เนื้อหาเฉลิมพระเกียรติ

พระธรรมเทศนา 4 หลักใหญ่ 32 ข้อย่อย ที่สมเด็จพระสังฆราช ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(ภาพจากคลิป event.thaipbs.or.th/coronation/#video-4)

ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2562 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย 4 หลักใหญ่ 32 ข้อย่อย ใจความดังนี้

ทศพิธราชธรรม (10) *

(จริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์)

  1. ทาน การให้ พระมหากษัตริย์พึงชุบเลี้ยงพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าราชการ บรรพชิต ตลอดจนอาณาประชาราษฎร ด้วยวัตถุปัจจัยบรรดาอามิสทั้งหลายตามฐานานุรูปของบุคคลนั้นๆ รวมถึงพระราชทานธรรมทานแจกจ่ายพระบรมราโชวาท แนวพระราชดำริ อันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ให้พสกนิกรทั้งหลายเจริญรอยตาม
  2. ศีล พระมหากษัตริย์พึงเว้นจากความประพฤติทุจริต กล่าวในการทางปกครอง ย่อมหมายถึงรัฐธรรมนูญ บทกฎหมาย และจารีตประเพณีอันดีงาม กล่าวในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงศีล อย่างน้อยคือศีล 5 ของฆราวาสทั่วไป และพระราชาจะทรงรักษาและโน้มน้าวให้พสกนิกรรักษาด้วย
  3. บริจาค พระมหากษัตริย์พึงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อย เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหญ่กว่า เพื่อบรรเทาความตระหนี่
  4. อาชวะ ความซื่อตรง พระมหากษัตริย์พึงประพฤติพระองค์ซื่อตรงในการงานตามหน้าที่ของพระประมุข ปราศจากมารยา ซื่อสัตย์สุจริตต่อสัมพันธมิตร พระราชวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ไม่ทรงหลอกลวงประทุษร้ายโดยอยุติธรรม
  5. มัททวะ ความอ่อนโยน พระมหากษัตริย์พึงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน ละมุนละม่อม ไม่ถือพระองค์ด้วยความดื้อรั้น เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยเหตุผลของบัณฑิตก็ควรที่จะทรงสดับตรับฟังโดยถี่ถ้วน ถ้าดีควรอนุโมทนาแล้วอนุมัติปฏิบัติตาม และควรมีความอ่อนน้อมท่านผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณความดี
  6. ตบะ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว พระมหากษัตริย์พึงมีตบะ ซึ่งตบะของพระมหากษัตริย์คือการคุ้มครองประชาชน ต้องทรงพากเพียรที่จะขจัดความเกียจคร้านเบื่อหน่ายที่จะรักษาอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข ต้องทรงตั้งพระราชหฤทัยบำเพ็ญพระราชกิจอย่างสม่ำเสมอและให้ดียิ่งขึ้น
  7. อักโกธะ ความไม่มักโกรธ พระมหากษัตริย์พึงมีพระเมตตาสูงส่ง ไม่ทรงปรารถนาจะก่อเวรภัยแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุอันไม่สมควร แม้จะมีเหตุให้ทรงบรรลุแก่อำนาจแห่งความโกรธ ก็พึงข่มพระราชหฤทัยให้สงบระงับ มิให้บังเกิดพระกริยาอันไม่งดงาม ไม่น่ารัก น่าเคารพ ดุจมีพระฉายส่องพระพักตร์เป็นเครื่องกำกับพระอาการไว้เสมอ
  8. อวิหิงสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ให้ตกทุกข์ได้ยาก พระมหากษัตริย์พึงประกอบด้วยพระมหากรุณา ไม่ปรารถนาจะทรงเบียดเบียนผู้ใดให้ลำบาก ไม่ทรงก่อทุกข์ยากแก่มนุษย์หรือสัตว์เพียงเพื่อความสนุก ไม่ขูดรีดหรือกะเกณฑ์ราษฎรอย่างเหลือกำลัง กระทั่งเกิดความระส่ำระสาย ทรงคุ้มครองประชาชนดุจดังบิดรมารดารักษาบุตร
  9. ขันติ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า พระมหากษัตริย์พึงมีพระราชหฤทัยกล้าหาญ อดทนต่อโลภะ โทสะ และโมหะ ย่อมต้องทรงอดทนต่อสู้กับกิเลสได้ ทรงสามารถอดทนต่อถ้อยคำที่ชั่ว ติฉินนินทา ทรงรักษาพระกายพระวาจาให้สงบเรียบร้อยได้เสมอ
  10. อวิโรธะ การไม่ปฏิบัติให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรง ดำรงอาการคงที่ ไม่แสดงอาการด้วยความยินดียินร้าย พระมหากษัตริย์พึงรักษาพระราชจรรยานุวัตรตามหลักนิติศาสตร์และราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติคลาดจากความยุติธรรม ทรงยกย่องผู้กระทำดีสมควรได้รับการยกย่อง ทรงปราบปรามผู้กระทำเลวสมควรถูกกำราบ ไม่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเชิดชูหรือข่มเหงบุคคลใด ๆ ด้วยอำนาจแห่งอคติ คือ ความลำเอียง 4 ประการ กล่าวคือลำเอียงเพราะความชอบ ลำเอียงเพราะความชัง ลำเอียงเพราะความกลัว และและลำเอียงเพราะความเขลา

หากทรงดำรงพระราชธรรมได้ดังนี้ พระปีติโสมนัสมหาศาลก็จะบังเกิดแก่พระองค์ และย่อมทรงเป็นที่สรรเสริญว่า ทรงปกครองโดยธรรมะเป็นอุบาย ชนทั้งหลายก็น้อมเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระประมุขผู้ได้ชื่อว่า ทรงปกครองโดยธรรม มิใช่โดยอำนาจ ต่างเจริญสุขสวัสดีร่วมกันได้ทุกสถาน

[*ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างว่า ราชธรรม 10 ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 20
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28]

ราชสังคหวัตถุ 5 *

(พระราชจรรยาอันเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์หน่วงน้ำใจประชาชน)

  1. สัสสเมธะ การบำรุงเกษตรกรรมให้บริบูรณ์
  2. ปุริสเมธะ ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณ
  3. สัมมาปาสะ ทรงพระปรีชาในการผูกประสานน้ำใจปวงชนให้นิยมยินดี
  4. วาจาเปยะ ทรงพระปรีชาในการใช้วาจาอ่อนหวานจับใจ ทรงปราศรัยกับบุุคคลทั่วไป ยังให้เกิดความรักใคร่ชื่นชม
  5. นิรัคคฬะ ทรงพระปรีชาในการย้ำให้บ้านเมืองมั่นคงปลอดภัย อุปมาได้ว่า แม้ประตูเรือนก็ไม่จำเป็นต้องลงกลอน

[*ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 7 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 15]

จักรวรรดิวัตร 12 *

(ธรรมอันเป็นพระราชจริยานุวัตร สำหรับพระมหาจักรพรรดิ และพระราชาเอกในโลก)

  1. ควรพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระบรมราชานุเคราะห์แด่คนภายใน คือ ข้าราชสำนัก และคนภายนอก คือ ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั้งหลาย
  2. ควรผูกพระราชไมตรีกับบรรดานานาประเทศ
  3. ควรสงเคราะห์พระบรมวงศานุวงศ์ตามสมควรแก่พระอิสริยยศฐานันดร
  4. ควรเกื้อกูลคหบดีทั้งปวง
  5. ควรอนุเคราะห์ประชาชนตามฐานานุรูป
  6. ควรอุปการะบรรพชิตผู้ประพฤติชอบ
  7. ควรจัดรักษาสัตว์ด้วยอภัยทาน ป้องกันไม่ให้ใครทำอันตรายถึงขั้นจะสูญพันธุ์
  8. ควรห้ามชนทั้งหลายไม่ให้กระทำชั่ว พร้อมชักนำให้ประกอบอาชีพและกระทำแต่ความดี
  9. ควรแสวงหาหนทางให้ผู้ไม่มีทรัพย์ได้ประกอบสัมมาชีพ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจาน
  10. ควรเสด็จเข้าใกล้บรรพชิตผู้ทรงศีลและทรงสติปัญญา เพื่อมีพระราชปุจฉาถึงกุศล อกุศล
  11. ควรห้ามพระจิต งดเว้นไม่เสด็จพระราชดำเนินไปสู่สถานที่ที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อม
  12. ควรระงับความโลภในลาภอันไม่สมควรได้

[*ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 3 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 11]

พละ 5 *

(พลังของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินได้ )

  1. กายพละ ต้องทรงมีพระกำลังพระวรกายเข้มแข็งเพื่อการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
  2. โภคพละ ต้องทรงมีพระราชทรัพย์เพื่อการบำรุงเลี้ยงบุคคลที่พึงบำรุงเลี้ยง
  3. อมัจจพละ ต้องทรงมีข้าทูลละอองธุลีพระบาท และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เพื่อเป็นกำลังทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
  4. อภิชัจจพละ ต้องเสด็จพระราชสมภพในตระกูลอันเป็นผลมาจากปุพเพกตปุญญตา (บุญบารมีที่ทำไว้ในกาลก่อน) เพื่อให้เป็นที่นิยมนับถือของมหาชน
  5. ปัญญาพละ ต้องมีพระปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบ ทรงขวนขวายบรมพระปัญญาให้เพิ่มพูน เพื่อจะได้มีพระญาณทราบเหตุผลแจ้งชัดในสรรพสิ่ง

[*ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 27]

สมเด็จบรมบพิตรเพิ่งเสด็จบรมราชัยสวรรค์ใหม่ เปรียบประดุจบรมศาสดาแรกตรัสรู้ เมื่อใดทรงบำเพ็ญพระราชธรรมให้สำเร็จแก่ประชาชนผู้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ก็เปรียบประดุจพระบรมศาสดาได้บำเพ็ญพุทธกิจบริบูรณ์ ทรงกระทั่งบรรลือพระสุรเสียงพระสุรนาถว่า กิจใดพระศาสดาผู้กรุณาแสวงหาประโยชน์แก่สาวกควรจะควรทำ กิจนั้นเราอาศัยความเอ็นดูได้กระทำแล้วแก่ท่านทั้งหลายทุกประการดังนี้ ข้อนี้จักสำเร็จเป็นพระบารมีต่อไปในอนาคต ยังพระราชอุบัติของพระองค์ให้มีผลสมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ภิกษุทั้งหลาย 2 บุคคลนี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแห่งชนเป็นอันมาก เพื่อความต้องการ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสำราญแห่งชนอันมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์

2 บุคคลนี้ คือ พระตถาคตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง และพระราชา พระจักรพรรดิหนึ่ง ดังนี้ อันพระราชอุบัติของพระมหากษัตริย์จะพึงมีผลดังพระพุทธภาษิตได้ ด้วยแต่อำนาจแห่งการบำเพ็ญพระราชธรรม ดังรับพระราชทานถวายวิสัชนามาฉะนี้

ทั้งหมดถอดความโดย TIF จากคลิป event.thaipbs.or.th/coronation/#video-4 (ช่วงเวลาที่ 3:20:50 ถึง 3:36:56)