หากเราอยากเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และไม่ลงแรงตั้งบริษัทเอง อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการร่วมถือหุ้นในบริษัทที่นำหุ้นมาเสนอขายให้คนทั่วไป ซึ่งรูปแบบที่คุ้นเคยกันดี ก็คือการซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือการซื้อหุ้น IPO แล้วเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยรูปแบบนี้จะเป็นหุ้นของบริษัทที่ธุรกิจผ่านการเติบโตมาแล้วหลายปี หรือในบางกรณีอาจเริ่มเกิดสภาวะอิ่มตัวในอุตสาหกรรมบ้างแล้ว
อย่างไรก็ดี มูลค่าหรือ value ของกิจการจะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงที่ธุรกิจอยู่ในแนวโน้มกำลังเติบโตได้ดี ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากมูลค่าธุรกิจในช่วงเติบโตนี้ ก็คือผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของบริษัทตัวจริง เพราะได้ถือหุ้นตั้งแต่บริษัทตั้งใหม่ เช่น ที่ราคาพาร์ หรือหากระหว่างทางบริษัทมีการชักชวนคนมาร่วมลงทุนเพิ่ม (แต่ยังไม่ได้เป็นการทำ IPO) ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ขายเพิ่มภายหลังจากตั้งบริษัท ก็อาจสูงขึ้นจากราคาพาร์ได้ แต่ไม่ถึงขนาดราคา IPO
แต่การจะเป็นผู้ลงทุนในบริษัทที่ยังอยู่นอกตลาด โดยปกติแล้วจะเป็นไปได้ยากมากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการการเงิน การลงทุน หรือสตาร์ทอัพ .. อาจจะลองถามตัวเองตอนนี้เลย ว่าถ้าเราอยากลงทุนหุ้นนอกตลาด เราจะต้องเริ่มหาข้อมูลที่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าใครกำลังอยากขายหุ้นบ้าง และช่องทางไหนที่จะรัดกุมไม่ต้องเสี่ยงจะถูกหลอกแต่หัววัน ซึ่งเชื่อว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คือ “ไม่รู้เลย”
อย่างไรก็ดี เมื่อ TIF ถามผู้คนว่า “แล้วสนใจลงทุนในธุรกิจนอกตลาดอย่าง SME หรือ Start Up หรือไม่ ?” คนส่วนใหญ่ถึง 72% ตอบว่า “สนใจ”

ประกอบกับได้รู้มาว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งกำลังระดมทุนผ่านช่องทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. รับรองถูกต้อง จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ซึ่งจะเป็นการแนะนำการระดมทุนรูปแบบดังกล่าว
โดยจะขออธิบายให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่จุดนี้ ว่าเนื้อหาต่อจากนี้ ไม่ได้เป็นการชี้ให้ลงทุน/ไม่ลงทุนในบริษัทที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้แต่อย่างใด แต่เป็นการแนะนำว่ามีโครงการรูปแบบนี้เกิดขึ้นในวงการลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจจริง ๆ มีจุดตั้งต้นให้พิจารณาต่อได้ด้วยตัวเอง และหากใครสนใจไปรับฟังข้อมูลจากบริษัท ก็ได้ให้แนวทางคำถามเบื้องต้นที่แนะนำให้ไปถามเพื่อให้ได้คำตอบชัด ๆ จากเจ้าของโครงไว้ด้วย และบทความนี้เป็น sponsored content ครับ
Crowd Funding Portal
มาถึงจุดนี้ ก็จะขอเข้าเรืองแล้วนะครับ .. หลายคนอาจจะรู้จักเว็บไซต์ระดมทุนเพื่อไปผลิตของล้ำ ๆ แปลก ๆ อย่างเว็บไซต์ kickstarter.com หรือ indiegogo.com ซึ่งในวงการจะเรียกเว็บไซต์ประเภทนี้ว่า Crowd Funding Portal โดยจะมีเจ้าของโครงการต่าง ๆ นำเรื่องราวของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่คือสินค้าที่จับต้องได้ ไปนำเสนอบนเว็บไซต์เหล่านั้น และหากเราพิจารณาแล้วมีความสนใจ เชื่อว่าจะผลิตได้จริง ก็กดสนับสนุน และในกรณีที่โครงการได้รับการสนับสนุนจนถึงขั้นที่กำหนดไว้ Crowd Funding Portal ก็จะตัดเงินจากเราไปส่งให้เจ้าของโครงการ เพื่อเริ่มการผลิต และส่งสินค้าให้เราในภายหลัง

จะเห็นว่าจุดสำคัญของรูปแบบการระดมทุนลักษณะนี้คือ “ตัวกลาง” หรือ Crowd Funding Portal ที่น่าเชื่อถือ เพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างฝั่งผู้ที่มีโครงการ และฝั่งผู้ที่สนใจสนับสนุน ให้มาพบกัน และเป็นตัวแทนในการรับเงิน เพื่อให้มั่นใจว่า เงินที่เราจะสนับสนุนไป ได้ถูกส่งไปถึงเจ้าของโครงการอย่างครบถ้วน
Equity Crowd Funding Portal
และเมื่อข้ามมาเป็นการระดมทุมเพื่อทำธุรกิจ สิ่งที่ผู้สนใจสนับสนุนโครงการจะได้รับ ก็จะไม่ใช่สิ่งของอีกต่อไป แต่จะเป็น “หุ้น” ตัวกลางในการระดุมทุนแบบนี้ จึงจะเรียกว่า “Equity Crowd Funding Portal” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ECF Portal ซึ่งกระบวนการระดมทุนผ่าน ECF Portal ในประเทศไทย จะมีภาพรวมดังนี้
- บริษัทที่ต้องการระดมทุน นำเสนอโครงการต่อ ECF Portal
- ECF Portal พิจารณาคัดเลือกบริษัท และอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
- ผู้ลงทุนเลือกบริษัทที่สนใจลงทุน พร้อมกับทำแบบทดสอบความเข้าใจลงทุน และโอนเงินค่าจองซื้อ
- หากระดมทุนได้ครบตามที่ต้องการ ด้าน ECF Portal ก็จะโอนเงินทุนให้กับบริษัทที่ต้องการเงินทุน แต่หากระดมทุนได้ไม่ครบ ทาง ECF Portal ก็จะโอนเงินคืนให้ผู้สนใจลงทุน จึงเรียกรูปแบบนี้ว่า all-or-nothing คือถ้าได้เงินไม่ครบ ก็จะยกเลิกทั้งหมด ไม่เดินหน้าทำไปเพียงบางส่วน
- โดยกรณีระดมทุนได้ครบ บริษัทเจ้าของโครงการก็จะออกหุ้นให้ผู้ลงทุน และรายงานความคืบหน้าให้นักลงทุนทราบเป็นระยะ
(อ้างอิงขั้นตอน: sec.or.th)
Equity Crowd Funding Portal ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องในประเทศไทย
และปัจจุบันในประเทศไทย สำนักงานก.ล.ต. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและให้อนุญาตผู้ประกอบการ 2 รายทำธุรกิจเป็น ECF Portal

ซึ่งในกรณีนี้ จะกล่าวถึง ECF Portal ชื่อบริษัท ฟินิกซิคท์ จำกัด ซึ่งให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.sinwattana.com
ประเภทผู้ลงทุนใน ECF
โดยผู้สนใจลงทุนจะต้องลงทะเบียนสมัครใช้บริการก่อน ซึ่งจะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 3 ประเภท คือ
- ผู้ลงทุนรายบุคคลทั่วไป (Retail Investor)
- ผู้ลงทุนนิติบุคคล (Non-Retail Corporate Investor): ซึ่งประกอบด้วย สถาบัน Private Equity Trust และ Venture Capital
- ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Qualified Investor): ซึ่งส่วนหลักจะประกอบด้วย
- บุคคลธรรมดาที่ลงทุนโดยตรงในหุ้นมาแล้ว 1 ปีขึ้นไป และมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยไม่รวมที่พักอาศัยประจำ (อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนใช้นับรวมได้) หรือ มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
- ผู้บริหาร ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือการลงทุน หรือผู้ที่เคยประเมินคุณค่าของผู้ประกอบธุรกิจหรือให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจ มาไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์ กรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบการลงทุนของสถาบัน หรือผู้บริหารธุรกิจ และต้องมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป
โดยผู้ลงทุนประเภทที่ 1 จะมีข้อจำกัดให้ลงทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อบริษัท และรวมกันทุก ECF Portal ที่ขึ้นกับสำนักงาน ก.ล. ต. ได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท ภายใน 1 ปี (หมายความว่า สามารถมียอดเงินลงทุนรวมกันได้เกินกว่า 1,000,000 บาท โดยต้องทยอยลงทุนมากกว่า 1 ปี) และ ต้องผ่านการทดสอบความรู้ด้านการลงทุนเสียก่อน (ทดสอบได้ที่เว็บไซต์) ส่วนผู้ลงทุนประเภทที่ 2 และ 3 ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว (ต้องแสดงหลักฐานให้ ECF Portal พิจารณาก่อน)
ซึ่งขอย้ำ ณ จุดนี้ก่อนว่า บุคคลทั่วไปก็สามารถลงทุนในหุ้นนอกตลาดผ่าน ECF ได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อบริษัท
และเมื่อ ECF Portal พิจารณาอนุมัติการสมัครใช้บริการแล้ว ก็จะสามารถดูรายละเอียดบริษัทที่กำลังระดมทุนอยู่ในปัจจุบันได้ทันที

บริษัทที่กำลังระดมทุนผ่าน ECF Portal sinwattana.com
ปัจจุบันมีหนึ่งในบริษัทที่กำลังระดมทุนผ่าน ECF Portal www.sinwattana.com คือ บริษัท บานาน่าเค้ก จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจร้านขายเนื้อเจ้าของแบรนด์ Harrison Butcher ซึ่งมีบริษัทแม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอยู่ในจังหวัดสระแก้ว โดยภาพรวมของการระดมทุนครั้งนี้ จะทำไปเพื่อขยายสาขาร้าน
โดยบริษัท บานาน่าเค้ก จำกัด เมื่อแรกก่อตั้งมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่หลังจาก 6 พ.ย. 61 เป็นต้นมา ก็มีการเพิ่มทุนขยายธุรกิจรอบใหญ่ กลายเป็นทุนจดทะเบียน 4,500,000 บาท และทยอยเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 13,900,000 บาท ณ 15 พ.ย. 62 .. ด้านผลการดำเนินงานในปี 2561 มีรายได้ 281,418 บาท มีกำไร 3,005 บาท ขณะที่ปี 2560 มีรายได้เพียง 22,474 บาท (อ้างอิง: เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า http://www.dbd.go.th) ซึ่งลักษณะนี้น่าจะหมายความว่า เดิมบริษัทนี้ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจ แต่หลังจากเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561 เป็นต้นมา ก็มีกิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นจากผลประกอบการปี 2562 ตั้งแต่ต้นปี จนถึง 31 ส.ค. 62 (8 เดือน) ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 8,896,040 บาท และมีกำไรสุทธิ 973,641 บาท (อ้างอิง: งบการเงินภายในก่อนตรวจสอบ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.harrisonbutcher.com/investment)
โดยข้อมูล “เบื้องต้น” ประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์นี้ ซึ่งแนะนำให้พิจารณาให้ครบถ้วน
www.harrisonbutcher.com/investment
และสามารถทำความรู้จักร้าน Harrison Butcher (แบรนด์ของบริษัท บานาน่าเค้ก จำกัด) เพิ่มเติมจากบทความของ The Standard และ a day BULLETIN ได้ด้วยการคลิกที่รูปด้านล่าง

งาน Open House เปิดบ้านชิมอาหารและถามคำถามโดยตรงกับผู้บริหาร
ข้อมูลข้างต้น น่าจะช่วยให้ผู้อ่านรู้จัก ECF รวมไปถึง ECF Portal และร้าน Harrison Butcher มากขึ้นพอสมควร สามารถหาโอกาสไปลองในฐานะลูกค้าได้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในโครงการระดมทุนครั้งนี้ด้วย ขอแนะนำอย่างยิ่ง (ขีดเส้นใต้ 3 เส้น) ว่า ควรไปร่วมงาน Open House พบผู้บริหารเจ้าของโครงการโดยตรง เพื่อถามคำถามที่สำคัญต่อการตัดสินใจ พร้อมกับได้ชิมตัวอย่างเมนูจากร้าน Harrison Butcher
ซึ่งคำถาม “ขั้นต่ำ” ที่ TIF แนะนำ ให้พกไปถามในงาน Open House ได้แก่
- โครงสร้างการถือหุ้นในปัจจุบัน (ตอนนี้ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีธุรกิจอะไรที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับกิจการของบริษัทนี้บ้าง) และโครงสร้างการถือหุ้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังการระดมทุน
- ประวัติผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารระดับสูง
- ผลการดำเนินงานและสถานะการเงินในปัจจุบัน
- แผนขยายธุรกิจจากเงินที่ระดมทุนได้ในครั้งนี้
- แผนการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- สภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม (ใครทำธุรกิจคล้าย ๆ กันบ้าง แตกต่างกันอย่างไร)
- ประมาณการณ์ทางการเงิน (รายได้จะมาจากอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายหลักประกอบด้วยรายการอะไร)
- หลักการที่ใช้ประเมินราคาหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้
- สิทธิและข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้น
- กระบวนการจองและยกเลิกการจองซื้อ
- สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากร่วมระดมทุนไปแล้วแต่ภายหลังพบว่าในภาพรวมีการระดมทุนได้ไม่ครบตามที่บริษัทต้องการ
- โอกาสการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง (เช่น ซื้อแล้วต่อไปอยากขาย ต้องทำอย่างไร)
- แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
โดยสามารถดูกำหนดการและสำรองที่นั่งในงาน Open House รอบต่าง ๆ ได้จากลิงก์นี้เช่นกัน
www.harrisonbutcher.com/investment
และหากเกิดคำถามขึ้นในใจ ว่าทำไม TIF ไม่นำคำตอบของทั้ง 13 คำถามมาบอกซะเลย แต่ชวนให้ไปงาน Open House .. ก็ต้องขออธิบายว่า
- ถ้าเอาคำตอบมาไล่เรียงจะกลายเป็นบทความที่ยาวมาก
- ผู้สนใจลงทุนเองอาจมีคำถามอื่น ๆ นอกจากนี้
- การเข้าร่วมงาน Open House และชิมเมนูจากร้าน เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ ถือเป็นความบันเทิงพร้อมกับได้รับข้อมูลการลงทุน โดย TIF เองก็ไปร่วมฟังมาแล้ว
- สำหรับผู้ที่สนใจเป็นนักลงทุนลักษณะเช่นนี้ ไม่ว่าจะผ่าน ECF Portal หรือมีคนรู้จักชวนลงทุนหุ้นนอกตลาดอื่น ๆ การไปรับฟังข้อมูลด้วยตัวเอง ณ สถานที่ประกอบธุรกิจจริง ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรทำทุกครั้ง
คำเตือนที่สำคัญ
การลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (กรณีระดมทุนผ่าน ECF Portal ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องเท่านั้น) หากโครงการประสบความสำเร็จ จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงมาก แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้เช่นกัน ผู้สนใจลงทุน ต้องพิจารณาปัจจัยโอกาสและปัจจัยความเสี่ยงอย่างถี่ถ้วน และไม่ควรทุ่มลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป แต่ควรกระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจำนวนมากจากบริษัทเดียว
Categories: Investment Articles, Special Content