Investment Articles

เจาะปัจจัยพื้นฐาน หาหุ้นเด่น จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน (Extended Research Coverage)

หากเปรียบตลาดหุ้นเป็นสนามรบที่นักลงทุนแต่ละคนต้องฟันฝ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่ดี นักลงทุนที่จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ ต่างก็ต้องมีอาวุธลับ ซึ่งก็คือ แนวทางหรือกระบวนท่าการลงทุนที่แต่ละคนใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยว ถ้าเราลงทุนอย่างไร้กระบวนท่าแล้ว ก็เหมือนกับเข้าไปต่อสู้ในสนามรบด้วยมือเปล่า ในขณะที่นักรบคนอื่นมาพร้อมอาวุธครบมือ การเอาตัวรอดและเติบโตได้คงเป็นไปได้ยาก

ท่ามกลางแนวทางการลงทุนที่หลากหลาย มีแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน คือ แนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ขนาดที่นักลงทุนบางท่านยึดถือเป็นหลักการว่า “การซื้อหุ้น คือ การซื้อกิจการ” โดยกิจการที่ซื้อนั้นจะดีไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของกิจการ และศักยภาพในอนาคต

หากกิจการมีพื้นฐานดีและมีศักยภาพ ก็ควรจะต้องสะท้อนออกมายังราคาหุ้น ที่ควรจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานจะเน้นไปที่การศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ทั้งปัจจัยเชิงคุณภาพ เช่น ความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงปัจจัยเชิงปริมาณ เช่น งบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงิน โดยมีเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก๋าใช้เพื่อตัดสินใจในการซื้อหุ้น คือ มูลค่าพื้นฐาน หรือ Fair Valueโดยเจ้า Fair Value นี้เป็นตัวบอกว่า หุ้นนี้ควรจะมีราคาที่เหมาะสม ณ ตอนนี้ เป็นกี่บาท หากราคาตลาด ณ ปัจจุบันต่ำกว่า Fair Value มากเท่าไร ความน่าสนใจที่จะเข้าซื้อ ก็มีมากขึ้นเท่านั้น และในทางกลับกัน หากราคาตลาด ณ ปัจจุบันสูงกว่า Fair Value มากกว่าเท่า ความน่าสนใจที่ถือหุ้นนั้นต่อไป ก็น้อยลง

โดย Fair Value สามารถคำนวณได้หลายวิธี เช่น

การประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Discounted Cash Flow คือการนำกระแสเงินสดสุทธิที่เจ้าของกิจการจะได้รับในอนาคต ซึ่งจะคำนวณตั้งแต่ รายรับ รายจ่าย จนเหลือเป็นกระแสเงินสดสุทธิในแต่ละปี แล้วเอามาคิดลดด้วย Discount Rate ที่เหมาะสม (ในที่นี่คือต้นทุนทางการเงิน หรือ Weighted Average Cost of Capital หรือ WACC) จึงจะได้เป็นมูลค่ากิจการในวันนี้

โดยที่ i = อัตราคิดลด และ n = จำนวนงวดเวลาที่ใช้คำนวณ
โดยที่ D = หนี้สินรวมของกิจการ // Kd = ต้นทุนหนี้สิน // E = ส่วนทุนรวมของกิจการ // Ke = ต้นทุนของส่วนทุน ซึ่งสามารถใช้หลักการ Capital Asset Pricing Model (CAPM) ช่วยคำนวณได้อีกชั้นหนึ่ง

การประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Price to Earning (หรือ P/E) คือการเอากำไรต่อหุ้น (Earning per share) ของบริษัทที่คาดการณ์ไว้ในอนาคต คูณกับ Price to Earning Ratio (P/E Ratio) ของอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น หุ้น A คาดว่าจะมีกำไร 10 บาท/หุ้น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มี P/E Ratio เท่ากับ 15 เท่า ก็พอจะประเมินได้ว่าราคาหุ้น A น่าจะอยู่แถว ๆ 150 บาท

จะเห็นได้ว่า การประเมิน Fair Value นั้น นอกจากจะต้องดูพื้นฐานปัจจุบันแล้ว ยังต้องมีการคาดการณ์ข้อมูลในอนาคตอีกด้วย ทั้งวิธีประเมินแบบ DCF ที่ต้องคาดการณ์กระแสเงินสดสุทธิในอนาคตข้างหน้า  เพื่อนำมาคิดลดเป็น Fair Value รวมถึงวิธีประเมินแบบ P/E ratio ที่ก็ต้องคาดการณ์กำไรของกิจการ เพื่อนำมาหา กำไรต่อหุ้น ในอนาคต แล้วจึงคำนวณเป็น Fair Value ได้ ซึ่งการคาดการณ์ข้อมูลในอนาคตนี่แหละ ที่เป็นโจทย์ยากสำหรับนักลงทุน ที่แม้จะคำนวณได้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว แต่เนื่องด้วยตัวเลขที่นำมาใช้บางส่วนเกิดจากการคาดการณ์ ซึ่งหากเรามีข้อมูลไม่เพียงพอ หรือไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกิจการอย่างจริงจัง ก็มีโอกาสที่ Fair Value ที่ประเมินได้จะไม่นำไปสู่การตัดสินใจลงทุนที่เกิดผลกำไร ทำให้สุดท้ายแล้วจากอาวุธที่จะช่วยเรา กลับกลายเป็นทำร้ายเราแทน

หากนักลงทุนรู้ตัว ว่าไม่สามารถคำนวณหา Fair Value ได้อย่างแม่นยำ หรือไม่มีเวลาทำเอง ควรทำอย่างไรดี ?

จริง ๆ ก็มีตัวเลข Fair Value ที่นักวิเคราะห์ค่ายต่าง ๆ เขาทำมาให้แล้ว และเปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ settrade.com ในส่วน IAA Consensus ซึ่งก็เป็นทางลัดให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้เลย

อย่างในรูปเป็นตัวอย่างของหุ้น PTT ซึ่งมีนักวิเคราะห์ 15 ค่าย ประเมิน Fair Value ไว้ให้แล้ว ซึ่งเขาก็จะใช้แนวทางการประเมินข้างต้นในการคำนวณ แตกต่างกันไปแล้วแต่ความถนัดของแต่ละค่าย รวมถึงมีสมมติฐานและมุมมองในอนาคตต่างกันไปด้วย

เมื่อดูค่าเฉลี่ยของ Fair Price สำหรับหุ้น PTT ในช่วงนี้ (แสดงข้อมูล 30 วันย้อนหลัง) จะเท่ากับ 51.57 บาท ซึ่งเราพอจะเอาตัวเลขนี้เป็นแนวทางตัดสินใจได้ เนื่องจาก 1) ข้อมูลสดใหม่พอสมควร สะท้อนข่าวสารข้อมูลที่มี ณ ตอนนี้แล้ว และ 2) เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยหลายเจ้า จึงไม่ค่อยลำเอียง

ทั้งนี้ กรณีหุ้น PTT ที่ยกตัวอย่างมาถือเป็นหุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่ในตลาด ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์มากกว่า หุ้นที่มี Market Cap. เล็ก แม้หุ้นตัวนั้นจะมีปัจจัยพื้นฐานดี และมีศักยภาพเติบโตในอนาคต แต่ก็ยังไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไปเจาะลึกปัจจัยด้านพื้นฐานอย่างจริงจัง ซึ่งหากเราไปดูข้อมูลตัวเลขประมาณการจากนักวิเคราะห์ บล. ต่าง ๆ ใน IAA Consensus แล้ว ก็ยังมีข้อมูลเพียง 250 – 280 หุ้น เท่านั้น ในขณะที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีทั้งหมดมากกว่า 700 หุ้น ด้วยเหตุนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสำนักงานก.ล.ต. และสมาคมนักวิเคราะห์ฯ จึงได้จัดทำ “โครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน (Extended Research Coverage)” ที่จะช่วยเพิ่มบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน และนำเข้าเผยแพร่ใน IAA Consensus เพื่อเป็นตัวช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นรายตัว และยังเป็นการเสริมสร้างการรับรู้หลักการวิเคราะห์หุ้นที่ถูกต้องอีกด้วย

โครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน (Extended Research Coverage)

โดยสรุปแล้ว โครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน (Extended Research Coverage) นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งจะช่วยกรองหุ้นพื้นฐานดี ผลการดำเนินงานแกร่ง รวมทั้งมีศักยภาพเติบโตสูง ผ่านบทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพจากนักวิเคราะห์ บล. ชั้นนำของประเทศ ด้วยข้อมูลเชิงลึก เป็นประโยชน์ทั้งสำหรับนักลงทุนมือใหม่และมือเก๋า

ใครที่มีหุ้นอยู่ในใจแล้ว สามารถเข้าไป ส่องหุ้น ผ่านรีเสิร์ช อ่านบทวิเคราะห์หุ่นที่สนใจ ได้ที่ >> https://setga.page.link/uCSCuNbZvtb8ErsV9

[Special Content]