Digital Asset

ICO | สิ่งที่อยากเห็นใน Whitepaper ในฐานะนักลงทุน

จากการที่เคยลงทุนใน ICO (Initial Coin Offering) ในต่างประเทศมาบ้าง ขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง

มีความเห็นว่า ICO นั้นมีประโยชน์อยู่ที่การเป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุนของบริษัท และทางเลือกสำหรับการลงทุนของรายย่อย

แต่จุดอ่อนซึ่งเป็นความเสี่ยงตัวโต ๆ ของ ICO ก็คือการเปิดเผยข้อมูลใน Whitepaper (คล้าย ๆ แบบ Filing แต่เป็นแบบที่ลดรูปลงมา) รวมถึงการอัปเดทความคืบหน้าของธุรกิจหลังจากระดมทุนเสร็จแล้ว ที่มักจะเปิดเผยน้อย และยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานว่าต้องครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง

การทำ IPO ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ผู้ระดมทุน (ว่าที่บริษัทจดทะเบียนใหม่) จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ Filing ของสำนักงาน กลต. ว่าจะต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง ว่ากันไปตั้งแต่วัตถุประสงค์การใช้เงิน (เอาเงินไปทำอะไร) > ลักษณะการประกอบธุรกิจ > ปัจจัยความเสี่ยง > ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ > โครงการในอนาคต > รายละเอียดหุ้นและผู้ถือหุ้น > โครงสร้างการจัดการ > การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง > ข้อมูลทางการเงิน (งบการเงินที่ผ่านมา) > ที่มาของการกำหนดราคาหลักทรัพย์ที่จะ IPO > ข้อมูลทางการเงินประกอบการประเมินราคา > การจอง และการจัดสรหุ้น > ประวัติกรรมการและผู้บริหาร เป็นต้น .. ส่วนของจริงฉบับเต็มนั้นดูได้จากรูปนี้

(หัวข้อฉบับเต็มของแบบ Filing ของบริษัทที่กำลังทำ IPO แห่งหนึ่ง: ข้อมูลจาก sec.or.th)

 

ส่วนการทำ ICO นั้นเป็นการเปิดเผยข้อมูล “ตามใจ” ผู้ระดมทุน .. และเมื่อ ICO เปิดเผยข้อมูลอย่างจำกัด คนที่สนใจลงทุนก็ประเมินมูลค่าไม่ได้ เนื่องการประเมินมูลค่าจะพิจารณาจากทั้งฝั่งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ และเมื่อประเมินมูลค่าไม่ได้ ก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนเพื่อเก็งกำไรเป็นหลัก และพร้อมกันนั้น ก็เป็นการจำกัดโอกาสลงทุนของกลุ่มที่สนใจตัวธุรกิจจริง ๆ เพราะเค้าก็จะไม่กล้าลงทุนแต่แรก เนื่องจากมองธุรกิจไม่ออก

ICO นั้นมีจุดเด่นที่ความเป็นอิสระของทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน แต่หาก Whitepaper สามารถให้ข้อมูลได้เพิ่มขึ้น เป็นมาตรฐานขึ้น ไม่ต้องถึงขนาด Filing — เพราะบางหัวข้อนั้นยังไม่เกิดขึ้น เช่น งบการเงินที่ผ่านมา — ก็จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจร่วมลงทุนได้ดีขึ้นมาก

 ดังนั้นแล้ว ในฐานะนักลงทุน หัวข้อ (เบื้องต้น) ของ ICO Whitepaper ที่อยากเห็น ก็อาจจะครอบคลุมเรื่องดังนี้ครับ:
  1. วัตถุประสงค์การใช้เงิน:
    • เอาเงินไปทำอะไรบ้าง
    • แต่ละส่วนใช้เงินเท่าไร
  2. ลักษณะการประกอบธุรกิจ:
    • business model คืออะไร (จริงอยู่ว่า ICO มักจะพูดถึงธุรกิจล่้ำยุค อธิบายยาก แต่หากจะระดมทุนจากคนทั่วไป ก็ต้องพยายามอธิบายให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้)
    • ใครเป็นลูกค้า ใครเป็นซัพพลายเออร์ (ถ้ามี)
    • กำไรจะมาจากไหน
  3. โครงการในอนาคต: หลังจากนี้จะทำอะไรบ้าง
  4. โครงสร้างการจัดการ:
    • ใครเป็นผู้บริหาร
    • มีความรับผิดชอบอะไร
    • ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร
  5. ข้อมูล Token (ลงทุน IPO ได้หุ้น ลงทุน ICO ได้โทเคน):
    • มีกี่หน่วย
    • จัดสรรให้กลุ่มไหนเท่าไรบ้าง
    • กำหนดราคามาด้วยหลักการอะไร
    • ผู้ถือ Token จะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรของธุรกิจหรือไม่ อย่างไร
    • สิทธิของผู้ถือ Token ในด้านต่าง ๆ มีอะไรบ้าง
  6. การจองซื้อและจัดสรร:
    • จองซื้อที่ไหน
    • หลักในการกระจาย Token คืออะไร (เช่น small lot first)
  7. ตลาดรองหลังจาก ICO:
    • ซื้อแล้วจะขายได้ที่ไหน ซื้อเพิ่มได้ที่ไหน มีข้อจำกัดจากโอนหรือไม่
    • ตัว Token ที่ได้จากการ ICO ในตลาดแรก จะไปอยู่ที่ไหน
    • ตลาดรองเป็นใคร ข้อดีของการใช้เจ้านี้คืออะไร
  8. ประมาณการผลประกอบการ: ถ้ากำหนดราคาได้ มีแผนใช้เงินได้ ก็ควรจะคาดการณ์ผลลัพธ์ได้
  9. ช่องทางในการรับข่าวสารในอนาคต:
    • จะติดตามดูผลประกอบการ หรือสถานะความคืบหน้าของการพัฒนาธุรกิจ ได้จากที่ไหน
    • จะเปิดเผยด้วยความถี่เท่าไร เช่น ทุกเดือน หรือ ทุกไตรมาส
  10. เทคโนโลยีที่ใช้:
    • ส่วนของ Token ใช้เทคโนโลยีอะไรในการออก เช่น Ether ERC-20 หรือ WAVES ฯลฯ
    • ส่วนของตลาดรอง
      • อธิบายมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล (การเข้ารหัส การป้องการการ hack)
      • อธิบายความเชื่อถือได้ของระบบชำระราคา (กลไกลการรับประกันว่า เมื่อขาย Token แล้วจะได้เงิน เมื่อจ่ายเงินซื้อแล้วจะได้ Token)

(ใครมีความเห็นเพิ่มเติม คอมเมนท์ที่ด้านล่างของบทความได้เลยครับ)

และขออธิบายให้จัดเจนกันไป ว่าที่เสนอมาข้างต้น ไม่ได้เห็นแย้งกับการทำ ICO แต่อย่างใด ผมเองก็เคยลงทุนมา แต่ต้องการเห็น ICO เป็นตัวเลือกในการลงทุนของนักลงทุนทุกกลุ่มได้จริง .. การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นจนเพียงพอต่อการตัดสินใจ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุนได้ดีพอ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์ในระยะยาว กับทั้งผู้สนใจลงทุนและผู้ระดมทุนเอง เพราะเสนอขายมาเมื่อไรก็จะขายง่าย แรงต้านน้อย และครอบคลุมกลุ่มนักลงทุนที่กว้างขวางขึ้นครับ

SJ@TIFIBM’s Blockchain Essentials for Developers Certified –

Categories: Digital Asset

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *