(ราคากองทุนจ่ายปันผล + ปันผลที่ได้ทั้งหมด) < ราคากองทุนไม่จ่ายปันผล
อธิบายไว้หลายครั้งแล้วว่า การถือกองทุนที่จ่ายปันผล ตัวเราจะเสียภาษีหัก ณ ที่่จ่าย 10% และแม้ภาษีที่ถูกหักไปอาจจะขอคืนได้ในบางกรณี (เช่น เลือกเอาไปรวมเป็นรายได้ และรายได้ประเภทอื่นมีไม่มาก) แต่ตัวกองทุนก็ยังเสียโอกาสลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะต้องขายหลักทรัพย์ในกองทุนเอาเงินสดมาจ่ายปันผลให้เรา
แต่พูดเฉย ๆ ก็อาจจะไม่ชัดเจน เลยขอยกตัวอย่างกองทุนหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง (ข้อมูลจริง ณ 29 ส.ค. 62 (ข้อมูลราคาวันที่ 28 ส.ค. 62 จากบริการ Aspen by ThaiQuest) ซึ่งกองทุนนี้แบ่งเป็น “Class” ย่อย คือ A ที่ไม่จ่ายปันผล (Accumulation) และ D ที่จ่ายปันผล (Dividend) โดย ณ วันเดียวกัน กองทุนที่เป็น Class A มีราคา 18.2678 บาท ส่วน Class D มีราคา 10.474 บาท ต่างกัน 7.7938 บาท
ถ้าดูเร็ว ๆ ก็อาจจะคิดว่า ส่วนต่าง 7.7938 บาท ก็ต้องเป็นเงินปันผลสินะ เพราะกองนึงจ่ายปันผล อีกกองไม่จ่ายปันผล .. แต่พอไปรวบรวมข้อมูลการจ่ายเงินปันผลทั้งหมด กลับพบว่ากองทุน Class D จ่ายปันผลออกมาแค่ 6.3800 บาท ท่ากับว่า มีส่วนต่างเกิดขึ้น 7.7938 – 6.3800 = 1.4138 บาท ซึ่งเกิดจากการที่กองทุนเสียโอกาสในการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ จากเงินที่ต้องจ่ายปันผลออกมารวม ๆ กันถึง 6.3800 บาท
และนอกจากนั้น เงินปันผล 6.3800 บาท มักจะถูกเลือกให้เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีก 10% นักลงทุนจึงเหลือเงินปันผลเข้ากระเป๋าเพียง 5.7420 บาท คือต้องเสียภาษีไป 0.6380 บาท ซึ่งอย่างที่เกริ่นไปตอนแรก ภาษีส่วนที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายนี้ ความจริงก็มีโอกาสขอคืนได้ในบางครั้ง เช่น เลือกนำรายได้จากเงินปันผลไปรวมเป็นรายได้พึงประเมิน โดยที่รายได้ประเภทอื่นมีน้อย คำนวณแล้วจึงสามารถขอคืนภาษีได้ .. แต่ในหลาย ๆ โอกาส เราก็เลือกที่จะให้หัก ณ ที่จ่าย 10% ไปเลย เพราะคิดแล้วไม่คุ้มที่จะเอาไปรวม (ถ้าคิดรวมแล้วต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แทนที่ได้คืน)
รวมแล้ว การลงทุนในกองทุน Class D ที่จ่ายปันผล ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ไป 2.0518 บาท หรือคิดเป็น 12.65% เมื่อเทียบกับราคากองทุน Class A (กรณีไม่ขอคืนภาษี หรือ คำนวณแล้วไม่ขอคืนจะดีกว่า) .. ถ้าพูดถึงมูลค่าเงินลงทุน 100,000 บาท 12.65% ก็ 12,650 บาทเลยทีเดียว
ส่วนกรณีที่ขอคืนภาษีได้ทั้งหมด ก็ยังเสียประโยชน์ไปถึง 1.4138 บาท หรือคิดเป็น 7.73% ของราคากองทุน Class A .. ลงทุน 100,000 บาท ก็หายไป 7,730 บาท
ไม่มีปันผลแต่อยากได้เงินสด ต้องทำยังไง ?
คำตอบง่ายมาก นั่นก็คือ “อยากใช้เงินสดเมื่อไร ก็สั่งขายหน่วยลงทุนได้เองตลอดเวลา ขณะที่กองทุนแบบจ่ายปันผล เราไม่ได้กำหนดวันจ่ายปันผลเอง ต้องรอให้กองทุนประกาศจ่ายออกมา .. คืออยากใช้เงินกี่บาทก็คำนวณหน่วยได้ไม่ยาก หรือจะสั่งขายเป็นจำนวนเงินก็ได้ และเงินค่าขายที่ได้รับทุกบาท ไม่เสียภาษี” หรือถ้ากลัวลืม จะตั้ง alarm ไว้ทุก ๆ ช่วงเวลาที่อยากได้เงินสดก็ได้ เช่น ทุกสิ้นเดือน หรือสิ้นไตรมาส .. แต่กระนั้น ก็ขอแนะนำว่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรขายออกมา เก็บไว้ลงทุนยาวดีกว่า
ไม่จ่ายปันผลไม่ได้ดีกว่าเสมอไป ต้องเทียบให้ดีก่อน
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เห็นกองทุนไหนไม่จ่ายปันผล แล้วจะแปลว่ามันดีกว่ากองทุนที่จ่ายปันผลทุกกองเสมอไป .. ยังมีกองทุนจ่ายปันผลอีกหลายกอง ที่ให้ผลตอบแทน “ดีกว่า” กองทุนที่ไม่จ่ายปันผลบางกองเช่นกัน ซึ่งการจะเทียบให้ได้ “เกือบ” สมบูรณ์นั้น ต้องดูที่ Total Return* ครับ
สมมติ กอง X และ Y เป็นกองทุนประเภทเดียวกันจากคนละบลจ. .. กอง X จ่ายปันผล แต่ให้ Total Return 40% ต่อปี เทียบกับกอง Y ที่ไม่จ่ายปันผล แต่ให้ Total Return 10% ต่อปี .. แบบนี้ก็ชัดเจนว่า ไปกอง X เห๊อะะ แม้จะเสียภาษีเงินปันผลบ้าง ก็ยังดีกว่ากอง Y อยู่มาก
ส่วนในบทความ จะเทียบกองทุน “ตัวเดียวกัน” ที่แยกเป็นคลาสย่อย มันจึงเทียบกันได้ชัดเจนมาก ๆ ซึ่งช่วยใช้ตัดสินใจได้ดี ในกรณีที่ไม่รู้จะเลือกคลาสไหนตัวไหน ในกองทุนคู่แฝดเดียวกัน
ถ้าลงทุนซ้ำ ผลจะเท่ากันมั้ย ?
เคยมีถามมาหลังไมค์ว่า “แล้วถ้าเราเอาปันผลไปลงทุนซ้ำ แล้วก็ได้คืนภาษีปันผลเท่าที่ถูกหักไป จะได้พอ ๆ กับกองทุนไม่ปันผลมั้ย?”
ซึ่งก็ได้ตอบไปว่า
“ถ้าจะตั้งใจจะลงทุนเต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบนั้นอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนจ่ายปันผลให้ยุ่งยากแต่แรกเลยครับ ไหนจะต้องตามดูว่าเมื่อไรมีการจ่ายปันผล ไหนจะต้องไม่หลงลืมการส่งคำสั่งซื้อกลับให้ครบทุกรอบปันผล ไหนจะมีรายละเอียดที่ต้องยื่นภาษีเพิ่มขึ้น (กรณีจะขอคืนภาษี) .. ขณะที่กองทุนแบบไม่จ่ายปันผลเราจะไม่มีภาระลักษณะนี้เลย ถือไปเรื่อย ๆ ชิว ๆ ตราบใดที่มันยังเป็นกองทุนที่ดีอยู่”
ถ้าจ่ายปันผลแล้วไม่ดี ทำไมยังทำมาขาย ?
ลองสวมหมวกฝั่งบลจ. ผู้บริหารกองทุน การที่กองทุนจ่ายเงินปันผลออกมา มีแต่ผลเสียครับ ข้อแรก บลจ. มีภาระมีต้นทุนในการทำธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับลูกค้าทุกคน แถมยังต้องมีภาระไปยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้สรรพากรด้วย ข้อสอง รายได้ของบลจ.แปรตามขนาดกองทุน เมื่อกองทุนจ่ายปันผลออกมา ขนาดกองทุนก็หดลง รายได้ก็ลดลง
หากจะใช้กองทุนด้านบนคือ แบบ A และ แบบ D เป็นตัวอย่าง สมมติมีจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด (Quantity) เท่ากันและเก็บค่าบริหารกองทุนในอัตราเดียวกัน จะเห็นว่า กองทุน B (ราคา 10.474 บาท ) สร้างรายได้ให้กับบลจ. น้อยกว่ากองทุน A (ราคา 18.2678 บาท) ถึงเกือบครึ่งหนึ่ง เพราะ รายได้บลจ. คิดจาก [Quantity x Price x อัตราค่าธรรมเนียมบริหารกองทุน]
สรุปคือ การจ่ายปันผล นอกจากบลจ.จะมีภาระต้นทุนเพิ่มแล้ว รายได้ยังลดลงด้วย .. นั่นแปลว่า แรงจูงใจในการทำกองทุนแบบจ่ายปันผล ไม่ได้เกิดจากตัวบลจ. เอง แต่เกิดจากความต้องการของนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ที่ยังอยากเห็นกระแสเงินสดกลับมาเรื่อย ๆ .. บลจ. จึงต้องมีไว้รองรับ (ไม่นับกองทุนบางประเภท เช่น กองทุนของกองทุนอสังหาฯ/โครงสร้างพื้นฐาน ที่ภาครัฐบังคับให้ต้องเป็นกองทุนที่จ่ายปันผลเท่านั้น)
ซึ่งกลายเป็นว่า กองทุนที่จ่ายปันผล (เน้นกรณีที่เทียบตัวเดียวกัน ที่แบ่งเป็นคลาสย่อย ๆ นะครับ) ส่งผลเสียกับทั้งสองฝ่าย ทั้งกับนักลงทุน-ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าแบบไม่จ่ายปันผล และกับทั้งบลจ.ผู้บริหารกองทุน-มีภาระต้องทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นแต่กลับสูญเสียรายได้
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จะตัดสินใจเลือกกองทุนอย่างไร ก็อยู่ที่การใช้เหตุผลของนักลงทุนล่ะครับ
ส่วนใครบอกอยากเสียภาษีช่วยชาติ ถ้าจะไปทางนั้นก็ย่อมได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า เรายังมีทางช่วยชาติช่วยสังคมได้อีกหลายทาง เช่น บริจาคเงินโดยตรงให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเราเลือกได้เองว่าจะให้เงินตกไปถึงใคร ซึ่งก็มักจะเอามาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย #วนไปวนมา (และถ้าอยากช่วยชาติให้ถึงที่สุด ก็ยังเลือกไม่เอามารวมเป็นรายการลดหย่อนภาษีก็ยังได้ครับ)
———
*การคำนวณ Total Return ที่ถูกต้องตามหลัก Global Investment Performance Standards (GIPS) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล จะไม่ใช่แค่เอาเงินปันผลมาบวกกลับ #มันไม่ได้ง่ายแค่นั้น แต่จะต้องแบ่งการคำนวณเป็นช่วงเวลาย่อย ๆ โดยจะใช้วันที่จ่ายเงินปันผลเป็นตัวแบ่งช่วงเวลา แล้วคำนวณผลตอบแทนจากราคาหน่วยลงทุนในแต่ละช่วงเวลาย่อย ๆ นั้น แล้วนำมาเชื่อมต่อกันด้วยค่าเฉลี่ยแบบ Geometric ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินปันผลที่่จ่ายมาคำนวณแต่อย่างใด ใช้แต่ราคาหน่วยลงทุนล้วน ๆ .. โดยวิธีแบบนี้เรียกว่า Daily Valuation method หรือ Time-weighted Rate of Return Method .. ถ้างง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://goo.gl/ou5t76
(ภาพจาก: https://www.treasurist.com/methodology)
Categories: Investment Articles