Digital Asset

Bitcoin (และผองเพื่อน) ฟื้นขึ้นมาแค่ไหนแล้ว และ Bitcoin ยังเป็นพี่ใหญ่ในวงการอยู่หรือเปล่า

เข้าปีใหม่มาไม่ถึงหนึ่งเดือน มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นกับวงการ Digital Assets (เดี๋ยวจะอธิบายยาวในตอนท้าย ว่าทำไมไม่อยากเรียก Digital Currency) ลองมาย้อนดูเรื่องราวและเช็คสถานการณ์ล่าสุดกันหน่อย เฉพาะในเดือนนี้ที่ผ่านมาแค่ประมาณ 20 วัน

หลังจากทำจุดสูงสุดที่มูลค่าตลาดรวม 8.34 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา Digital Assets ทั่วโลกกว่า 1,400 สกุล ก็พากันร่วงหนัก จนมูลค่าตลาดรวมลงมาแตะจุดต่ำสุด (ในช่วงเดือนนี้) ที่ 4.32 แสนล้านเหรียญ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 61 นั่นหมายความว่า แค่ 10 วัน ความมั่งคั่งจากการถือครอง Digital Assets หายไป 48% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง

ส่วนล่าสุด ณ วันนี้ 20 ม.ค. 61 คือผ่านมาประมาณ 2 สัปดาห์จากสุดสูงสุด และ 3 วันจากจุดต่ำสุด (ของเดือนนี้) มูลค่าตลาดรวมกลับขึ้นมาอยู่ที่ 6.26 แสนล้านเหรียญ หรือยังร่วงอยู่ 25% จากจุดสูงสุด แต่กระนั้น ก็เท่ากับว่าได้เพิ่มขึ้นมาแล้ว 45% จากจุดต่ำสุด

และนอกจากสถานการณ์ภาพรวมแล้ว ก็จะขอแสดงสถานะว่า Bitcoin — ที่ผู้คนมักจะใช้เรียกแทน Digital Assets ทั้งหมดไปแล้ว (เหมือนเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า Mama เรียกเครื่องถ่ายเอกสารว่า Xerox) — มีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ในบรรดา Digital Assets ทั้งปวง

จาก “Dominance chart” ด้านล่าง จะเห็นว่า แต่ไหนแต่ไร มูลค่าตลาดของ Bitcoin กินสัดส่วนเกิน 80% มาโดยตลอด แต่เมื่อเข้าต้นปี 2560 เป็นต้นมา Digital Assets ตัวอื่น ๆ กลับมีราคาวิ่งขึ้นมาในอัตราที่แซง Bitcoin ไปหลายขุม — คือ Bitcoin ก็วิ่งแรงนะ แต่ยังสู้อีกหลายตัวไม่ได้ —  ทำให้ ณ ปัจจุบัน สัดส่วนมูลค่าตลาดของ Bitcoin เหลือแค่ 35% โดยมี Ethereum ไล่ขึ้นมาเป็น 18% Ripple 10% Bitcoin Cash (แยกสายออกมาจาก Bitcoin เมื่อปีก่อน) 5% จึงคิดว่า ถ้าจะพูดถึง Digital Assets ในภาพรวม ก็สมควรที่จะเรียกว่า “Digital Assets” ไม่ใช่เรียกว่า Bitcoin 

และที่เกริ่นไว้ตอนต้น ว่าทำไมถึงอยากเรียกว่า “Digital Asset” แทนที่จะเรียก “Digital Currency” หรือ “Cryptocurrency” เพราะหากเราดูกันที่นิยามแล้ว “Asset” คือ “ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะจับต้องได้หรือไม่ได้ ซึ่งสามารถเป็นเจ้าของได้ ใช้ทำประโยชน์ได้ และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ (ซึ่งเงินสดเองก็เป็น Asset อย่างหนึ่ง) .. ในขณะที่ “Currency” เป็น Asset อย่างหนึ่ง “ที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน” (อ้างอิงจาก https://en.wikipedia.org)

เราถือหุ้น เรารู้ว่าหุ้นเป็น Asset และหุ้นก็มีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ แต่เราไม่บอกว่าหุ้นเป็น Currency เพราะจุดประสงค์หลักของมันไม่ได้มีไว้เพื่อใช้แลกเปลี่ยน แต่มีไว้ถือเพื่อหวังประโยชน์ในอนาคต  .. ถ้ามองแบบนี้ จะเข้าใจลักษณะของ Digital Assets ได้ดีขึ้น แถมไม่ต้องเถียงกันว่ามันเป็น Currency หรือเปล่า ไม่ต้องเถียงกันว่าถ้าเป็น Currency แล้วทำไมไม่มีร้านค้ารับชำระเงินอย่างแพร่หลาย .. และต้องไม่ลืมว่า เราไม่เห็นร้านค้ายอมรับให้ใช้หุ้นในตลาดมาชำระค่าสินค้าแต่อย่างใด (ไม่นับการออกหุ้นใหม่หรือใช้หุ้นมาชำระในกรณีควบรวมกิจการ)

บางคนอาจจะนึกแย้งว่า ไม่น่าจะเอา Digital Assets ไปเทียบกับหุ้นได้ เพราะหุ้นมีกำไรของกิจการเป็นตัวอ้างอิง และหุ้นมีการจ่ายปันผล (ซึ่งหุ้นหลายตัวก็ไม่ได้จ่ายปันผล) .. ก็ต้องอธิบายว่า Digital Assets หลายตัว โดยเฉพาะที่ออกมาด้วยกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) นั้นอ้างอิงกับผลประกอบการของบริษัทที่เสนอขาย ICO แถมยังมีโอกาสจ่ายปันผลเป็น Digital Assets นั้น หรือตัวอื่น ๆ ได้ด้วยในภายหลัง

แถมหุ้นบางตัว ขาดทุนติดกันหลายปี สินทรัพย์ก็ไม่ได้มากมาย มีราคาตลาดเป็นหลายเท่าของสินทรัพย์ (Price/Book ratio >>> 1)  และหลายกรณีก็มีการพุ่งขึ้นของราคาซะด้วย ตามความคาดหวังของนักลงทุน .. เท่ากับว่า การที่ราคาผันผวนและการไม่มีกำไรรองรับ ไม่ได้ทำให้ Asset สูญเสียความเป็น Asset ตราบใดที่แต่ละขณะมันมีราคาบอกได้ว่าเท่าไร สามารถถือครองได้ และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ (Digital Assets มีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกให้แลกเป็นเงินวดสกุลท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ ได้)

และบางคนก็อาจจะนึกแย้งต่อว่า Digital Assets บางตัวไม่ได้อิงกับกำไรของอะไรเลยซะหนอย เช่น Bitcoin ซึ่งก็จริง .. แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อถามขึ้นมาว่า “ราคาสินทรัพย์ทั่วไปนั้นกำหนดมาจากไหน?” เราจะตอบได้ชัดเจนรวดเร็วมากว่า “ก็มาจาก Demand-Supply” ซึ่ง Digital Assets ก็มี Demand และ Supply จนกลายเป็นราคาตลาดที่ถามเมื่อไรก็ตอบได้ว่าเท่าไร แต่กลับมีหลายคนบอกว่า “หลัก Demand-Supply ซึ่งเป็นที่มาของราคาตลาดนี้ ใช้ไม่ได้กับ Digital Asset” !! ซึ่งค่อนข้างไม่มีเหตุผล เพราะเราเห็นชัดเจนว่ามี Demand ซึ่งดูจากแรง Bid ในตลาดซื้อขายต่าง ๆ และเราก็วัดได้จัดเจนว่ามี Supply อยู่เท่าไรในแต่ละขณะ ทั้ง Global Supply และแรง Offer ในตลาดซื้อขายแต่ละแห่ง ไม่ได้ต่างอะไรกับสินทรัพย์อื่น ๆ

แต่ไม่ว่าเราจะเรียก Bitcoin, Ethereum, Ripple และผองเพื่อน ว่าเป็นอะไร .. จะ Assets หรือจะ Currency .. ถ้าหากเราเข้าไปถือครองมันในเวลาที่ “ถูกต้อง” เมื่อเวลาผ่านไปก็จะ “ได้กำไร” และเมื่อเราพอใจในกำไรแล้ว ก็สามารถขายเพืื่อเปลี่ยนเป็นเงินได้ตามต้องการ แต่ถ้าเข้าไปถือครองผิดเวลา ก็จะขาดทุน .. ไม่ต่างจากธรรมชาติของการถือครองสินทรัพย์อื่น ๆ แต่อย่างใด

• กราฟทั้งหมด จาก coinmarketcap.com
• ส่วนท้าย ๆ ของบทความนี้ ไม่ได้ชี้นำไปในทางที่ว่า Digital Assets ไม่เสี่ยง (จริง ๆ คือเสี่ยงทั้งราคาที่ผันผวนสูงในระยะสั้น และเทคโนโลยีที่อาจถูก Disrupt ได้ในอนาคต) หรือตลาดแลกเปลี่ยนมีความน่าเชื่อถือเต็มที่ (ซึ่งหลายแห่งก็มีปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบและการถูกแฮ็ค)  .. แต่เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงลักษณะพื้นฐานของ Digital Assets ให้ชัดเจนขึ้น

Categories: Digital Asset

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *