Financial Markets Update

เปิดความเชื่อ & ความจริง 9 ข้อของการลงทุนตราสารหนี้ | FI Series by ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย x TIF

ผู้ก่อตั้ง TIF เคยสวมหมวกนักลงทุนสถาบันอยู่มากกว่า 10 ปี ได้คลุกวงในอยู่ในวงการตราสารหนี้อยู่เป็นเวลาพอสมควร ซึ่งทั้งหมดอยู่ในฝั่ง Buyer (ผู้ซื้อลงทุน) ผ่านการลงทุนทั้งตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้เอกชน ที่มีเครดิตเรทติ้งและไม่มีเครดิตเรทติ้ง รวมถึงตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (แต่ได้ผลตอบแทนดี) ไปจนถึงการทำธุรกรรมบริหารสภาพคล่องระยะสั้น ทั้งที่ทำกับเอกชนด้วยกัน (Private Repo) และที่ทำกับแบงก์ชาติ (BoT’s Deposit Facility) จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของวงการตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด

แต่หลังจากออกมาตั้งธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) ของตัวเอง (และผองเพื่อน) ก็เปลี่ยนหมวกจาก Investment Buyer มาเป็น Investment Advisor ในด้านกองทุนรวม ไม่ได้ลุยลงทุนในตราสารหนี้เป็นตัว ๆ มาพักใหญ่

อย่างไรก็ดี ล่าสุด TIF มีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้บริหารด้านตลาดทุนของธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMB THAI Bank) ซึ่งดูแลด้านตลาดรองตราสารหนี้ (Fixed Income Secondary Market) โดยตรง จึงอดไม่ได้ที่จะอัปเดตความเป็นไปของวงการในยุคล่าสุด ซึ่งก็พบว่า แม้จะมีนักลงทุนบุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุนในตลาดนี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดในหลักการและกลไกของตลาดนี้อยู่อีกมาก ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการลงทุน (เพราะไม่รู้จึงไม่กล้าลงทุน) หรือไม่ก็เกิดความเสียหายในการลงทุน (คิดว่าที่รู้มาคือถูก แต่จริงแล้วผิด ทำให้ตัดสินใจบิดเบี้ยวไปจากที่ควร)

TIF จึงขอใช้โอกาสนี้ นำประเด็นที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย พบว่านักลงทุนมีความเข้าใจผิดเป็นอันดับต้น ๆ มาอธิบายให้ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้ลงทุนในตลาดรองตราสารหนี้อย่างมั่นใจ เกิดเป็นผลลัพธ์การลงทุนที่ดีขึ้นไปอีกขั้น โดยจะแบ่งความเข้าใจผิดออกเป็น 2 สายหลัก ๆ คือ 1) ด้านลักษณะพื้นฐานและความเสี่ยงจากการลงทุน และ 2) ด้านกลไกการซื้อขายในตลาดรอง

และเพื่อความเข้าใจตรงกัน เมื่อพูดถึง”ตราสารหนี้” ในบทความนี้ จะหมายความถึงตราสารหนี้ที่รวมถึงพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้เอกชน ทั้งนี้ ความหมายอย่างย่อของตราสารหนี้ ก็คือ เอกสารที่แสดงสิทธิในฐานะ “เจ้าหนี้” โดยที่สิทธินั้นสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้

ด้านลักษณะพื้นฐานและความเสี่ยงจากการลงทุน

ความเข้าใจผิดที่ 1: ตราสารหนี้เสี่ยงกว่าหุ้น

โดยภาพรวมแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากหลักสากลว่า High risk = High (expected) return หรือแปลเป็นไทยว่า “ความเสี่ยงสูงขึ้นก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น” และในเมื่อเราเข้าใจกันอยู่แล้ว ว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวของผลตอบแทนในตราสารหนี้อยู่ในระดับ 2%-4% ต่อปี ในขณะที่ของหุ้นสามัญ อยู่ในระดับสูงกว่า 10% ต่อปี (อ้างอิง: ข้อมูลรวบรวมโดย TIF ณ ก.ค. 62) ก็ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่าตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น

นอกจากนั้น ยังมีความเข้าใจถูก(ไม่หมด) ว่าหากตราสารหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยวหนี้) แล้วจะต้องสูญเสียเงินลงทุนไปทั้งหมด ขณะที่ความจริงคือ เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ นักลงทุนยังไม่ได้เสียเงินลงทุนไปทั้งหมดทันที แต่เป็นการไม่ได้รับชำระหนี้ตามกำหนดการเดิม และหากบริษัทที่ออกตราสารหนี้สามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีตามเดิม ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราพิเศษเป็นการชดเชยด้วย

ส่วนในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ประสบปัญหาขั้นร้ายแรง ถึงขั้นล้มละลาย ก็ยังมีกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ที่มักจะจบในแบบที่ผู้ลงทุนได้อะไรติดไม้ติดมือกลับออกมาบ้าง หรือแม้แต่ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน ไม่ได้สูญเสียเงินไปทั้ง 100% แต่กระบวนการอาจจะกินเวลานานหลายปี กว่าจะเจรจากันเรียบร้อยลงตัว

สรุป: ตราสารหนี้โดยภาพรวมแล้วเสี่ยงต่ำกว่าหุ้น

ความเข้าใจผิดที่ 2: ตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรทติ้งสูง ๆ เท่ากับไม่เสี่ยงเลย และถ้าได้เครดิตเรทติ้งระดับไหนก็จะได้ระดับนั้นไปตลอด

เครดิตเรทติ้งระดับดีที่สุด หรือ “AAA” ก็ยังมีความเสี่ยง เพียงแต่มีความเสี่ยงในระดับต่ำมาก (แต่ไม่ใช่ไม่มี) และหากเป็นเครดิตเรทติ้งในประเทศ (Local rating) ด้วยแล้ว แม้จะได้ระดับ “AAA” แต่เมื่อนำไปเทียบกับระดับนานาชาติ (International rating) ก็อาจพบว่าไม่ได้เป็นระดับดีที่สุดอีกต่อไป

เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย เมื่อมองภายในประเทศจะถือว่าความเสี่ยงต่ำกว่าระดับ “AAA” เสียอีก แต่เมื่อนำไปเทียบกับพันธบัตรของรัฐบาลที่มีฐานะการเงินดีกว่า ก็กลายเป็นว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นมากเช่นกัน เช่น FitchRaing ให้เครดิตเรทติ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ในระดับ “AAA” (International) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทยมีเครดิตเรทติ้งในระดับ International ที่ ” BBB+” ซึ่งต่ำกว่า “AAA” อยู่หลายระดับ

โดยการจัดอันดับความเสี่ยง (ตามสเกลของ FitchRating) ทั้งระดับนานาชาติและในประเทศ จะเริ่มจาก “AAA” ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ลำดับถัดไปคือกลุ่ม “AA” ลงไปถึง “A” และ “BBB” ซึ่งรวมเรียกว่ากลุ่มที่ลงทุนได้ หรือ Investment Grade และหากมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก ก็จะได้เครดิตเรทติ้งต่ำลงไปที่ “BB” และ “B” โดยกลุ่มอันดับเครดิตที่กล่าวมา ยกเว้น “AAA” จะมีประจุบวกและลบช่วยแยกระดับความเสี่ยงภายในกลุ่มนั้น ๆ ด้วย เช่น “AA+” ก็จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า “AA” และ “AA-” ก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่า “AA”

และไม่ว่าจะเป็นเครดิตเรทติ้งระดับในประเทศหรือระดับนานาชาติ เมื่อสถานะของกิจการเปลี่ยนไป เครดิตเรทติ้งก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างประกาศจาก TRIS Rating นี้ช่วยแสดงให้เห็นภาพได้เป็นอย่างดี

สรุป: เครติดเรทติ้งที่สูง ๆ ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยง และเครดิตเรทติ้งของบริษัทนั้น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานะกิจการ

ด้านกลไกการซื้อขายในตลาดรอง

ความเข้าใจผิดที่ 3: จะซื้อตราสารหนี้ได้ ต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ต้องใช้เงินเยอะ

ไม่ต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ก็ซื้อตราสารหนี้ได้ เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินหลักล้าน หรือต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติผู้ออกตราสารหนี้มักกำหนดปริมาณซื้อขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100 หน่วย หรือ 100,000 บาทเท่านั้น (ราคาพาร์ที่ 1,000 บาท/หน่วย)

สรุป: ใช้เงินหลักแสนต้น ๆ ก็ซื้อตราสารหนี้ได้แล้ว

ความเข้าใจผิดที่ 4: ถ้าจะซื้อตราสารหนี้ ต้องซื้อตอนออกใหม่เท่านั้น

การซื้อตราสารหนี้ สามารถทำได้ผ่าน 2 ตลาด คือ

1) ตลาดแรก (Primary market) เปรียบเหมือนการซื้อหุ้นออกใหม่ IPO และ
2) ตลาดรอง (Secondary market) เปรียบเหมือนการซื้อหุ้นผ่าน SET

ซึ่งจะเห็นว่าในวงการหุ้นนั้น นักลงทุนทำการซื้อขายผ่านตลาดรองหรือผ่าน SET มากกว่าการได้หุ้น IPO เสียอีก

การซื้อตราสารหนี้ ก็สามารถซื้อผ่านตลาดรองตราสารหนี้ได้เช่นกัน จะต่างตรงที่ตลาดรองตราสารหนี้ ไม่มีศูนย์กลางชัดเจนเหมือนตลาดหุ้น (ซึ่งคือ SET) แต่เป็นการเจรจาต่อรองราคาระหว่างคนจะซื้อจะขาย ซึ่งผู้ให้บริการรับซื้อขาย ก็มีตัวเลือกมากมายทั้งที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ และที่เป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่กว่า อย่างธนาคารพาณิชย์

(ตัวอย่างการเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย)

สรุป: สามารถซื้อตราสารหนี้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ผ่านตลาดรอง

ความเข้าใจผิดที่ 5: เมื่อซื้อตราสารหนี้มาแล้ว ต้องถือไว้จนครบกำหนดเท่านั้น และต้องขายทั้งก้อน แบ่งขายไม่ได้

ต่อเนื่องจากข้อ 4 ในเมื่อสามารถซื้อได้ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองแล้ว ก็สามารถขายในตลาดรองได้เช่นกัน (ถ้าไม่มีคนเอามาขาย เราจะซื้อจากใคร) โดยสามารถเสนอขายได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และสามารถเลือกขายเพียงบางส่วนก็ได้ ไม่ต้องขายทั้งหมดที่มีอยู่

สรุป: อยากขายตราสารหนี้เมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรอจนครบกำหนด และจะขายเพียงบางส่วนก็ได้

ความเข้าใจผิดที่ 6: ต้องขายคืนตราสารหนี้ให้สถาบันการเงินที่ซื้อมาตอนแรกเท่านั้น

ต่อเนื่องจากข้อ 4 และ 5 นอกจากจะเสนอขายเมื่อไรก็ได้ ยังสามารถเลือกขายบางส่วนก็ได้ และสามารถขายผ่านผู้ให้บริการ (ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง) รายไหนก็ได้ หรือจะเสนอขายผ่านหลาย ๆ ผู้ให้บริการพร้อมกันก็ได้ แล้วดูว่าที่ไหนให้ข้อเสนอที่ดีกว่า

ทั้งนี้ ตราสารหนี้คุณภาพดี ได้แก่กลุ่ม Investment Grade มีแนวโน้มว่าจะซื้อง่ายขายคล่องกว่าตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ Investment Grade โดยสถาบันการเงินผู้รับซื้อตราสารหนี้จะพิจารณาเกณฑ์นี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

สรุป: ซื้อตราสารหนี้จากสถาบันการเงินหนึ่ง แล้วจะไปขายให้อีกสถาบันการเงินก็ได้

ความเข้าใจผิดที่ 7: การขายตราสารหนี้ในตลาดรอง จะมีแต่ผลขาดทุนเท่านั้น ไม่มีกำไร

การลงทุนที่มาถูกทางย่อมทำกำไรได้เสมอ ตราสารหนี้ก็เช่นกัน โดยปัจจัยหลักที่กำหนดผลกำไรขาดทุนจากตราสารหนี้ คือระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้น เทียบกับต้นทุนที่นักลงทุนได้มาแต่เดิม

โดยที่เราเข้าใจพื้นฐานกันอยู่แล้วว่า เมื่อปัจจัยอื่นคงที่ หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง และในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น

เช่น หุ้นกู้บริษัท A อายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง และจะคืนเงินต้น 1,000 บาท/หน่วย ในวันสุดท้ายที่ครบอายุ 3 ปี .. ดังนั้น ณ วันออกหุ้นกู้ อัตราคิดลดของหุ้นกู้นี้ก็คือ 3% ซึ่งราคาหุ้นกู้ที่เพิ่งออก สามารถคำนวณได้ดังนี้

ต่อมา สมมติตกบ่ายอัตราดอกเบี้ยในตลาดเกิดพุ่งขึ้นเป็น 4.50% อัตราคิดลด (ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยในตลาด) ก็พุ่งขึ้นเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นกู้จะเป็นดังนี้

เท่ากับว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นทันทีทันใด จาก 3.00% เป็น 4.50% ราคาหุ้นกู้จะร่วงลงจาก 1,000 บาท เหลือ 958.76 บาท

ในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงเป็น 1.50% ในวันเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นกู้ ก็จะเป็นดังนี้

เท่ากับว่า หากอัตราดอกเบี้ยลดลงทันทีทันใด จาก 3.00% เป็น 1.50% ราคาหุ้นกู้จะเพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 1,043.66 บาทหรือ 4.4%

นอกจากนั้น ผลกำไร (หรือขาดทุน) จากการลงทุนในตราสารหนี้ ยังอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเครดิตเรทติ้งในภายหลัง ซึ่งในกรณีที่ได้รับการอัปเกรดเครดิตเรทติ้ง ก็มักจะทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดของตราสารหนี้นั้นลดลง เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่ลดลง เป็นผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นผลกำไร และหากเป็นตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า ก็จะได้รับผลกระทบสูงกว่าจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนในตลาด

จะเห็นว่า อัตราผลตอบแทนในตลาดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาตราสารหนี้ โดยมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลร่วมด้วย

สรุป: ตราสารหนี้ก็สามารถขายแล้วมีกำไรได้ ไม่ต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ

ความเข้าใจผิดที่ 8: การซื้อตราสารหนี้ในตลาดรองมักต้องซื้อราคาเกินหน้าตั๋ว ทำให้ขาดทุน และจะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหน้าตั๋วเท่านั้น

จากข้อ 7 จะเห็นว่า ในภาวะตลาดที่เป็นใจ นักลงทุนก็สามารถซื้อตราสารหนี้ ณ ราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว (ต่ำกว่า 1,000 บาท/หน่วย) ได้เช่นกัน และหากต่อมาภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ก็จะเกิดเป็นผลกำไรจากราคาอีกด้วย

นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ นักลงทุนจะได้รับกระแสเงินสด 2 ส่วนประกอบกันคือ 1) ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว และ 2) เงินต้น 1,000 บาท/หน่วย ที่จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด (สำหรับตราสารหนี้ส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ประเภททยอยคืนเงินต้น) ขณะที่เราเข้าใจแล้วว่า ราคาตลาดที่เปลี่ยนไปในภายหลัง อาจสูงหรือต่ำกว่า 1,000 บาท/หน่วยก็ได้

ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจมากขึ้น สมมติว่าตราสารหนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วไว้ 4% ต่อปี และออกขายครั้งแรกที่ราคา 1,000 บาท/หน่วย ต่อมาอัตราผลตอบแทนในตลาดลดเหลือ 3% ต่อปี ซึ่งทำให้ราคาตลาดเพิ่มเป็น 1,050 บาท/หน่วย และเราเข้าไปซื้อไว้ที่ราคานั้น

ในทางปฏิบัติ เราก็จะยังได้ดอกเบี้ยเป็นเงินสดจากผู้ออกตราสาร ในอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 4% ต่อปีอยู่ตามเดิม แต่เนื่องจากนักลงทุนเข้าไปซื้อที่ราคา 1,050 บาท/หน่วย และถ้าถือจนครบกำหนดก็จะได้รับเงินต้นคืนที่ราคา 1,000 บาท/หน่วย เมื่อนำเงินสดจากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 4% ต่อปี (ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนตลาด) มาหักกลบกับเงินต้นที่จะได้เพียง 1,000 บาท/หน่วย (ซึ่งต่ำกว่าราคา 1,050 บาท/หน่วย ที่ซื้อมา)

เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดแล้ว เท่ากับว่านักลงทุนถือครองตราสารหนี้นั้นโดยได้ผลตอบแทนสุทธิ 3% ต่อปี

ในทางกลับกัน หากซื้อตราสารหนี้นั้นที่อัตราผลตอบแทนตลาด 5% ต่อปี ณ ราคาตลาด 950 บาท/หน่วย ตามหลักการเดียวกันคือเมื่อนำเงินสดจากดอกเบี้ยหน่าตั๋ว 4% ต่อปี (ซึ่งต่ำกว่าผลตอบแทนตลาด) มาหักกลบกับเงินต้นที่จะได้รับ 1,000 บาท/หน่วย (ซึ่งสูงกว่าราคา 950 บาท/หน่วย ที่ซื้อมา) เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว เท่ากับนักลงทุนถือครองตราสารหนี้นั้นโดยได้ผลตอบแทนสุทธิ 5% ต่อปี

ส่วนการซื้อตราสารหนี้ที่ราคาสูงกว่าหน้าตั๋ว เช่น สูงกว่า 1,000 บาท/หน่วย หากเป็นไปตามราคาตลาด ก็ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุผลแล้วในขณะนั้น ไม่ได้เป็นการตัดสินใจผิดพลาดแต่อย่างใด ในแต่ละวันมีนักลงทุนรายอื่น ๆ ทำการซื้อขายที่ราคาเดียวกันมากมาย และต่อมาเมื่อภาวะตลาดเปลี่ยนไป ก็มีโอกาสได้กำไรด้วย

สรุป: ราคาตราสารหนี้ในตลาดรองขึ้นอยู่กับภาวะตลาด จึงเป็นไปได้ทั้งกรณีที่ราคาสูงและต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว โดยการซื้อที่ราคาสูงกว่าหน้าตั๋วไม่ได้แปลว่าขาดทุน แถมยังมีโอกาสได้กำไรหลังจากนั้นด้วย นอกจากนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ประกอบด้วยหลายส่วนประกอบกัน

ความเข้าใจผิดที่ 9: ลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมดีกว่าลงทุนโดยตรงในทุกกรณี

สรุป: การลงทุนเองโดยตรงในตราสารหนี้ มีข้อได้เปรียบเรื่องอิสระในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงไม่ต้องถูกหักค่าบริหารจัดการกองทุน และสามารถเลือกนำไปขายกับผู้ให้บริการรายใดก็ได้

ถึงจุดนี้ ผู้อ่านก็ได้ก้าวข้ามความเข้าใจผิดมายังฝั่งเข้าใจถูกได้ถึง 9 ข้อด้วยกัน จึงเชื่อว่าน่าจะสร้างความมั่นใจที่จะลงทุนตราสารหนี้ผ่านตลาดรองได้เป็นอย่างดี ทางธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงฝากข้อมูลมาเผยแพร่เพิ่มเติมว่า ธนาคารเป็นผู้ให้บริการในธุรกิจนี้มาเป็นเวลานาน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณการซื้อขายผ่านธนาคารสูงถึง 353,252 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 ของวงการ และนับเป็นธนาคารสัญชาติเอเซียด้วยกันที่มีปริมาณธุรกรรมสูงสุดในประเทศไทย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2561 ธนาคารมีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ 310,229 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับ 5

(ข้อมูลจาก thaibma.or.th ณ 30 มิ.ย. 62 // อันดับ 1 เป็นสัญชาติอังกฤษ)

จากตัวเลขปริมาณธุรกิจในปี 2562 นี้ ได้แสดงถึงความเติบโตอย่างโดดเด่นในธุรกิจนี้ของธนาคาร ซึ่งในทางปฏิบัติจะช่วยให้นักลงทุนที่ใช้บริการผ่านธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับโอกาสที่สูงขึ้นในการลงทุน ทั้งในด้านความหลากหลายของตราสารหนี้ (Supply) และผลตอบแทนที่เหมาะสม (Yield)

ใครที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ผ่านตลาดรอง สามารถติดต่อธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขา หรือโทร 02-670-4666

หุ้นกู้ดี ๆ มีได้ทุกวัน กับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

โปรดทำความเข้าใจลักษณะตราสารหนี้ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

– บทความโดย SJ@TIF ผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย –

[Special Content]