อธิบายไว้หลายครั้งแล้วว่า การถือกองทุนที่จ่ายปันผล ตัวเราจะเสียภาษีหัก ณ ที่่จ่าย 10% และตัวกองทุนเสียโอกาสนำเงินไป Re-invest เพราะต้องขายหลักทรัพย์ในกองทุนเอาเงินสดมาจ่ายปันผลให้เรา
แต่พูดเฉย ๆ ก็อาจจะไม่ชัดเจน เลยขอยกตัวอย่างกองทุนหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง (ข้อมูลจริงจากบริการ Aspen by ThaiQuest) ซึ่งกองทุนนี้แบ่งเป็น “Class” ย่อย คือ A ที่ไม่จ่ายปันผล (Accumulation) และ D ที่จ่ายปันผล (Dividend) โดยกองทุนที่เป็น Class A มีมูลค่า 20.4979 บาท ส่วน Class D มีมูลค่า 12.6870 บาท
ถ้าดูเร็ว ๆ ก็อาจจะคิดว่า ส่วนต่าง 7.8109 บาท ก็ต้องเป็นเงินปันผลสินะ เพราะกองนึงจ่ายปันผล อีกกองไม่จ่ายปันผล .. แต่พอไปรวบรวมข้อมูลการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันกับกราฟ กลับพบว่ากองทุน Class D จ่ายปันผลออกมาแค่ 5.5100 บาทนั่นเท่ากับว่า ส่วนต่างอันแรกก็โดนไปแล้ว 7.8109 – 5.5100 = 2.3009 บาท ซึ่งเกิดจากการที่กองทุนเสียโอกาสในการนำเงินปันผล 5.5100 บาทกลับไปลงทุนต่อยอดหรือลงทุนซ้ำ (Re-invest)
และนอกจากนั้น เงินปันผล 5.5100 บาท ยังเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีก 10% นักลงทุนจึงเหลือเงินปันผลเข้ากระเป๋าเพียง 4.9590 บาท คือต้องเสียภาษีไป 0.5510 บาท
รวมแล้ว การลงทุนในกองทุน Class D ที่จ่ายปันผล ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ไปถึง 2.8519 บาท หรือคิดเป็น 13.91% เมื่อเทียบกับราคากองทุน Class A .. ถ้าพูดถึงมูลค่าเงินลงทุน 100,000 บาท 13.91% ก็ 13,910 บาทเลยทีเดียว
พอเห็นแบบนี้ นักลงทุนก็อาจจะถามว่า “แล้วถ้าอยากได้กระแสเงินสดออกมาใช้ จะทำไง?” ซึ่งคำตอบนั้นง่ายมาก นั่นก็คือ “อยากใช้เงินสดเมื่อไร ก็สั่งขายหน่วยลงทุนได้เองตลอดเวลา (ขณะที่กองทุนแบบจ่ายปันผล เราไม่ได้กำหนดวันจ่ายปันผลเอง ต้องรอให้กองทุนประกาศจ่ายออกมา) อยากใช้เงินกี่บาทก็คำนวณหน่วยได้ไม่ยาก และเงินค่าขายที่ได้รับทุกบาทไม่เสียภาษี” .. แต่กระนั้น ก็ขอแนะนำว่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรขายออกมา เก็บไว้ลงทุนยาวดีกว่า
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จะตัดสินใจเลือกกองทุนอย่างไร ก็อยู่ที่การใช้เหตุผลของนักลงทุนล่ะครับ 🙂
=== เพิ่มเติม ณ วันที่ 16 มี.ค. 61 ===
ดีใจที่บทความนี้ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความต่างของกองทุนจ่ายและไม่จ่ายปันผล ได้มากขึ้น
แต่ขออธิบายเพิ่มว่า ไม่ใช่เห็นกองทุนไหนไม่จ่ายปันผล แล้วจะแปลว่ามันดีกว่ากองทุนที่จ่ายปันผลทุกกองเสมอไป .. ยังมีกองทุนจ่ายปันผลอีกหลายกอง ที่ให้ผลตอบแทน “ดีกว่า” กองทุนที่ไม่จ่ายปันผลบางกองเช่นกัน ซึ่งการจะเทียบให้ได้ “เกือบ” สมบูรณ์นั้น ต้องดูที่ Total Return* ครับ
สมมติ กอง A และ B เป็นกองทุนประเภทเดียวกันจากคนละบลจ. .. กอง A จ่ายปันผล แต่ให้ Total Return 40% ต่อปี เทียบกับกอง B ที่ไม่จ่ายปันผล แต่ให้ Total Return 10% ต่อปี .. แบบนี้ก็ชัดเจนว่า ไปกอง A เห๊อะะ แม้จะเสียภาษีเงินปันผลบ้าง ก็ยังดีกว่ากอง B
ส่วนในบทความ จะเทียบกองทุน “ตัวเดียวกัน” ที่แยกเป็นคลาสย่อย มันจึงเทียบกันได้ชัดเจนมาก ๆ ซึ่งช่วยใช้ตัดสินใจได้ดีในกรณีที่ไม่รู้จะเลือกคลาสไหนในกองทุนเดียวกัน
———
*การคำนวณ Total Return ที่ถูกต้องตามหลัก Global Investment Performance Standards (GIPS) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล จะไม่ใช่แค่เอาเงินปันผลมาบวกกลับ แต่จะต้องแบ่งการคำนวณเป็นช่วงเวลาย่อย ๆ โดยจะใช้วันที่จ่ายเงินปันผลเป็นตัวแบ่งช่วงเวลา แล้วคำนวณผลตอบแทนจากราคาหน่วยลงทุนในแต่ละช่วงเวลาย่อย ๆ นั้น แล้วนำมาเชื่อมต่อกันด้วยค่าเฉลี่ยแบบ Geometric ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินปันผลที่่จ่ายมาคำนวณแต่อย่างใด .. โดยวิธีแบบนี้เรียกว่า Daily Valuation method หรือ Time-weighted Rate of Return Method .. ถ้างง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://goo.gl/ou5t76
(ภาพจาก http://www.dailyvest.com/prr/prr_calcmethods.aspx)
มีคำถามมาทางหลังไมค์ที่ TIF Facebook น่าสนใจครับ >> “ถ้าเราเอาปันผลไปลงทุนต่อ +ได้คืนภาษีปันผลเท่าที่ถูกหักไป จะได้พอ ๆ กับกองทุนไม่ปันผลมั้ย?”
โดยผมตอบไปว่า >> “ถ้าจะตั้งใจจะลงทุนเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบนั้นอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนจ่ายปันผลให้ยุ่งยากแต่แรกเลยครับ ไหนจะต้องจัดการเรื่องการสั่งซื้อลงทุนต่อ และมีรายละเอียดที่ต้องยื่นภาษีเพิ่มขึ้น ขณะที่กองทุนไม่จ่ายปันผลเราจะไม่มีภาระลักษณะนี้เลย”
Categories: Investment Articles