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นสามัญ ของธุรกิจที่มีการเติบโต ก็อาจสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงมาก ไม่ใช่แค่หลักสิบเปอร์เซนต์ แต่ว่ากันที่หลัก “หลายเท่าตัว” (หนึ่งเท่าตัวคือการได้ผลตอบแทน 100%) นักลงทุนจำนวนมากสามารถเปลี่ยนชีวิตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งที่จากเคยรวยเป็นหมดตัว และที่จากจนเป็นรวยมหาศาล ก็เพราะการลงทุนในหุ้นสามัญนี่เอง

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ “การลงทุนโดยตรง” ในสินทรัพย์ทางการเงิน หมายถึงว่า เราจะสามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ได้เป็นรายตัวชัดเจน เช่น ซื้อหุ้น 10 หุ้น ซื้อเงินปอนด์ 10 ปอนด์ แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์เป็นรายตัว หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์หลายตัวพร้อม ๆ กัน เช่น หุ้น 100 ตัว หรือต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่กำหนดว่าต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินสูง เช่น ตราสารหนี้เอกชนบางตัวต้องซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถซื้อลงทุนได้จริงตามที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของการลงทุนในกองทุนรวม

“กองทุนรวม คือการจับเอาสินทรัพย์ทางการเงินหลายตัวมารวมกัน แล้วแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อให้นักลงทุนเลือกซื้อลงทุนได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง”

เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้เอกชน ซึ่งประกอบด้วยตราสารหนี้เอกชน 10 ตัว ตัวละ 10 ล้านบาท เท่ากับว่ากองทุนรวมนี้มีมูลค่าทรัพย์สินไส้ใน 100 ล้านบาท แล้วก็ซอยย่อยก้อนสินทรัพย์ 100 ล้านบาทนี้ ออกเป็นหน่วยลงทุนย่อย ๆ หน่วยละ 10 บาท จำนวน 10 ล้านหน่วย เท่ากับว่า นักลงทุนที่มีเงินเพียง 10 บาท ก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของก้อนสินทรัพย์นี้ได้แล้ว ไม่ต้องรอให้มีเงิน 100,000 บาท หรือ 10 ล้านบาท และเนื่องจากกองทุนรวมนั้นสามารถมีไส้ในได้หลากหลายประเภท

“ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังได้ ก็จะแปรไปตามสินทรัพย์ไส้ในของกองทุนรวมนั้น”

จึงพลาดไม่ได้ ที่จะอธิบายลงรายละเอียดกันหน่อย ว่ากองทุนรวมแต่ละประเภท มีอะไรบ้าง

(1) กองทุนรวมตราสารหนี้ตลาดเงินหรือ Money Market  กองทุนประเภทนี้จะเน้นถือตราสารหนี้ภาครัฐประเภทที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น พันธบัตรรัฐบาล (เงินที่รัฐบาลกู้ยืมจากนักลงทุนทั่วไปเพื่อไปใช้ในการพัฒนาประเทศ), พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (เงินที่แบงก์ชาติกู้ยืมจากนักลงทุนเพื่อไปใช้บริหารระบบการเงินของประเทศ) และสาเหตุที่กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำที่สุดก็เพราะว่ามีลูกหนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับสูงมาก โอกาสเบี้ยวหนี้แทบจะเป็นศูนย์ แถมยังเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการแกว่งขึ้นลง กองทุนในประเภทนี้จะได้รับผลกระทบน้อยแต่มาก กองทุนประเภทนี้จึงให้ผลตอบแทนต่ำมาก เช่น 1-2% ต่อปี (แต่ก็ยังสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์อยู่ดี)

(2) กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวม Money Market อยู่บ้าง เนื่องจากมีการลงทุนในตราสารหนี้เอกชน (เงินที่บริษัทเอกชนกู้ยืมจากนักลงทุนเพื่อไปประกอบธุรกิจ) ผสมกับตราสารหนี้ภาครัฐ เมื่อรวมกันทั้งก้อนแล้ว จึงมีโอกาสที่จะถูกเบี้ยวหนี้สูงกว่ากองทุนที่มีแต่ตราสารหนี้ภาครัฐล้วน ๆ และกองทุนประเภทนี้มักจะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่าหนึ่งปี จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยในตลาดมากขึ้นไปอีก แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน เช่น 2-5% ต่อปี

(3) กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในตราสารทุนหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าหุ้น ซึ่งก็คือการร่วมเป็นเจ้าของในธุรกิจ กองทุนประเภทนี้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงถึงสูงมาก เช่นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หรือเป็นเท่าตัวในเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน ยามที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ กองทุนประเภทนี้ก็ขาดทุนมากเช่นกัน แต่ในระยะยาวแล้ว กำไรของธุรกิจก็มักจะเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาของการลงทุนในหุ้นอยู่ในระดับ 15-17% ต่อปี (อ้างอิง: TIF)

นอกจากนั้นก็ยังมี (4) กองทุนรวมแบบผสม ที่รวมสินทรัพย์หลายประเภทข้างต้นเข้าด้วยกัน ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น ตราสารหนี้ระยะยาว และหุ้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ล้วน ๆ แต่ก็ไม่เสี่ยงสูงเหมือนกับการลงทุนในหุ้นแบบเต็มตัว โดยช่วงไหนตลาดหุ้นดูดี ก็เน้นถือหุ้นเยอะ ๆ เพื่อหวังผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ช่วงไหนตลาดหุ้นร่วงยาว ก็ไปเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนแทน

และหากเน้นไปที่ตลาดหุ้น ก็จะมีการแบ่งหุ้นออกเป็นหมวดอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจการเงิน ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านสุขภาพ โดยหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มักจะมีแนวโน้มคล้าย ๆ กัน จึงมี (5) กองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Sector Fund ด้วยเช่นกัน และเนื่องจากในบางช่วงเวลา บางกลุ่มอุตสาหกรรม จะอยู่ในวัฎจักรขาขี้นทำให้หุ้นกลุ่มนี้มีผลตอบแทนสูงกว่าตลาดโดยรวมมาก จึงทำให้กองทุน Sector Fund มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป แต่ Sector Fund ลงทุนกระจุกตัวเฉพาะหุ้นในอุตสาหกรรมเดียว จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนหุ้นทั่วไปเช่นกัน

กองทุนประเภทถัดมาคือ (6) กองทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีกต่อหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นกองทุนของกองทุน (Fund of Funds) ไส้ในของกองทุนประเภทนี้จะเป็นกองทุนที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม สนามบิน ออฟฟิศ หรือระบบโทรคมนาคม และได้รับรายได้จากค่าเช่าสินทรัพย์เหล่านั้น และเนื่องจากค่าเช่าจะมีความสม่ำเสมอ ผู้ที่ลงทุนจึงมักจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอในอัตราประมาณ 5-8% ต่อปี กองทุนประเภทนี้มีความซับซ้อนของโครงสร้างกองทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นนำกระแสเงินสดในอนาคตทั้งหมด มาคำนวณเป็นมูลค่าในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่ธุรกิจสามารถคาดการณ์รายได้ในอนาคตได้ค่อนข้างชัดเจน ความผันผวนของราคาจึงต่ำกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป

กองทุนประเภทสุดท้ายคือ (7) กองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ หรือ น้ำมันดิบ ซึ่งราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลกที่มีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ กองทุนประเภทนี้จึงถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด แต่ก็เปิดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงมากเช่นกัน หากอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น

ที่มา: https://www.treasurist.com/article/art007_fundtype01

และนอกจากจะแบ่งกองทุนตามมิติด้าน High Risk, High Expected Return แล้ว เรายังสามารถแบ่งประเภทกองทุนได้อีก 2 มิติ ได้แก่ การได้รับสิทธิทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ประเทศหรือภูมิภาคที่กองทุนไปลงทุน

กองทุนรวมที่ได้รับสิทธิทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Tax deduction fund) ในประเทศไทยนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ก็คือ

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long Term Equity Fund ที่เรียกสั้น ๆ ว่า LTF ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และต้องถือไว้ให้ครบถามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย ซึ่งปัจจุบันคือ 7 ปีปฏิทิน หากขายออกมาก่อนกำหนด ก็จะต้องชดใช้ภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปแล้วกลับคืนให้กรมสรรพากรด้วย

และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund ที่เรียกสั้น ๆ ว่า RMF กองทุนประเภทนี้ ลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ไม่จำกัดแต่เฉพาะหุ้นเท่านั้น จึงสามารถเลือกซื้อได้ตามประเภทสินทรัพย์ที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็น RMF ตราสารหนี้ RMF แบบผสม หรือ RMF ทองคำ แต่กองทุน RMF นี้ ก็มีเงื่อนไขในการถือลงทุนว่าจะสามารถขายได้ก็ต่อเมื่อถือลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ไม่เช่นนั้นจะต้องชดใช้ภาษีกลับคืนไปด้วยเช่นเดียวกับ LTF

ดังนั้นแล้ว มนุษย์เงินเดือนชาวไทย จึงนิยมลงทุนใน LTF มากกว่า RMF หลายเท่าตัว ด้วยความที่สามารถขายออกมาได้เร็วกว่า แต่จริง ๆ แล้ว ขอแนะนำให้สะสมกองทุน RMF ควบคู่กันไปด้วย เพราะสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง การซื้อ LTF อย่างเดียวอาจจะไม่คณามือ ยังคงเหลือสิทธิทางภาษีให้ใช้ได้อีก และการลงทุนใน RMF จะเป็นหลักประกันฐานะและคุณภาพชีวิตในระยะยาวให้กับเราได้อย่างแท้จริง

นอกจากมิติด้านภาษีแล้ว ยังมีมิติถิ่นที่อยู่ของสินทรัพย์ด้วย กองทุนรวมในยุคปัจจุบันมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกองทุนอีกต่อหนึ่ง กองทุนในประเทศไทยจึงมีลักษณะเป็นตัวป้อน (feeder fund) เงินไปให้กองทุนที่แท้จริงในต่างประเทศ สินทรัพย์ที่กองทุนนิยมไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ และ กองทุนหุ้น ส่วนภูมิภาคหรือประเทศที่นิยมไปลงทุน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เอเซีย อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ กองทุนที่กระจายการลงทุนไปทั่วโลกในกองเดียวกัน

เหตุที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในแต่ะพื้นที่ของโลกมีความต่างกัน ในบางช่วงเวลาบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เช่น จีน แต่ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราที่ต่ำ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศจีน จึงได้รับความนิยม หรือในบางช่วงเวลา เศรษฐกิจของบางกลุ่มประเทศเริ่มที่จะฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำ เช่น ยุโรป ทำให้มีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ยุโรปตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงกล่าวได้ว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ช่วยให้นักลงทุนในประเทศมีทางเลือกมากขึ้น ลงทุนได้ง่ายขึ้น เมื่อเห็นโอกาส ณ ที่ใดในโลก ก็สามารถเลือกซื้อลงทุนได้ทันที

และเนื่องจากกองทุนรวมเป็นบริการ ก็จึงต้องมีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจ ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่นักลงทุนต้องเจอ ซึ่งขอเรียงลำดับตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนจบ ดังนี้

  1. ค่าธรรมเนียมในการขายหน่วยลงทุน (Front-end fee) คือเงินที่นักลงทุนต้องจ่ายให้บริษัทจัดการ/ตัวแทนขาย เมื่อเริ่มเข้าซื้อกองทุน โดยค่าธรรมเนียมประเภทนี้ไม่ได้เรียกเก็บกันทุกกอง
  2. ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management fee) ซึ่งบริษัทจัดการจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายหักออกจากกองทุนอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นรายได้หลักของบริษัทจัดการก็ว่าได้ โดยบริษัทจัดการจะนำเงินส่วนนี้ไปเป็นเงินเดือนของผู้จัดการกองทุน พนักงานทั้งหมด รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปค่าธรรมเนียมนี้จะอยู่ช่วง 0.10% – 2.00% ต่อปี แล้วแต่ระดับความเสี่ยงและความซับซ้อนของกองทุน
  3. ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Custodian fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ตัวกองทุนต้องจ่ายให้สถาบันการเงินคู่สัญญาเพื่อรับบริการเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน เช่น หุ้น เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ โดยทั่วไปจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ในช่วง 0.02%-0.10% ต่อปี
  4. ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Registrar fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่กองทุนต้องจ่ายให้ผู้ดูแลรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ให้เกิดความถูกต้องครบถ้วนเมื่อเกิดการซื้อขายหน่วยลงทุน โดยอัตราค่าธรรมเนียมจะอยู่ในช่วงประมาณ 0.05%-0.10% ต่อปี
  5. ค่าธรรมเนียมในการรับซื้อคืน (Back-end fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการคิดจากผู้ลงทุน เมื่อผู้ลงทุนสั่งขายกองทุน

จะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวม มีค่าใช้จ่ายหลายประเภทเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ลงทุนจึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีและคิดค่าธรรมเนียมเหมาะสม

“แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้กองทุนไหนจะคิดค่าธรรมเนียมสูง แต่หากสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำ (ในกองทุนประเภทเดียวกัน) ก็อาจจะน่าสนใจกว่าก็ได้ คือนักลงทุนต้องพิจารณาที่ Net Return เป็นสำคัญ”

เมื่อถึงจุดนี้ ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วกองทุนรวมเด่นกว่าการลงทุนเองตรง ๆ อย่างไร ซึ่งต้องบอกว่า มีข้อเด่นในหลายด้าน ดังนี้

  1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ที่ทำกองทุนมาเสนอขาย เป็นบริษัทมืออาชีพในวงการ มีบุคคลากรชั้นนำมากมาย มีระบบงานที่ดีเพียงพอในการบริการ มีข้อมูลมากมายมหาศาลทั้งจากในและต่างประเทศ และที่สำคัญคือ ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้ทำธุรกิจได้ จึงมั่นใจได้ว่า เงินลงทุนของเรา จะปลอดภัยไม่โดนโกง
  2. กองทุนรวมแต่ละกอง ได้รับการดูแลอย่างดีโดยผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager ซึ่งเป็นกลุ่มเทพในสายงานการลงทุน ที่มีประสบการณ์ ความรู้ และคุณวุฒิขั้นสูง แถมยังเป็นผู้ที่ผ่านด่านการพิจารณาอนุญาตของภาครัฐมาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีทีมนักกลยุทธ์ลงทุน ทีมนักวิเคราะห์คอยสนับสนุนด้วย
  3. ถ้าเราเป็นคนธรรมดาที่มีเงินหลักหมื่น หลักแสน แต่อยากเป็นเจ้าของโรงงานมูลค่าหลายพันล้าน หรืออยากซื้อหุ้นกู้ที่ขายกันทีอย่างน้อยหลายสิบล้าน ตามปกติแล้วเราคงได้แต่ฝัน แต่กองทุนรวมสามารถเปิดโอกาสให้เราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาก ๆ แบบนั้นได้ ผ่านการลงทุนในหน่วยย่อย ๆ ของกองทุนรวม
  4. การลงทุนบางอย่างไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าจะไปลงทุนเองก็มีขั้นตอนยากลำบากมาก เช่น การซื้อหุ้นเจ๋ง ๆ ในต่างประเทศ อย่างหุ้น Apple Google หรือโรงแรม 7 ดาวกลางกรุงลอนดอน แต่เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้นแทนเราได้
  5. ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ “ตัวกองทุน” ได้รับ เช่น รายได้จากเงินปันผล ดอกเบี้ย และกำไรจากส่วนต่างราคา ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (กองทุนรวมมีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ใช่บริษัท) เท่ากับว่า ใครที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมไปยาว ๆ จะได้ผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ ถ้ากองทุนจ่ายปันผลออกมาให้ “ตัวบุคคล” บุคคลนั้นจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% แต่ถ้าตัวบุคคลขายกองทุนแล้วได้กำไร ก็ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ
  6. ไม่ว่าเรามีความชอบแบบไหน สนใจการลงทุนแห่งใดในโลก ก็มีกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ เป็นตัวเลือกให้เราได้แทบจะครบทุกความต้องการ
  7. ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้ความเข้าใจดีพอที่จะลงทุนด้วยตนเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลามากพอในการดูแลเงินลงทุนแต่ละตัวด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินทองมากพอที่คุ้มค่าเสียเวลาในการมาบริหารเงินทองด้วยตนเอง เพราะเรายังต้องตั้งใจทำงานประจำซึ่งกินเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน และต่อให้เรามีความรู้ดีพอ มีเวลามากพอ และมีเงินมากพอ เราก็มีความถนัดความเชี่ยวชาญสุด ๆ ได้เพียงไม่กี่ด้าน หากเราทุ่มเทพลังและเวลาไปในเรื่องที่เราถนัดที่สุด ก็จะเกิดผลลัพธ์สุดยอดกับตัวเองและสังคมโดยรวม เปรียบเหมือนกับเราไม่เย็บเสื้อใส่เอง เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่าและงานดีกว่า หรือการไม่ทำอาหารเอง เพราะไปทานที่ร้านหรือซื้อสำเร็จมาทาน มันสะดวกกว่า มีตัวเลือกมากกว่า และร้านดี ๆ ก็มักจะทำอร่อยกว่า ดังนั้น

“การลงทุนในกองทุนรวม จึงเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้คนที่เชี่ยวชาญที่สุด ได้ทำงานแทนเรา แถมมักได้ผลดีกว่าเราทำเอง ให้เราไปใช้ชีวิตด้านที่ถนัดได้เต็มที่ การเลือกใช้วิธีลงทุนผ่านกองทุนรวม จึงเป็นการบริหารชีวิตได้อย่างชาญฉลาด”

แต่กระนั้น การรู้จักตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างทะลุปรุโปร่ง

“ก็ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักตัวเอง”

ซึ่งอาจจะแบ่งประเด็นที่ควรตรวจสอบตัวเองได้เป็น 3 ด้านดังนี้

  1. ช่วงอายุของเราเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุน วัยรุ่น ซึ่งมักจะมีความรู้และประสบการณ์จำกัด รวมทั้งมีเงินลงทุนไม่มาก ก็ควรลงทุนในเรื่องที่มีความซับซ้อนไม่มาก และไม่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเยอะ เน้นไปที่การศึกษาหาความรู้ สั่งสมประสบการณ์ คนวัยทำงาน ที่รายได้เริ่มจะเติบโตไปตามตำแหน่งและประสบการณ์ หรือคนที่เริ่มจะมีเงินออมมากพอสมควรแล้ว ก็ควรขยับไปลงทุนในเรื่องที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องใช้เงินเป็นก้อนมากขึ้น โดยคนในช่วงวัยนี้ ควรเน้นไปที่สร้างฐานะให้เติบโตอย่างเต็มที่ เช่น เน้นลงทุนในกองทุนหุ้นในสัดส่วน 40-60% ส่วนคนทำงานรุ่นอาวุโสที่มีเงินออมมากแล้ว และยังมีรายได้ประจำ แม้จะยังต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของฐานะ แต่ก็ควรจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่วัยเกษียณ โดยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนที่มีความแน่นอนให้มากขึ้น เช่น เน้นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และเมื่อเข้าสู่วัยอาวุโสที่ไม่มีรายได้ประจำจากการทำงานเข้ามาเพิ่มแล้ว แต่มีเงินออมจำนวนมาก ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสม่ำเสมอ สร้างรายได้ประจำจากเงินลงทุน เพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิตให้สะดวกสบายและการรักษาพยาบาล
  2. นอกจากนั้นนอกจากนั้นการเลือกลงทุนยังต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับระดับความรู้ความเข้าใจ เช่นเคยฝากแต่ออมทรัพย์ ก็ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะวิ่งไปซื้อกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ หรือกองทุนหุ้นรายหมวดอุตสาหกรรม เพราะการฝืนลงทุนในสิ่งที่ยังไม่รู้จริง ถ้าได้กำไรก็คือโชคดี แต่ถ้าขาดทุนก็คงต้องโทษตัวเอง
  3. และการเลือกลงทุนยังต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับจริตความชอบของเราด้วย เช่น เราเป็นคนกลัวความเสี่ยงมาก ชีวิตเจอความไม่แน่นอนเมื่อไหร่ถึงกับนอนไม่หลับ ก็ควรจะรู้ตัวว่าเราไม่เหมาะกับกองทุนหุ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมพิจารณาถึงเป้าหมายการสร้างฐานะของเรา หากหวังสูงแต่ลงทุนเฉพาะสิ่งที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากก็ไม่มีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้

จึงอาจพูดได้ว่า การเลือกลงทุนในกองทุนรวม ต้องพิจารณาทั้ง “willingness” (ความชอบที่จะลงทุน) และ “ability” (ความสามารถในการลงทุน) ไปพร้อมกัน

และเมื่อรู้เขา และรู้เรา ได้อย่างครบถ้วนแล้ว ชัยชนะทางการเงินก็ไม่หนีไปไหนอย่างแน่นอน

ส่วนใครที่สนใจซื้อกองทุนรวมแบบไม่ต้องออกแรงเยอะ แต่มีกองทุนเด่นนับร้อย จาก 8 บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำ มาให้เลือกลงทุน ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก TMB Advisory บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุนสำหรับทุกคน พร้อมคัดกองทุนตัวท็อป มาให้คุณเลือกช้อป ง่ายๆครบจบในที่เดียว รายละเอียดเพิ่มเติม https://tmbbank.com/TIF/TMBADVISORY หรือ ถ้ากำลังมองหาคำแนะนำ ฟรี แบบไม่มีค่าใช้จ่าย นัดหมายใช้บริการ TMB Advisory Room ที่ปรึกษาส่วนตัวด้านการลงทุนได้ที่ https://www.tmbbank.com/tmbadvisory-room

ที่มา: TIF https://thailandinvestmentforum.com/

[Special Content ]

Categories: Investment Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *