Investment Articles

ออมหุ้นมา 5 ปี ผลตอบแทนเป็นไงบ้าง? | รีวิวการใช้ settrade Backtesting ช่วยคำนวณผล DCA

ในยุคนี้มีการพูดถึงกระบวนการ Dollar Cost Average หรือ DCA กันค่อนข้างมาก ซึ่ง DCA ก็คือการลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กันในแต่ละงวด ติดต่อกันในระยะยาว

โดยประโยชน์หลัก ๆ ของ DCA ก็คือ 1) สร้างวินัยในการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง และ 2) สร้างผลตอบแทนให้งอกเงยจากเงินลงทุนที่ใส่ลงไป

แต่เนื่องจากการลงทุนเป็นเรื่องของอนาคต ดังนั้นการจะตอบว่า DCA ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน อาจจะต้องให้เวลากับมันสักหน่อย รอดูกันไปอีกสัก 2-3 ปี

แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นว่า

“สมมติเริ่มทำ DCA มาตั้งแต่หลายปีก่อน มาถึงตอนนี้จะได้ผลยังไงแล้วบ้าง?”

แบบนี้มีคำตอบให้ได้เลยทันที ก็เพราะว่าในเว็บ SETTRADE.com (ต้องลงทะเบียนก่อนเข้าใช้งานด้วยจ้า) และ App SETTRADE (Android & iOS) เขามีเครื่องมือที่ชื่อ Backtesting ให้ทดสอบการทำ DCA ย้อนหลังได้ถึง 5 ปี (อนาคตอยากให้ขยายเป็น 10 ปี) ก็เลยถือโอกาสลองทดสอบดูกับหลักทรัพย์หลายตัว ทั้งที่เป็น Exchange Traded Fund หรือ ETF ที่เป็นกองทุนเทรดได้ใน Streaming เหมือนหุ้น และที่เป็นหุ้นรายตัว โดยทุก ๆ ตัวอย่างจะเป็นการลงทุนรายเดือน ติดต่อกัน 5 ปี และเป็นการกำหนดยอดเงินให้ซื้อลงหน่วย Board lot (ทวีคูณของ 100 หุ้น) ได้จริง ส่วนที่ได้ไม่ครบ 100 หุ้น จะตัดออกและไม่ยกยอดไปงวดถัดไป

  1. TDEX (ETF ที่ไปลงทุนในหุ้น SET50 ทั้งกลุ่ม): ตลอด 5 ปี ให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) 14.80% หรือแบบเฉลี่ยทบต้น 2.80% ต่อปี คือประมาณตราสารหนี้ (แต่ความผันผวนสูงกว่า)

2. ENGY (ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นพลังงาน): ตลอด 5 ปี ให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) 25.76% หรือ เฉลี่ย 4.69% ต่อปี

3. EBANK (ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นธนาคาร): ตลอด 5 ปี ให้ผลตอบแทนรวม 7.44% หรือเท่ากับ 1.45% ต่อปี ประมาณผลตอบแทนกองทุนตลาดเงิน

4. EFOOD (ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นอาหาร): ตลอด 5 ปี ได้ผลตอบแทนติดลบ 2.41% หรือขาดทุน -0.49% ต่อปี

5. EICT (ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นสื่อสาร): ตลอด 5 ปี ขาดทุน 15.08% หรือ -3.22% ต่อปี

6. GLD (ETF ที่ไปลงทุนในทองคำ): ตลอด 5 ปี ขาดทุน 3.45% หรือ -0.70% ต่อปี

7. SCB ในฐานะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในหมวดธนาคาร (ณ 21 ธ.ค. 61) ในช่วง 5 ปีมีผลขาดทุน  -0.59% หรือ -0.12% ต่อปี

8. CPALL ในฐานะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในหมวดพาณิชย์ (ณ 21 ธ.ค.61) ในช่วง 5 ปีได้ผลตอบแทนรวม (Total Return) 38.31% หรือเฉลี่ย 6.70% ต่อปี

9. SCC ในฐานะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในหมวดวัสดุก่อสร้าง (ณ 21 ธ.ค.61) ในช่วง 5 ปีได้ผลตอบแทนรวม 1.39% หรือเฉลี่ย 0.28% ต่อปี คือยังน้อยกว่าฝากออมทรัพย์

10. ADVANC ในฐานะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในหมวดสื่อสาร (ณ 21 ธ.ค.61) ในช่วง 5 ปี ผลตอบแทนติดลบ 0.70% หรือเฉลี่ย -0.14% ต่อปี

11. BDMS ในฐานะหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในหมวดบริการสุขภาพ (ณ 21 ธ.ค.61) ในช่วง 5 ปี ให้ผลตอบแทน 31.63% หรือเฉลี่ย 5.65% ต่อปี

ตารางสรุป

จากทั้ง 11 ตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปฏิบัติการ DCA ให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก หุ้นใหญ่และกลุ่มหุ้นตามหมวดอุตสาหกรรม มีที่ขาดทุนอยู่เกือบครึ่ง นั่นก็เพราะว่าตลาดหลักทรัพย์โดยรวมขยับอยู่ในกรอบ 1,200 – 1,850 จุด และไม่ใช่เป็นการขึ้นขาเดียวสวย ๆ แต่เป็นการขึ้นลงสลับกันไป รวมถึงช่วงปี 2018 ที่ลงยาวจาก 1,850 มาเหลือประมาณ 1,600 ในปัจจุบัน

(กราฟจากบริการเอสเพนโดย ThaiQuest)

แม้หลักของ DCA จะช่วยให้เรามีโอกาสซื้อหลักทรัพย์ได้จำนวนมากขึ้น เมื่อราคาตลาดของมันลดลง ซึ่งมองเร็ว ๆ อาจจะเหมือนว่าการที่หุ้นตกนั้นดีสำหรับการทำ DCA เพราะได้จำนวนหุ้นเยอะขึ้น

แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่หุ้นตก มันจะดีกับส่วนเล็ก ๆ ที่กำลังจะซื้อใหม่เท่านั้น แต่แย่กับทั้งก้อนใหญ่ทั้งหมดที่มีอยู่เดิม

ตัวอย่างที่ชัดเจนตามรูปด้านบน ในยุคนี้ที่ตลาดมีการเคลื่อนไหว “ในกรอบ” แบบช่วง 5 ปีมานี้ กลไก DCA จะไม่สามารถระเบิดพลังด้านบวกออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อตลาดลงแรง (เกิดขึ้น 3 รอบใหญ่ ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาป) จะทำให้ก้อน DCA ทั้งก้อนที่มีมาอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ขาดทุนอย่างมากตามไปด้วย

เท่ากับว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำ DCA ให้ประโยชน์ในด้าน ‘การเติมเงินลงทุนก้อนใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง‘ เท่านั้น ส่วนด้าน ‘ผลตอบแทนจากการลงทุุน’ ยังไม่ได้ผลเป็นเนื้อเป็นหนังเท่าไร ยิ่งตัวไหนให้ผลตอบแทนติดลบหรือได้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแล้วด้วย ก็ยิ่งน่าเสียดาย

ส่วนในอนาคตก็ต้องรอดูกันต่อไป ว่าตลาดจะกลับมาวิ่งบวกยาว ๆ จนถึงขนาดทะลุ High เดิมได้เมื่อไร ซึ่งตอนนั้นก็น่าจะเป็นเวลาที่ DCA สามารถแสดงพลังทั้ง 2 ด้าน (สร้างวินัยการออม + ได้ผลตอบแทนการลงทุน) ได้อย่างเต็มที่ซะที

Advertisement

Categories: Investment Articles