Inflations Report

รู้หรือไม่ .. อัตราเงินเฟ้อไทยมี 3 ชุด 6 ตัวเลข

Image may contain: indoor

1) อัตราเงินเฟ้อมี 2 แบบ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (รวมราคาสินค้าทุกชนิด) ซึ่งราคาผันผวนกว่า และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หัก อาหารสดและพลังงาน) ซึ่งราคานิ่งกว่า .. โดยแบงก์ชาติจะติดตามดูอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน

2) กระทรวงพาณิชย์แบ่งการนำเสนอเงินเฟ้อเป็น 3 ชุด คือ (1) ชุดทั่วไป ** ซึ่งเป็นแบบที่เราใช้อ้างอิงกันแพร่หลาย ** (2) ชุดรายได้น้อย ซึ่งจะใช้ข้อมูลครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่าชุดแรก และ (3) ชุดชนบท ซึ่งใช้ข้อมูลครัวเรือนที่อยู่นอกเขตเทศบาล

3) อัตราเงินเฟ้อ 2 แบบ x ข้อมูล 3 ชุด = 6 ตัวเลข

4) ข้อสังเกตจากข้อมูลชุดรายได้น้อยและชุดชนบท พบว่ามีสัดส่วนของอาหารและเครื่องดื่มไม่เมา มากกว่าข้อมูลชุดทั่วไป ซึ่งส่วนนี้รวมสินค้าสดไว้ด้วย และช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาสินค้าสดเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มรายได้น้อย และกลุ่มชนบท อยู่ในระดับสูงกว่า กลุ่มทั่วไป

5) จากข้อ 4 เมื่ออิงตามสัดส่วนและนิยามที่ภาครัฐกำหนดมา แปลได้ว่า คนจน และคนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ต้องเผชิญภาวะ “ข้าวของแพง” หนักกว่าคนกลุ่มที่เหลือ

6) จากสถิติในอดีต การกำหนดน้ำหนักสินค้าในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ จะทำทุก 4 ปี ซึ่งครั้งล่าสุดคือปี 2558 ดังนั้นในปี 2562 ก็อาจมีการปรับน้ำหนักรอบใหม่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ เท่าที่ผ่านมา 10 เดือน ยังคงใช้ตัวเลขชุดปี 2558 .. ตามดูกันต่อไป

7) “เงินเฟ้อ” กับ “อัตราเงินเฟ้อ” เป็นคนละสิ่งกัน ใช้แทนกันไม่ได้ .. เงินเฟ้อ คือ “ภาวะ” ที่ข้าวของมีราคาสูงขึ้น ส่วน อัตราเงินเฟ้อ เป็น “ตัวเลข” ที่แสดงระดับของเงินเฟ้อ

อ้างอิง:
• www.price.moc.go.th/price/know/cpi_note_2015.pdf
• www.price.moc.go.th/price/cpi/index_new.asp
• ww.bot.or.th/…/MonetaryPolicy/openLetter/OpenLetter_2561.pdf