Knowledge Resources

หน้าที่ของแบงก์ชาติ

1. จุดประสงค์ของการมีแบงก์ชาติ คือรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนให้ระบบการเงินของประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่ได้ตั้งมาเป็นธุรกิจแสวงหากำไร .. พูดสั้น ๆ คือ แบงก์ชาติไม่เหมือนแบงก์พาณิชย์

2. การซื้อขายเงินตราต่างประเทศของแบงก์ชาติ ทำไปเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วเกินไป จนการค้าระหว่างประเทศเสียหาย และการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออก กินสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งประเทศ

3. ในช่วงที่ผ่านมา ดุลการค้าของไทย (ส่งออก ลบ นำเข้า) เป็นบวกมาตลอด 4 ปีกว่า (กราฟบน) ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าสุทธิจำนวนมาก และเมื่อมีเงินต่างประเทศไหลเข้า ผู้ส่งออกก็จะขายเป็นเงินบาท เพื่อเอาไปจ่ายค่าวัตถุดิบบ้าง ค่าแรงบ้าง และหากไม่มีคนรับซื้อเงินต่างประเทศไว้อย่างเพียงพอ เงินบาทก็จะแข็งค่า (ซื้อเงินบาท = ขายเงินต่างประเทศ และ ขายเงินบาท = ซื้อเงินต่างประเทศ) และเมื่อเงินแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกก็จะเริ่มลำบาก กระทบต่อกำไรและการจ้างงาน (ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญถึงครึ่งหนึ่งของ GDP)

และหากนับรวมกระแสเงินลงทุนไหลเข้า ซึ่งเฉพาะตลาดตราสารหนี้ในปี 2560 ปีเดียว ต่างชาติเข้าซื้อสุทธิถึง 222,000 ล้านบาท (อ้างอิง http://www.thaibma.or.th/Doc/annual/SummaryMarket2017.pdf หน้า 8) ยิ่งทำให้แบงก์ชาติมีภาระในการจัดการค่าเงินบาทมากขึ้นไปอีก

4. เมื่อดุลการค้าเป็นบวกต่อเนื่อง และกระแสเงินลงทุนไหลเข้ามากขึ้น แบงก์ชาติก็ต้องรับซื้อเงินต่างประเทศต่อเนื่อง ยอดเงินสำรองในสกุลต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น (กราฟล่าง)

5. เมื่อแบงก์ชาติมีเงินสำรองต่างประเทศมากขึ้น ตามความจำเป็นในข้อ 3 และเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้น (นี่ขนาดมีขาใหญ่อย่างแบงก์ชาติช่วยรับซื้อไว้แล้ว) เมื่อทำบัญชีตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่เป็นราคาในเงินบาท ตัวเลขมันก็ลดลงอัตโนมัติ เช่น มีเงินต่างประเทศ 200,000 ล้านเหรียญ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนขยับจาก 32.00 THB/USD มาเป็น 31.00 THB/USD (แข็งค่า) มูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีก็ลดลงทันที 200,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องทำอะไร

6. แต่ในทางกลับกัน หากเงินบาทอ่อนค่า (เงินต่างประเทศแข็งค่า) มูลค่าสินทรัพย์ในราคาเงินบาท ก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำอะไรเช่นกัน

(กราฟจากบริการ Aspen by ThaiQuest)

ถามว่า ไม่ต้องมีแบงก์ชาติได้ไหม ปล่อยไปตามระบบการค้าเสรี 100% .. ก็ตอบว่า ยังไม่เห็นประเทศเสรีไหนไม่มีแบงก์ชาติหรือธนาคารกลาง เพราะเสรีก็ดีอยู่ ให้เป็นไปตามกลไก แต่ถ้าเกิดความผันผวนแล้วไม่มีขาใหญ่อย่างธนาคารกลางมาช่วยดูแล มันจะมีคนที่ “ไม่รอด” เพราะธุรกิจมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน มี margin หนาบางต่างกัน และถ้ามีคนที่ไม่รอดมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะลุกลามเป็นวิกฤติในที่สุด .. ยังไม่ต้องคิดถึงการไม่มี “กติกา” ทางการเงิน

สรุป

1. แบงก์ชาติไม่ได้ทำเพื่อหากำไร แต่ก็ไม่ได้มีเป้าหมายขาดทุนอย่างไร้เหตุผล

2. การจัดการเสถียรภาพค่าเงินบาท จะเกิดผลกำไรขาดทุนขาดทุนทางบัญชีได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับ “ไม่ขายไม่ขาดทุน” เพราะจุดประสงค์ตอนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน .. แบงก์ชาติ >> สร้างเสถียรภาพให้ระบบเศรษฐกิจ (โดยรู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสขาดทุนทางบัญชี) ส่วนนักลงทุน >> หวังกำไร (แต่พอขาดทุนบอกไม่ขายไม่ขายทุน)

3. การดำเนินการของแบงก์ชาติเป็นเรื่องจำเป็น เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงประโยชน์ของท่านผู้อ่านด้วยเช่นกัน

• อ่านแถลงของแบงก์ชาติประกอบกันไป ที่นี่ https://www.facebook.com/bankofthailandofficial/posts/612478069101624
• ศึกษาข้อมูลฐานะการเงินของแบงก์ชาติ ที่นี่ https://www.bot.or.th/…/AboutBOT/Financi…/Pages/default.aspx

Categories: Knowledge Resources

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *