Investment Articles

ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เค้าเคาะกันมายังไง และเราควรได้เท่าไร ?

บทความนี้นำเสนอแนวทางในการประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกู้ และประเมินต้นทุนการกู้ยืมของบริษัท โดยเงินทุนที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ มีที่มาจาก 2 ส่วน ก็คือ

  1. ส่วนทุน จากเจ้าของ ซึ่งแบ่งได้เป็นหน่วยย่อยๆ ที่เรียกว่าหุ้น
  2. หนี้สิน จากเจ้าหนี้ ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง
    (2.1) หนี้การค้า ที่เกิดจากการหมุนเวียนทำธุรกิจทั่วไป
    (2.2) หนี้เงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสถาบันการเงิน และ
    (2.3) หนี้หุ้นกู้ ที่เป็นหลักทรัพย์ออกขายให้กับนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทไหน ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในลักษณะนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ เหมือนๆ กัน

หนี้สินที่บริษัทยืมมาเพื่อดำเนินธุรกิจนี้ก็ไม่ได้ได้มาฟรี ๆ แต่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายให้เจ้าของเงินทุน ซึ่งต้นทุนนั้นก็คือ “ดอกเบี้ย” นั่นเอง ซึ่งดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่บริษัทต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ก็มักจะอิงกับอัตราดอกเบี้ยหลักของธนาคารนั้น ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยลูกคารายใหญชั้นดี ประเภทเงินกูแบบมีระยะเวลา หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Minimum Loan Rate (MLR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 7.00% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย  ณ 23 ส.ค. 61) 

ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ที่บริษัทต้องจ่ายให้นักลงทุนนั้น จะอิงกับระดับอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

แล้วในฐานะที่เราเป็นนักลงทุน เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการซื้อหุ้นกู้ (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ตราสารหนี้ภาคเอกชน) ของบริษัทหนึ่ง ๆ เราควรได้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยมากน้อยเท่าไร?

การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ เราสามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ

  1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Government Bond Yield และ
  2. ส่วนบวกเพิ่มที่เกิดจากความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Spread

โดยอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่เหมาะสมในขณะหนึ่ง ๆ ก็จะคำนวณได้จาก Government Bond Yield Curve + Credit Spread หรือพูดได้อีกนัยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลตอบแทนตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน นั่นเอง เท่ากับว่า หากเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป จนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงตาม ผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขอยกตัวอย่างข้อมูลประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

ภาพที่ 1: เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield Curve) .. ข้อมูลจาก thaibma.or.th ณ 23 ส.ค. 61

โดยเส้นนี้จะให้ข้อมูลระดับอัตราดอกเบี้ย (หรือเรียกอีกอย่างว่า อัตราผลตอบแทน) จากพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ระยะสั้นสุด 0.08 ปี (1 เดือน) ซึ่งเท่ากับ 1.199% ต่อปี ไปจนถึงระยะ 48 ปี ซึ่งเท่ากับ 3.7355% ต่อปี โดยข้อมูลนี้จะเปลี่ยนไปทุกวัน ตามแต่ภาวะตลาดตราสารหนี้จะพาไป

ภาพที่ 2: ส่วนบวกเพิ่มที่เกิดจากความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ (Credit Spread) .. ข้อมูลจาก ibond.thaibma.or.th ณ 23 ส.ค. 61 (เป็นข้อมูล ณ 15 ส.ค. 61 ซึ่งล่าสุดแล้ว)

โดยกราฟและตารางนี้จะให้ข้อมูลว่า ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) หนึ่ง ๆ ที่มีอายุคงเหลือหนึ่ง ๆ ควรมี Credit Spread เท่าไร ตัวอย่างเช่น ตราสารหนี้ที่มี Credit Rating “AAA” อาุยุ 3 ปี ก็จะมี Credit Spread ประมาณ 33.07 basis point (พูดง่าย ๆ คือ 0.3307%) หรือ ตราสารหนี้ที่มี Credit Rating “A” อายุ 5 ปี ก็จะมี Credit Spread  ประมาณ 70.29 basis point (หรือ 0.7029%)

และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจด้วยว่า ธรรมชาติของการลงทุนในตราสารหนี้ เมื่ออายุของตราสารหนี้ยาวขึ้น  จะมี Credit Spread สูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากนักลงทุนต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงมากขึ้น หากต้องทิ้งเงินลงทุนไว้นานขึ้น

เมื่อเราได้ข้อมูล Government Bond Yield และ Credit Spread ณ วันใดวันหนึ่งแล้ว ก็จับบวกกัน ก็จะสามารถคำนวณอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมจากตราสารหนี้ได้อย่างง่าย ๆ

เช่น อยากรู้ว่า หุ้นกู้เอกชน ที่มี Credit Rating “A+” อายุ 3 ปี ควรให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ประมาณเท่าไร? ก็คำนวณได้เท่ากับ 1.9986% + 0.5142% = 2.5128% นั่นเอง

ซึ่งการที่เราจะประเมินอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมของหุ้นกู้ได้ เราต้องรู้ด้วยว่า บริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น มี Credit Rating ในระดับไหน เพื่อนำไปเทียบกับข้อมูลในตารางตามภาพที่ 2 และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จึงขอยกตัวอย่าง Credit Rating ของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทตามภาพนี้

ภาพที่ 3: อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท .. ข้อมูลจาก Trisrating.com ณ 23 ส.ค. 61

คราวนี้ก็ง่ายแล้วล่ะครับ .. สมมติเราอยากรู้ว่า ถ้า MINT จะออกขายหุ้นกู้อายุ 5 ปี ในวันนี้ ควรให้ผลตอบแทนเท่าไร เมื่อดูภาพที่ 3 ก็จะรู้ว่า MINT มี Credit Rating “A” และ เมื่อดูภาพที่ 2 ก็จะรู้ว่า Credit Rating “A” อายุ 5 ปี จะมี Credit Spread 0.7029% และเมื่อดูภาพที่ 1 ก็จะรู้ว่า Government Bond อายุ 5 ปีจะให้ผลตอบแทน (Yield) 2.3235% สรุปสุดท้ายก็จะคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้เท่ากับ 2.3235% + 0.7029% = 3.0264% … หาก MINT เสนอผลตอบแทนสูงกว่านี้ ก็แปลว่าน่าสนใจ แต่หากต่ำกว่านี้ ก็คงต้องถามเขาว่าเพราะอะไร

และจากภาพที่ 2 เรายังได้รู้อีกว่า การที่บริษัทมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้มากจริง ๆ

ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น หาก PTTEP (Credit Rating “AAA”) จะออกหุ้นกู้อายุ 10 ปี จะมีต้นทุนเพียง 2.7434% + 0.5118% = 3.2552% เท่านั้น แต่หาก SIRI (Credit Rating “BBB+”) จะออกหุ้นกู้อายุ 10 ปีเท่ากัน จะมีต้นทุนถึง 2.7434% + 2.3460% = 5.0894%  หรือสูงกว่า PTTEP ถึง 1.8342% ต่อปี หมายความว่า หากออกขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท SIRI จะมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่า PTTEP ถึง 18.34 ล้านบาท/ปี

เรียกได้ว่า หากธุรกิจมีความน่าเชื่อถือทางเครดิตสูงเท่าไร ก็จะมีต้นทุนต่ำลงเท่านั้น จึงมีโอกาสได้กำไรสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

(ทั้งนี้ เป็นการยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้นเท่านั้น ไม่มีเจตนาเปรียบเทียบคุณภาพของบริษัทแต่อย่างใด และธุรกิจต่างประเภทกัน ก็มีโครงสร้างทางการเงินต่างกัน จึงมีอันดับเครดิตตามธรรมชาติต่างกันไป  และบริษัทที่มีอันดับเครดิตดีกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่มีกำไรดีกว่าเสมอไป)

เมื่อได้ทราบข้อมูลนี้แล้ว หากเราเป็นนักลงทุนในตราสารหนี้ ก็พอจะประเมินได้ว่า เราควรได้ผลตอบแทนเท่าไร และหากเราเป็นนักลงทุนในหุ้นสามัญ ก็พอจะเห็นภาพว่า บริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ หากมีการออกหุ้นกู้ จะมีต้นทุนสูงแค่ไหน

SJ@TIF, ผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย #150603140339

Categories: Investment Articles