Investment Articles

ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีแข่งขันโลก | The Global Competitiveness Index 2019

จากปี 2007 มาถึงปี 2019 ประเทศไทยเจริญขึ้นทุกด้าน แต่เจริญช้า จนโดนแซงไป 9 จาก 12 ด้าน !!

—-

Q: ความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่แถวไหนในโลก ?

A: ล่าสุดปี 2019 อยู่อันดับที่ 40 จาก 141 ประเทศทั่วโลก

—-

Q: อันดับดีสุดเท่าที่มีข้อมูล เคยอยู่ที่เท่าไร ?

A: ปี 2007 เคยอยู่ที่ 28 จาก 131 .. ผ่านมา 12 ปี ตกมา 12 อันดับ คือมี 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่ในภาพรวมเขาแซงหน้าเราไปได้

—-

Q: แล้วมีความดีบ้างไหม ?

A: แม้จะถูกแซงเกือบทุกด้าน แต่ถ้าดูที่ระดับความเจริญ เราก็เจริญขึ้นทุกด้าน

—-

Q: เจริญขึ้นก็ดีแล้ว ทำไมต้องดูอันดับ ?

A: สมมติเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็เหมือนกับตอนปี 2007 เรามีถนนความยาว 10 กม. พอผ่านไป 12 ปี เรามีเพิ่มเป็น 50 กม. แต่เพื่อน ๆ เขามีกันไปแล้ว 100 กม. .. ถ้ามองกันแค่ในประเทศ การมีถนนยาวขึ้นจาก 10 เป็น 50 กม. ก็ดี การคมนาคมดีขึ้น แต่ถ้าชาวโลกหรือนักธุรกิจข้ามชาติที่กำลังเลือกประเทศลงทุน/ค้าขาย เขาก็คงให้น้ำหนักประเทศที่มีถนน 100 กม. มากกว่าที่มี 50 กม. เพราะมีศักยภาพสูงกว่า .. เมื่อมีการเลือก มีการแข่งขัน ใครที่ดีกว่า โอกาสจะถูกเลือกก็สูงกว่า

—-

Q: แล้วการจัดอันดับ คำนวณมาจากกี่ด้านกี่ประเด็น ?

A: อันดับรวม คำนวณมาจาก 12 ด้านใหญ่ ซึ่งสรุปมาจาก 107 ด้านย่อย

—-

Q: ด้านใหญ่ด้านไหนที่ไทยแซงขึ้นหน้าได้แรงสุด ?

A: ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ปี 2007 อยู่อันดับที่ 52 ปี 2019 ขยับขึ้นมาที่ 16 แซงมาได้ 36 ประเทศ #เย้

—-

Q: ด้านใหญ่ด้านไหนที่ไทยถูกแซงหนักที่สุด ?

A: ด้านตลาดแรงงาน ปี 2007 อยู่อันดับที่ 34 แต่ปี 2019 หล่นมาอยู่อันดับ 84 โดน 50 ประเทศแซงหน้าไป .. รองลงมาคือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2007 อยู่ที่ 27 ปี 2019 หล่นมาอยู่ที่ 71 โดน 44 ประเทศแซงหน้าไป

—-

Q: ในปี 2019 ด้านย่อยด้านไหนที่เราล้ำหน้าสุด ๆ

A: (1) เงินเฟ้อที่ต่ำ อันดับที่ 1/141 (อันดับร่วมกับอีก 87 ประเทศ) .. (2) การมีไฟฟ้าใช้ อันดับที่ 2/141 .. (3) การเข้าถึงระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ อันดับที่ 5/141 .. (4) กฎหมายป้องกันความขัดแย้งของผลประโยชน์ (Conflict of interest) อันดับที่ 8/141 .. (5) เครือข่ายสนามบินนานาชาติ อันดับที่ 9/141

—-

Q: แล้วในปี 2019 ด้านย่อยด้านไหนที่เรารั้งท้ายสุด ๆ

A: (1) การเกิดเหตุก่อการร้าย อันดับที่ 134/141 .. (2) ค่าชดเชยเมื่อถูกให้ออกจากงาน อันดับที่ 130/141 .. (3) การยืดหยุ่นและสมเหตุผลในการกำหนดค่าจ้างแรงงาน อันดับที่ 116/141 .. (4) เสรีภาพของสื่อ อันดับที่ 113/141 … (5) น้ำดื่มที่ไม่สะอาด อันดับที่ 107/141 .. (6) ความสม่ำเสมอของบริการจากตำรวจ อันดับที่ 105/141

—-

Q: อันดับเราจะดีขึ้นได้อย่างไร ? (ความเห็น)

A: (1) ด้านที่อันดับหล่นเยอะ ๆ เช่น แรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเน้นพัฒนาให้แซงกลับขึ้นมา (ให้ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ) และ (2) ด้านที่คะแนนต่ำ เช่น นวัตกรรมที่ยังตามหลัง ตลาดสินค้าที่ยังมีกฎเกณฑ์ซับซ้อนกินเวลานาน ต้องเร่งทำคะแนนขึ้นมา (ให้ดีขึ้นโดยสัมบูรณ์)

—-

Q: สรุปข้อมูลมาสั้น ๆ แบบนี้ จะหยิบไปพัฒนาจริงได้อย่างไร ?

A: ดูแค่นี้ไม่พอแน่นอน จึงแนะนำหนักแน่น ให้ตามไปอ่านรายงานฉบับเต็มซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก ที่นี่ bit.ly/TIF_WEF_GCI2019 (ข้อมูลประเทศไทยเริ่มที่หน้า 550)

—-

Q: ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากไหน ?

A: (1) ปี 2019 มาจาก The Global Competitiveness Index 2019 ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum ลิงก์อยู่ใน Q&A ข้อก่อนหน้า .. (2) ปี 2007 มาจาก bit.ly/TIF_WEF_GCI_Dataset_07-17

—-

Q: ด้านตลาดแรงงาน ตลาดสินค้า สภาวะพื้นฐานในสังคม อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงลักษณะไหน ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม ?

A: (1) ปัจจัยย่อยของด้านตลาดแรงงาน เช่น ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง สิทธิพนักงาน ความเหลื่อมล้ำของค่าแรงชายและหญิง .. (2) ปัจจัยย่อยของด้านตลาดสินค้า เช่น กำแพงภาษี ความซับซ้อนการจัดเก็บภาษี ความยากง่ายในการขนส่งสินค้าข้ามแดน .. (3) ปัจจัยย่อยของด้านสภาวะพื้นฐานในสังคม เช่น ความถี่ของเหตุก่อการร้าย ความเป็นเอกเทศของสถาบันตุลาการ เสรีภาพของสื่อ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา วิสัยทัศน์ระยะยาวของรัฐบาล

———

– All rights reserved –

Categories: Investment Articles