Financial Markets Update

จับตายักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีก Central Retail เตรียม IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อพูดถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นเครือ “เซ็นทรัล” ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักเซ็นทรัลผ่านห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่นักช้อปทั้งหลายต้องเคยไปหรือรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วธุรกิจในเครือเซ็นทรัลนั้นมีมากมายหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในตลาดหุ้นแล้วอย่าง CPN (บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา) ที่ประกอบธุรกิจพัฒนาและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรืออย่าง CENTEL (บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา) ที่ประกอบธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศไทย และเร็ว ๆ นี้ก็กำลังมีบริษัทในเครือเซ็นทรัลที่เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นอย่าง Central Retail (บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งวันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ TIF จะขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ Central Retail กันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมนักลงทุนทุกท่านก่อนเข้าเทรดในตลาดหุ้น

ความเป็นมา Central Retail

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) (Central Retail) ดำเนินธุรกิจหลักคือการค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภท ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย ซึ่ง Central Retail ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแกนหลักสำคัญในเครือเซ็นทรัลที่มีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกมายาวนานกว่า 72 ปี โดยมีจุดกำเนิดมาจากร้านค้าตึกแถวเล็ก ๆ ในกรุงเทพมหานคร จนกลายมาเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกที่มีธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างประเทศอิตาลีและประเทศเวียดนาม

ผู้นำตลาดค้าปลีกในประเทศไทย

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ Central Retail ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในประเทศไทย คือ การมอบประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่างและตอบสนองต่อรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลายหลาย ทั้งในด้านความหลากหลายของประเภทสินค้า (Multi-Category) ความหลากหลายของช่องทางการจำหน่าย (Multi-Format) และกลุ่มลูกค้าที่มีทั้งในและต่างประเทศ (Multi-Market) โดยธุรกิจของ Central Retail แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) กลุ่มแฟชั่น ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายเครื่องแต่งกาย รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอางและของใช้ในบ้านอื่น ๆ ผ่านรูปแบบห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยอย่างห้างเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน และหน่วยธุรกิจภายใต้ Central Marketing Group (CMG) และห้างสรรพสินค้าในประเทศอิตาลีอย่างห้าง Rinascente (รีนาเชนเต) รวมถึงยังผ่านรูปแบบร้านขายสินค้าเฉพาะทาง ซึ่งเน้นไปที่สินค้าและอุปกรณ์กีฬาภายใต้แบรนด์ค้าปลีก ซูเปอร์สปอร์ต และ ฟิต บาย ซูเปอร์สปอร์ต

2) กลุ่มฮาร์ดไลน์ ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยสินค้าตกแต่งบ้านจะเน้นไปที่สินค้าตกแต่ง และปรับปรุงบ้านแบบดีไอวาย (DIY) ซึ่งขายผ่านไทวัสดุ และบ้าน แอนด์ บียอนด์ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเน้นไปที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และสินค้าไอทีอื่น ๆ ซึ่งขายผ่านเพาเวอร์บายในประเทศไทยและเหงียนคิมในประเทศเวียดนาม

3) กลุ่มฟู้ด ซึ่งมุ่งเน้นการจำหน่ายอาหาร ของสดของแห้ง สินค้าออร์แกนิค และสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแบรนด์ค้าปลีก ท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และร้านสะดวกซื้ออย่างแบรนด์แฟมิลี่มาร์ท รวมทั้งยังผ่านรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่างบิ๊กซีและลานชี มาร์ทในประเทศเวียดนาม

และถึงแม้จะมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ แล้ว Central Retail ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Omni-channel ซึ่งเป็นการผสานช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย ทั้งการซื้อสินค้าในร้านค้า ทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์มือถือ และทางสื่อสังคม (Social Media) ผ่านแนวคิด Customer-Centric ที่เน้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ทำให้แพลตฟอร์มนี้สามารถตอบความต้องการของลูกค้าสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้เป็นอย่างดี นำข้อดีของแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์มารวมกัน เพื่อลดข้อจำกัดของแต่ละช่องทางออก ทำให้สามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อทั้งด้านความสะดวก ความหลากหลายของตัวเลือกสินค้าที่เชื่อมั่นได้ในคุณภาพ และการให้บริการที่สามารถจับต้องได้ โดยสามารถปรึกษากับพนักงานผู้เชี่ยวชาญก่อนซื้อได้

นอกเหนือจากจุดเด่นในด้านความหลากหลายและการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ Central Retail ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ การดำเนินงานภายใต้ทีมผู้บริหารมืออาชีพในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มากประสบการณ์ เป็น Hybrid ที่ลงตัวที่เข้ามาเสริมทัพกับผู้บริหารจากตระกูลจิราธิวัฒน์ที่เติบโตมาและเข้าใจกับ Central Retail เป็นอย่างดี โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและขยายธุรกิจของ Central Retail ดังนี้

  1. ต่อยอดความเป็นผู้นำผ่านการเติบโตด้วยตนเอง (Organic Growth) และการรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการ (Inorganic Growth) ในประเทศไทย
  2. ใช้ประโยชน์จากธุรกิจบิ๊กซี เพื่อเร่งการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่ม Central Retail ในประเทศเวียดนาม
  3. ใช้ประโยชน์จาก Rinascente (รีนาเชนเต) เพื่อผนึกกำลังทางธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในประเทศอิตาลีและในทวีปยุโรป
  4. พัฒนาแพลตฟอร์ม Omni-channel เพื่อสร้างประสบการณ์ที่พิเศษให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  5. ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเพื่อสร้างความภักดีของลูกค้าและเพิ่มยอดขาย
  6. แสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

อาณาจักร 200,000 ล้านบาท

ด้านผลการดำเนินงาน ในปี 2561 Central Retail มีรายได้รวม 206,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 และ 2559 คิดเป็นร้อยละ 9.62 และร้อยละ 16.90 ตามลำดับ โดยมีรายได้หลักมาจากการขาย ซึ่งในปี 2561 นั้นมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 180,614 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.6 จากรายได้รวม และถึงแม้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 และ 2559 แต่ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า จากการขยายร้านค้า การเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และการรวมธุรกิจ ทำให้ในปี 2561 Central Retail มีกำไรจากการดำเนินงานต่อเนื่อง 10,609 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9,536 ล้านบาท ในส่วนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 Central Retail มีรายได้รวม 106,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.56

ด้านฐานะทางการเงิน ในปี 2561 Central Retail มีสินทรัพย์รวม 177,560 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 60,242 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 117,318 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีสินทรัพย์รวมลดลงจากปี 2560  คิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งเป็นผลมาจากการชำระเงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง และการลดลงของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เนื่องจากการขายธุรกิจภายใต้การปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้านหนี้สิน Central Retail มีหนี้สินทั้งหมด 110,233 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 87,423 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 22,810 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 67,327 ล้านบาท

ด้านอัตราส่วนทางการเงิน ในปี 2561 Central Retail มีอัตราส่วนสภาพคล่อง 0.7 เท่า ซึ่งเท่ากับปี 2560 และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.6 เท่า ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 2.9 เท่า โดยเจ้าหนี้ทางการค้าเป็นส่วนใหญ่ของหนี้สิน ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2561 อยู่ที่ 0.6 เท่า เท่านั้น

ปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อเตรียม IPO เข้าสู่ตลาดหุ้น

ล่าสุด Central Retail กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO)  โดยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้ Central Retail จะทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (Robinson หรือ ROBINS) ทั้งหมด เพื่อนำ ROBINS ออกจากตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบัน Central Retail เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ROBINS โดยถือหุ้นเป็นสัดส่วน 53.83%  ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ ROBINS ซึ่งการเสนอซื้อหุ้นดังกล่าว ผู้ถือหุ้นของ Robinson จะไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสด แต่จะได้เป็นหุ้นของ Central Retail แทน (Share Swap) โดยมีสัดส่วนการแลกหุ้นที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับ 66.50 บาท ต่อหุ้น ROBINS 1 หุ้น

สำหรับเป้าหมายหลักในการเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในครั้งนี้ ก็เพื่อต่อยอดขยายการเติบโตของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดย Central Retail จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 1,620 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 611.71 ล้านหุ้น รวมเป็นจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งสิ้น ไม่เกิน 2,231.71 ล้านหุ้น

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการเสนอขายครั้งนี้ได้จากร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่นี่ market.sec.or.th/public/ipos/iposeq01.aspx?transid=272427

[Special Content]