Investment Articles

ตามดูธุรกิจ Grand Prix International เจ้าของงาน Motor Show และนิตยสาร Grand Prix

คนที่มีรถส่วนตัว หรือสนใจวงการยานยนต์ ต้องเคยได้ยินชื่องาน Bangkok International Motor Show กันเป็นส่วนใหญ่ และเชื่อว่าหลายคนต้องเคยไปร่วมงานกันมาแล้ว ไม่ว่าจะไปดูรถเพื่อตัดสินใจออกรถใหม่ หรือจะไปถ่ายรูปสวย ๆ งาม ๆ

งาน Bangkok International Motor Show จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2522 หรือ 39 ปีมาแล้ว ณ สวนอัมพร ในชื่อ “มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 1” ซึ่งมีผู้เข้าชมถึง 380,000 คน ส่วนงานครั้งล่าสุดในปี 2560 มีผู้เข้าชม 1,600,000 คน (ข้อมูลจาก bangkokmotorshowgroup.com)

และจุดเริ่มต้นของงาน “มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 1” ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจนมาเป็น “Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 39” ที่กำลังจะจัดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561 นี้ เกิดย้อนหลังไปก่อนนั้น นั่นคือการถือกำเนิดของนิตยสารยานยนต์ชั้นนำของไทยที่ชื่อ “Grand Prix” (กรังด์ปรีซ์) ในปี 2513 ซึ่งเติบโตยืนหยัดขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของสื่อยานยนต์ของไทยได้ตลอดเวลา 47 ปีที่ผ่านมา

(ภาพจาก www.grandprix.co.th)

โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของงาน Bangkok International Motor Show และนิตยสารเครือ Grand Prix นั่นก็คือ “บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)” หรือ “GPI” โดยมีดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา และบุคคลในครอบครัว เป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 63.14% ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ GPI เป็นบริษัทมหาชนน้องใหม่ที่เพิ่งนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

GPI ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด:
    • การจัดงานแสดงสินค้า ประกอบด้วย 2 งานใหญ่คือ Bangkok International Motor Show และ Bangkok Used Car Show
    • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น การจัดแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับบริษัทยานยนต์ชั้นนำต่าง ๆ และการเป็นผู้จัดการแข่งขันเครื่องบิน ‘Air Race 1’
  2. กลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่
    • ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสารกรังด์ปรีซ์ นิตยสารมอเตอร์ไซต์ นิตยสารเอ๊กโอ ออโต้สปอร์ต นิตยสารออฟโรดหนังสือพิมพ์ยวดยาน และนิตยสารการาจไลฟ์
    • ธุรกิจสื่อรูปแบบใหม่ เน้นการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ผ่านช่องทางดิจิทัล
  3. กลุ่มธุรกิจรับจ้างพิมพ์ ทั้ง หนังสือ นิตยสาร วารสาร แค็ตตาล็อก แผ่นพับ ใบปลิว โบรชัวร์ ปฏิทิน และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ อย่างครบวงจร

โดยสัดส่วนรายรวมและรายได้แต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้

รายได้รวม

 

รายได้จากแต่ละกลุ่มธุรกิจ (ข้อมูลจากเอกสาร “Meet the Press 3Q17 ของ GPI”)

1. การจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด  — ทรงตัว (สัดส่วนรายได้ ปี 2559 และ 9M2560 คิดเป็น 82% และ 83.5% ตามลำดับ คือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับ GPI)

และหากพิจารณายอดขายรถยนต์ในประเทศ ก็พบว่าในช่วง 9M2560 มีการฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 12% หลังจากที่มาตรการรถคันแรกจบไปในปี 2556 จนทำให้การจำหน่ายรถยนต์ชะลอตัวลงติดต่อกันตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2559

2. ธุรกิจสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่ — ชะลอตัว (สัดส่วนรายได้ ปี 2559 และ 9M2560 คิดเป็น 9.96% และ 6.56% ตามลำดับ) โดย GPI ได้ขยายธุรกิจสื่อออนไลน์เพื่อขยายฐานรายได้เพิ่มขึ้น

3. ธุรกิจรับจ้างพิมพ์ — เติบโตแข็งแกร่งในปี 2560 (สัดส่วนรายได้ ปี 2559 และ 9M2560 คิดเป็น 6.85% และ 8.97% ตามลำดับ)

จะเห็นว่าธุรกิจรับจ้างพิมพ์ เป็นกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งที่ GPI กำลังไปได้ดีในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นผลให้กำไรรวมช่วง 9M2560 เติบโตจาก 9M2559 ได้ในระดับ 12% แม้กลุ่มธุรกิจอื่นจะทรงตัวและหดตัว

ส่วนของโครงสร้างทางการเงิน GPI มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่อส่วนทุนในระดับต่ำมาก และลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนแทบไม่มีหนี้

อย่างไรก็ดี ธุรกิจของ GPI ก็ยังมีความเสี่ยงให้ต้องพิจารณาก่อนลงทุน โดยเฉพาะในด้านความผันผวนของผลประกอบการรายไตรมาส เนื่องจากช่วงที่ GPI รับรายได้ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่มีการจัดงาน Bangkok International Motor Show ในไตรมาส 1 และ 2 ของทุกปี ในขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 ผลประกอบการจะลดต่ำลง นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจยังขึ้นอยู่กับบุคคลในตระกูลเอี่ยมลำเนาเป็นหลัก

โดยสรุปแล้ว

GPI มีความแข็งแกร่งและน่าสนใจในด้าน:

  1. การเป็นผู้นำในธุรกิจจัดแสดงสินค้ายานยนต์ที่มีประสบการณ์ยาวนานหลายสิบปี มีแบรนด์เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชนทั่วไป
  2. ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบหลายปี ทำให้ความสนใจต่อข้อมูลข่าวสารด้านยานยนต์มีโอกาสเพิ่มขึ้นตาม
  3. ผลประกอบการมีกำไรต่อเนื่องและโครงสร้างทางการเงินมีความแข็งแกร่ง มีหนี้สินน้อย
  4. ธุรกิจรับจ้างพิมพ์มีสัญญาณการเติบโตแข็งแกร่ง

GPI มีความเสี่ยงและจุดที่ต้องติดตามในด้าน:

  1. ภาวะธุรกิจจัดแสดงสินค้ายานยนต์ที่ทรงตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่หดตัว
  2. การปรับตัวของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ (นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ) ซึ่งผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันสูงขึ้นเช่นกัน

ใครที่สนใจลงทุนในหุ้น GPI สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดได้จากเว็บไซต์ http://investor.grandprix.co.th/th และ Filing ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=136565 รวมถึงงบการเงินปี 2560 ได้ที่ https://www.set.or.th/dat/news/201802/18015593.zip

[Special Content]

Categories: Investment Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *