Investment Articles

คำนวณให้เห็นกันไป ทำไมดอกเบี้ยขึ้นแล้วหุ้นกู้ราคาลง

ผู้ที่ติดตามข่าวการเงินการลงทุน คงพอทราบข่าวที่ดัชนีหุ้นทั่วโลกดิ่งอย่างหนักในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ซึ่งสำนักข่าวต่าง ๆ รายงานว่า เกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแรง ตามมุมมองของ Federal Reserve ที่ว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดูดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้ออาจจะพุ่งเร็วขึ้นเช่นกัน

ซึ่งนอกจากจะทำให้หุ้นตกทั่วโลกดังที่กล่าวแล้ว การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ราคาพันธบัตรลดต่ำลงด้วย .. ในส่วนของหุ้นที่ราคาร่วง ก็ว่ากันว่าเป็นเพราะความกังวล(ระยะสั้น) ของนักลงทุน ว่าการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แล้วกำไรอาจจะลดลง (ก็เลยขายหุ้นกันออกมา) แต่สำหรับพันธบัตรแล้ว การที่อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อราคาของมัน และไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน หลักการพื้นฐานก็เหมือน ๆ กัน

โอกาสนี้จึงขอยกตัวอย่างการคำนวณให้เห็นกันง่าย ๆ ว่าทำไมเวลาที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นแล้วราคาหุ้นกู้(และพันธบัตร)จะร่วงลง

โดยหลักการพื้นฐานแล้ว ราคาของหุ้นกู้ จะคำนวณจากกระแสเงินสดทั้งหมดที่หุ้นกู้นั้นจะจ่ายให้แก่นักลงทุน ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงวันครบอายุหุ้นกู้ในอนาคต และเมื่อมีการพิจารณากระแสเงินสดที่จะเกิดในอนาคต ก็ต้องมีการคิดย้อนกลับมาเป็นตัวเลข ณ ปัจจุบัน ซึ่งการจะคิดย้อนอนาคตมาเป็นปัจจุบันนั้น ต้องใช้ “อัตราคิดลด” หรือ Discount rate เป็นตัวคำนวณ

สำหรับหุ้นกู้ที่เพิ่งออกขาย อัตราคิดลด ก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ตัวหุ้นกู้ตกลงว่าจะจ่ายให้ผู้ลงทุน (Coupon rate) เช่น หุ้นกู้บริษัท A อายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง และจะคืนเงินต้น 1,000 บาท/หน่วย ในวันสุดท้ายที่ครบอายุ 3 ปี .. ดังนั้น ณ วันออกหุ้นกู้ อัตราคิดลดของหุ้นกู้นี้ก็คือ 3% ซึ่งราคาหุ้นกู้ที่เพิ่งออก สามารถคำนวณได้ดังนี้

จะเห็นว่า ที่อัตราคิดลด 3% เป๊ะ ๆ นั้น จะทำให้ราคาหุ้นกู้เท่ากับ 1,000.0000 บาทพอดีเด๊ะเช่นกัน

ทีนี้ สมมติเราซื้อมาตอนเช้าที่ดอกเบี้ย 3% แต่ตกบ่ายอัตราดอกเบี้ยในตลาดเกิดพุ่งขึ้นเป็น 4.50% อัตราคิดลด (ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยในตลาด) ก็พุ่่งขึ้นเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นกู้จะเป็นดังนี้

เท่ากับว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นทันทีทันใด จาก 3.00% เป็น 4.50% ราคาหุ้นกู้จะร่วงลงจาก 1,000 บาท เหลือ 958.76 บาท หรือ 4.1% นั่นก็เพราะว่า เจ้าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในเป็นตัวหารนั้นจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ เทอมของก้อนกระแสเงินสด ทำให้ราคาหุ้นกู้ร่วงลง .. ทั้งนี้ต้องอธิบายเพิ่มว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นขนาด 1.50% (จริง ๆ ต้องเรียกว่า เพิ่มขึ้น 150 basis point ซึ่งเป็นหน่วยที่ถูกต้องของอัตราดอกเบี้ย) มีน้อย ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไร แปลว่าภาวะตลาดผันผวนสูงขนาดวิกฤติกันเลยทีเดียว เพราะขนาดแบงก์ชาติเอง เวลาจะปรับเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังขยับทีละ 0.25% (25 basis point) เท่านั้น และปรับทุก 8 สัปดาห์ (ถ้าจำเป็นต้องมีการปรับ)

ในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงเป็น 1.50% ในวันเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นกู้ ก็จะเป็นดังนี้

เท่ากับว่า หากอัตราดอกเบี้ยลดลงทันทีทันใด จาก 3.00% เป็น 1.50% ราคาหุ้นกู้จะเพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 1,043.66 บาท หรือ 4.4% เพราะตัวที่ใช้หารนั้นมีค่าลดลง

จากการคำนวณที่ยกตัวอย่าง “อย่างง่าย” นี้ ก็พอจะทำให้เห็นภาพว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนไป มันส่งผลต่อราคาหุ้นกู้(และพันธบัตร)ได้อย่างไร ส่วนในกรณีจริงนั้น ระดับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) และอายุคงเหลือของหุ้นกู้ (Time to Maturity) ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเช่นกัน โดยถ้าหุ้นกู้ไหนมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดน้อยกว่าหุ้นกู้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่า คือผันผวนน้อยกว่า และหุ้นกู้ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า จะได้รับผลกระทบจากการเหวี่ยงของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า แต่หากใครที่ลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง แล้วต่อมาอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ก็จะได้กำไรจากราคาหุ้นกู้ในสัดส่วนที่สูงตามไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นกู้นั้น มักเป็นงานของนักลงทุนสถาบันมากกว่า เพราะตลาดหุ้นกู้ มักจะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ประมาณ 100,000 บาท และการซื้อขายแต่ละครั้งจะมีขนาดรายการ หลายล้านบาทเป็นขั้นต่ำ ขึ้นไปจนถึงหลักหลายร้อยล้าน ส่วนนักลงทุนทั่วไป การเข้าใจหลักการคำนวณและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกู้ แม้จะไม่ได้นำไปใช้ลงทุนในหุ้นกู้โดยตรง แต่ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจหลักการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ รวมถึงเรื่องกระแสเงินสดคิดลด (Discount Cash Flow) ซึึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการประเมินมูลค่าหุ้นสามัญด้วยเช่นกัน และยังเป็นการช่วยให้เข้าใจกลไกการเปลี่ยนของราคาหลักทรัพย์ที่สำคัญประเภทหนึ่งของโลก ที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ

ส่วนใครที่อยากรู้ลึกในรายละเอียดเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ ก็สามารถหาหนังสือมาอ่านได้เอง และถ้าอยากไปต่อให้ไกลขึ้น ก็สามารถสอบเป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้ด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสมัครงานด้านตลาดทุนกับสถาบันการเงิน และด้วยขนาดตลาดรวมที่ใหญ่ไม่แพ้ตลาดหุ้น (11.58 ล้านล้านบาท) แต่มีมูลค่าการซื้อขายรายวันสูงถึงหลัก 1 .1 ล้านล้านบาท สูงกว่าตลาดหุ้นถึง 15 เท่าตัว ทำให้บุคลากรในสายงานนี้ มีรายได้ดีถึงดีมากตามไปด้วยเช่นกัน

(คลิกที่รูปเพื่อวาร์ปไปอ่านรายละเอียด)

This image has an empty alt attribute; its file name is screenshot.3815.jpg

Categories: Investment Articles