[Special Content]
ใครจะคิดว่าโทรศัพท์ที่ทุกคนมีใช้กันอย่าง Nokia ต่อมากลับแทบจะหายไปจากตลาด เพราะถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟน ใครจะคิดว่าร้านเช่าเนื้อหาบันเทิงระดับโลกอย่าง Blockbuster หรือ Tsutaya จะต้องปิดตัวลงเพราะ On-demand content ที่ผู้คนสามารถเสพสื่อออนไลน์ได้โดยไม่ต้องลุกออกจากบ้าน กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่รุดหน้า ส่งผลให้ผู้เล่นหน้าใหม่แจ้งเกิดและเติบโตได้อย่างทวีคูณในเวลาไม่นาน พร้อมกับการล่มสลายของผู้เล่นเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน
การลงทุนของเราเองก็เช่นกัน นอกจากความเข้าใจงบการเงิน พื้นฐานบริษัท หรือแม้แต่กราฟเทคนิค นักลงทุนที่จะ “ไปต่อได้” จำเป็นต้องมองไปยังอนาคต และเมื่อพูดถึงอนาคต คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจและรู้เท่าทัน Megatrends ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และแม้กระทั่งฐานะความเป็นอยู่ของเราเองในแต่ละวัน
ตัวอย่างการลงทุนในหุ้นที่สามารถจับ Megatrends โลก ทั้งในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภคที่วิวัฒน์ไป และในเชิงเทคโนโลยีอินเตอร์เนทความเร็วสูงที่เข้าถึงระดับครัวเรือน จนสามารถสร้างความเติบโตของราคาหุ้นได้มหาศาลในเวลาไม่ถึง 20 ปีเช่น Netflix ที่จากเดิมให้เช่า DVD ส่งทางไปรษณีย์ กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในด้าน On-demand streaming อีกทั้งยังเป็นเจ้าของเนื้อหาชั้นนำเองอีกด้วย หลังจากเข้าตลาดในปี 2002 ที่ราคาประมาณ $1.07 ผ่านไป 17 ปี มีราคาล่าสุดอยู่ที่ $367 หรือเติบโตเฉลี่ย 40.9% ต่อปี

จะเห็นว่า การลงทุนใน Megatrends นั้น หากสามารถจับแนวโน้มได้ถูกต้อง ผนวกกับระยะเวลาการลงทุนที่มากพอเพื่อตัดความผันผวนระยะสั้นออกไป ก็จะทำให้เกิดโอกาสในการลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล แต่กระนั้น Megatrends เองก็ยังเป็นภาพการลงทุนกว้าง ๆ แม้นักลงทุนจะรู้แล้วว่า Megatrends นั้นมีประเด็นอะไรที่กำลังโดดเด่นอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องการข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างแม่นยำ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บลจ. กสิกรไทย นำโดยคุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย พร้อมด้วยพันธมิตร บลจ.ระดับโลกมากประสบการณ์อย่าง Allianz Global Investors และ Baillie Gifford ได้จัดงานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลากหลายมิติ รวมถึงมุมมองด้านการลงทุนเพื่อให้พร้อมสำหรับการก้าวไปคว้าโอกาสที่น่าสนใจในทศวรรษใหม่
โดยคุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมวันนี้เราต้องพูดเรื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า” ทำไมไม่พูดประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เช่น FED ถ้าปรับลดดอกเบี้ยแล้วจะเป็นอย่างไร หรือ Trade war จะจบเมื่อไร แต่หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ จะพบว่าแต่ละยุคสมัยจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เช่นสมัยก่อนมีกำแพงเบอร์ลิน และสหภาพโซเวียต ปัจจุบันก็ล่มสลายไป หรือในด้านโครงสร้างประชากร สมัยก่อนเราจะได้ยินคำว่า Over population แต่ปัจจุบันจะได้ยินคำว่า Aging society แทน หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยีเองที่สมัยก่อนเราดูละครได้ผ่านโทรทัศน์เท่านั้น แต่สมัยนี้สามารถดูผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้
ถ้าเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น ล้วนเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งน่าจะเป็น Megatrends ที่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง หากเราสามารถนำประเด็นเหล่านี้ซึ่งเกิดจากพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่พยายามมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มาจัดเป็นกลุ่มต่าง ๆ ที่เหมาะสม ก็น่าจะเห็นความเป็นไปได้ของโลกในอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่การจะทราบว่า Megatrends อะไรที่น่าจะเกิดขึ้นรวมถึงผลอาจเกิดกับเราในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความเข้าใจภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วย

หากมองภาพในระดับโลก ขณะนี้กำลังเกิด 3 สงครามใหญ่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคต
- สงครามแรกคือ สงครามระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่า (Traditional) และเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy)
- สงครามที่สอง คือ สงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีน
- และสงครามที่สาม คือ สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์
โดยดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ถึงผู้ชนะและผู้แพ้ของสงครามนี้ และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

สงครามแรก ระหว่างเศรษฐกิจยุคเก่า (Traditional) และเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) ซึ่งปัจจุบันโลกของเราได้มีการเปลี่ยนผ่านจากยุคการค้า เป็นยุคการเงิน และเข้าสู่ยุคข้อมูล โดยปริมาณข้อมูลที่หมุนเวียนในโลก มีการเติบโตอย่าง exponential ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แม้ในยุคนี้จะเป็นยุคที่ใครที่มีข้อมูลมากกว่าได้เปรียบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ใช้ข้อมูลเป็นหลักจะชนะเศรษฐกิจยุคเก่า หากแต่ผู้ชนะ คือ ผู้ที่สามารถรวมข้อดีของทั้งสองยุคเข้าด้วยกัน และรู้จักปรับตัวตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจที่สามารถทำได้จะทำให้มีโอกาสอยู่รอดและโดน Disrupt ได้ยาก เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ยังมีหน้าร้าน แต่ก็สามารถสั่งผ่านออนไลน์และไปส่งให้ลูกค้าที่บ้านได้ จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนมากในการขยายสาขาใหม่ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากลูกค้าเองก็สามารถนำไปทำ Digital Marketing ผ่าน Facebook ซึ่งเป็นช่องทางการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงและช่วยประหยัดต้นทุนค่าโฆษณาได้อีกด้วย ดังนั้น นักลงทุนควรจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถรวมทั้งสองยุคนี้เข้าด้วยกันได้
ต่อมาคือสงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจริง ๆ แล้วสงครามที่เกิดขึ้นนั้น คือ สงครามการแย่งจุดยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการค้า การเงิน และเทคโนโลยี ไม่ใช่สงครามการค้าเพียงอย่างเดียว โดยสงครามนี้น่าจะยังไม่จบง่าย ๆ แม้จะยังมองผู้ชนะในศึกนี้ได้อย่างยาก และในระยะสั้น สงครามนี้คงจะส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย แต่ในระยะยาวประเทศในอาเซียนก็มีโอกาสได้รับผลดีจากการย้ายฐานผลิต โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่คาดว่าได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนในการพิจารณาเข้าไปลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์

สงครามสุดท้าย คือ สงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ แม้ในปัจจุบันหุ่นยนต์หรือ AI ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ยิ่งขึ้น จนหลายคนเริ่มกังวลว่าสมองกลจะเข้ามาแทนที่ตัวเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ยังมีความคิดสร้างสรรค์และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่มี ทำให้มนุษย์มีบทบาทเหนือหุ่นยนต์ ดังนั้น มนุษย์ที่สามารถเรียนรู้และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ก็จะเป็นผู้ชนะและอยู่รอดในยุคหุ่นยนต์ได้ เหมือนกับนักลงทุนต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดในโลกของการลงทุนในยุคนี้ที่มี Robot Trade หรือ AI Trade
และภายใต้ 3 สงครามที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ได้สร้างโอกาสการลงทุนหลากหลาย Theme ผ่านกระแส Megatrends ของโลก ซึ่ง Mr.Holger Wehner, Product Specialist ของ Allianz Global Investors มองว่ามีแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นอยู่หลัก ๆ 4 Megatrends ได้แก่
1) การขยายตัวของเมือง (Urbanization) โดยปัจจุบันประชากรในหลายประเทศย้ายเข้าอยู่ในเมืองใหญ่กันมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ.ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ ผู้อำนวยการหลักสูตร CIO วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่าผู้คนทั่วโลก ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉลี่ยมากถึง 3,000,000 คน/สัปดาห์ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่นั้น เราจึงสามารถลงทุนผ่าน Theme Smart cities โดยเน้นลงทุนในธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีโอกาสเติบโตตามการไหลบ่าของคนวัยทำงานเข้าสู่เมืองใหญ่


2) ขยับมาที่การลงทุนผ่าน Megatrends เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคม (Demographical & Social Change) โดยการลงทุนใน Theme Pet Economy มีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรในปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น จึงมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Allianz Global Investors ชี้ว่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มีการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 5.2% ต่อปี
3) แนวโน้มของนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี (Technological Innovation) ก็ทำให้เกิด Theme การลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ซึ่งปัจจุบัน AI มีบทบาทในด้านธุรกิจมากขึ้น ทั้งด้านขนส่ง การเงิน การแพทย์ หรือการผลิต หรือแม้แต่บริษัท Platform ต่าง ๆ ที่เกิดในเศรษฐกิจยุคใหม่ อย่าง Facebook หรือ Airbnb ก็ได้รับแรงสนับสนุนจาก Megatrends นี้เช่นกัน และยังมีอีกหลาย Theme ที่เกิดขึ้นภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้มากในอนาคต เช่น Theme Battery Storage ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจจัดหาวัตถุดิบด้านนี้ และผู้ดูแลและพัฒนาโครงสร้างเกี่ยวกับ Storage

4) นอกจากนั้น ความมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรของโลก (Resource Scarcity) ก็ทำให้เกิด Theme การลงทุนในพลังงานสะอาด ซึ่ง Mrs. Alison Cuthbert, Portfolio Specialist จาก Baillie Gifford ได้ยกตัวอย่างการลงทุนในบริษัท Orsted ซึ่งเปลี่ยนพลังงานลมในทะเลมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นบริษัท Signify ซึ่งสามารถผลิตหลอดไฟ LED ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า Megatrends ต่าง ๆ นั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกและสร้างโอกาสในการลงทุนมากมาย ซึ่งในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย โดยคุณธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า Theme ที่ค่อนข้างสำคัญและจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้คือ Theme การลงทุนในการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Spending) ซึ่งสอดรับกับ Megatrends ของโลกอย่างการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) โดยจากข้อมูล ก็พบว่าตั้งแต่ปี 2015 ในประเทศไทยภาครัฐเริ่มมีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มมากขึ้น

รวมทั้ง Theme การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล (Digitalisation) เองก็สอดรับกับ Megatrends นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี (Technological Innovation) โดยหากพิจารณาในด้าน E-Commerce ก็พบว่ามูลค่าธุรกิจของประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในระดับ 18% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทย และการมี Mobile e-payment ของธนาคาร


และถึงแม้บาง Megatrends อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าในอนาคต คนไทยจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แน่นอน ดังนั้น เมื่อ Megatrends เหล่านี้กำลังก่อตัวและอยู่ในช่วงเติบโต ใครที่สามารถเรียนรู้และพร้อมคว้าโอกาสในการลงทุนนี้ได้ก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ◄
Categories: Investment Articles