Investment Articles

หมุนให้ทันโลก ลงทุนให้ทันเทรนด์ จับโอกาสการลงทุนปี 2563 กับ TMB Advisory

[Special Content]

ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น เราก็ควรจะต้องลงทุนให้ทันเทรนด์ที่เกิดขึ้นตาม ซึ่งนักลงทุนที่จะ “ไปต่อได้” จำเป็นต้องมองไปยังอนาคต แต่การจะมองไปอนาคตได้อย่างแม่นยำนั้น ก็ต้องเข้าใจภาวะและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนอย่างเรา ๆ ซึ่งกำลังเผชิญภาวะที่หลายสิ่งกำลังทำสถิติ “ที่สุด” ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหุ้นหลายแห่งทำสถิติ “สูงสุดใหม่” อย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาท “แข็งค่าที่สุด” ในรอบกว่า 5 ปี หรือดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่กลับมาอยู่ระดับ “ต่ำที่สุด” อีกครั้งในรอบเกือบ 10 ปี โดยท่ามกลางความ “ที่สุด” เหล่านี้ TIF จะขอสรุปภาพรวมการลงทุนในปี 2562 กันอีกสักรอบก่อนที่จะพาไปดูประเด็นที่ต้องจับตาและมุมมองการลงทุนสำหรับปี 2563

(THB/USD อยู่ในระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี // กราฟ: Aspen by ThaiQuest)

2562 ปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุน

ที่บอกว่าเป็นปีที่ท้าทาย เพราะว่า ปี 2562 เป็นปีที่ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากทั้งผลกระทบของสงครามการค้าที่กระจายตัวมากขึ้น และปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts — ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวโยงกับถิ่นที่ตั้งของประเทศหรือเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ) เช่น Brexit ที่ได้สร้างความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ทางธุรกิจที่กำลังปะทุขึ้นในหลายประเด็นและหลายภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การประท้วงในฮ่องกง หรือภาวะเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงของกลุ่มยูโรโซนและละตินอเมริกา ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศเองก็เริ่มส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและใช้นโยบายการคลังเพื่อคงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนของภาวะตลาดเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นในปี 2562 เองก็ยังเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ (โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ) และ Property Funds หรือ REITs ที่ต่างก็ให้ผลเป็นเลขสองหลัก ขณะที่ตราสารหนี้ก็ให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี จากการที่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงปลายปี โดยสรุปตัวเลขผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในปี 2562 ได้เป็นดังนี้

2563 ปีที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

สำหรับปี 2563 นั้น ก็ยังมีหลายประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตา ซึ่งหากจะบอกว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ “รุ่ง” หรือปีที่ “ร่วง” สำหรับการลงทุน ก็ยังเป็นอะไรที่ตอบได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าจะให้บอกเป็นมุมมองเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการลงทุน วันนี้ TMB Advisory ได้สรุปเทรนด์การลงทุนมาให้แล้ว ดังนี้

สงครามการค้าลดความรุนแรงลง: ตลอดทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนได้เปิดศึกสงครามการค้าระหว่างกัน โดยต่างฝ่ายต่างออกมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันไปมา ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มหยุดชะงักลง และตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนอย่างมาก รวมถึงประเทศไทย แต่ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็มีข่าวดีคือ สหรัฐฯ และจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าได้ในขั้นต้น โดยได้ตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าระหว่างกันชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 และท่าทีของสหรัฐฯ คงจะอ่อนลงเนื่องด้วยการเลือกตั้งที่จะถึงในปีนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์น่าจะหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจเพื่อรักษาคะแนนเสียงเอาไว้ ซึ่งความขัดแย้งทางการค้าที่ส่งผลกระทบในวงกว้างก็คงจะลดความรุนแรงลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และยังคงมีแนวโน้มที่จะสร้างความผันผวนต่อตลาดได้เป็นระยะ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราวเท่านั้น

แต่…อาจมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ: หลังจากลดความรุนแรงเกี่ยวกับสงครามการค้าลง ทรัมป์อาจมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น จึงต้องหาอย่างอื่นทำเพื่อไม่ให้ตนเองกระแสตก หรือห่างหายไปจากพาดหัวข่าวรายวัน โดยล่าสุดเราเห็นการสั่งให้สังหารผู้นำสูงสุดของอิหร่านด้วยอาวุธสมัยใหม่อย่างโดรนพิฆาต โดยอ้างเหตุผลความขัดแย้งเช่นการที่ชาวสหรัฐฯ ถูกจับเป็นตัวประกันในอดีต ปัจจัยดังกล่าวเรามองว่าจะส่งผลกระทบเชิง sentiment เป็นระยะๆ โดยยังไม่น่าจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างที่กังวลกัน เพราะทรัมป์เองคงไม่อยากให้เกิดสงครามก่อนเลือกตั้งช่วงปลายปี เพื่อรักษาคะแนนเสียงของตนเอง ขณะที่อิหร่านเองก็ไม่น่าจะอยากทำสงครามเต็มรูปแบบเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจอิหร่านก็ขยายตัวต่ำเพียง 1.8% ต่อปีเท่านั้น จากข้อมูลล่าสุดในช่วงกลางปี 2561 ดังนั้นหากตลาดปรับตัวลงรุนแรง อาจเป็นจังหวะในการทยอยเข้าลงทุน

เศรษฐกิจประเทศหลัก ๆ อาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว: สำหรับประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มยูโรโซน ที่หากดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิต จะเห็นได้ว่าได้ทำจุดต่ำสุดไปแล้ว ณ ปีที่ผ่านมา โดยต่างก็ลงไปแตะที่ระดับต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปี แต่หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยจะเป็นสัญญาณบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจไทยน่าจะได้อานิสงส์เชิงบวกด้วย: ทางสภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะอยู่ที่ 2.7-3.7% ซึ่งสูงขึ้นกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะโต 2.6% โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่น่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และสงครามการค้ามีแนวโน้มลดความรุนแรงลง โดยทางสภาพัฒน์คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวขึ้น 2.3% อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่น่าจะเร่งตัวขึ้นหลังจากผ่าน พรบ. งบประมาณได้ตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีโครงการหลักคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการอัดฉีดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนจากภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวขึ้นสูงถึง 6.5% ในขณะที่ปีก่อนขยายตัวเพียง 2.3% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงทางการเมืองทั้งจากในและนอกประเทศ ที่อาจส่งผลให้การเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

ดอกเบี้ยต่ำยังคงอยู่: จากการที่อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอ้างอิงจากสภาพัฒน์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของประเทศไทย ณ ปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 0.8% และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2563 นี้อยู่ที่ 0.5-1.5% รวมถึงเศรษฐกิจที่แม้คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ถือว่ายังไม่ได้ขยายตัวแข็งแกร่งมากนัก ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก จึงน่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังอาจจะมีมาตรการด้านการคลังจากภาครัฐมาช่วยเสริมอีกแรงด้วย

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ: ณ ปลายปี 2563 ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และตัวแทนจากพรรคเดโมแครต แต่อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปถึงการเลือกตั้งดังกล่าว อาจจะมีการลงมติถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งก็คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 2 ใน 3 ในชั้นของวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ โดยหากผลการเลือกตั้งจบลงด้วยการที่ไม่มีพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา และได้ประธานาธิบดีที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจก็จะส่งผลดีต่อตลาด ซึ่งมองว่าหากโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีต่อคงจะดีกว่า เนื่องจากผู้สมัครตัวเต็งของพรรคเดโมแครตบางคนอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส และเอลิซาเบธ วาร์เรน ต่างก็มีนโยบายขึ้นภาษี และเก็บภาษีเพิ่มขึ้น

ภาวะหนี้ท่วมโลกต้องระวัง: หลังจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่เมื่อปี 2008 ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่างอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ต่างระดมกู้เงินจนทำให้ระดับหนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีสัดส่วนหนี้รวมกันเกินครึ่งของทั้งโลก ด้วยภาวะหนี้ที่สูงเช่นนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเกิดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ธนาคารกลางต้องมีมาตรการตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ จนนำไปสู่วิกฤติในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ดีด้วยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมองเห็นความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในอนาคตอันใกล้

เมื่อรู้แบบนี้ ปี 2563 ควรลงทุนอะไรดี ?

หุ้น: เป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ ด้วยปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านจะต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวในปีนี้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าที่มีทีท่าอ่อนลง โดยควรเน้นลงทุนในกลุ่มบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อย่างไรก็ดีควรจะเลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพ กล่าวคือบริษัทที่มีสถานะทางการเงินแข็งแรง มีการเติบโตของกระแสเงินสดสม่ำเสมอ เนื่องจากเศรษฐกิจยังเพิ่งเริ่มฟื้นตัวและยังอยู่ในช่วงทรงตัวอยู่

Property Funds และ REITs: ในปีที่ผ่านมา ราคาของสินทรัพย์ในกลุ่มนี้ ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ในขณะที่เงินปันผลยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ส่งผลให้ส่วนต่างระดับอัตราเงินปันผลกับกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (Yield Gap) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับน่าลงทุน นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยคาดการณ์กำลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งยังคงมีสภาพคล่องสูงไม่ต่างจากตลาดหุ้น และยังให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลที่สม่ำเสมอ จึงมองว่าเป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง โดยแนะนำให้ลงทุนไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุน

ตราสารหนี้: ถึงแม้ว่าตราสารหนี้ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูงเท่าในอดีต แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่เสมอ โดยสามารถเลือกลงทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำที่ปลอดภัยในทุกสภาพเศรษฐกิจ หรือจะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางเพื่อรับผลตอบแทนที่มากขึ้นแต่ยังคงความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำกว่าตราสารทุนได้ ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยง ควรเลือกกระจายการลงทุนทั้งตราสารหนี้ระยะต่าง ๆ

ทองคำ: ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่นน้อยมาก ดังนั้นจึงควรแบ่งการลงทุนมายังกองทุนทองคำไว้บ้างเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำคือ 5% – 10% ของพอร์ตการลงทุน

สรุปแล้ว… คาดว่าบรรยากาศการลงทุนในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากสถานการณ์สงครามการค้าที่มีทีท่าจะคลี่คลาย รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น และในประเทศไทยเองก็มีแผนอัดฉีดเงินจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องจับตาเรื่องการเมืองทั้งในและนอกประเทศที่อาจจะสร้างความผันผวนได้เป็นระยะ ๆ ดังนั้น TMB Advisory จึงมีมุมมองการลงทุนในปี 2563 ว่าควรลงทุนอย่างระมัดระวัง และควรกระจายความเสี่ยงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ตามที่มุ่งหวัง

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่าสำหรับใครที่สนใจอัปเกรดความรู้ และอัปเดตมุมมองการลงทุนตลอดทั้งปี สามารถขอคำแนะนำได้เลยกับ TMB ADVISORY ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมืออาชีพที่จะช่วยให้เรื่องการเงินและการลงทุน บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

ขอคำปรึกษาการลงทุนกับ TMB ADVISORY ได้หลากหลายช่องทางแบบครอบคลุมได้ฟรีหลากหลายช่องทาง

1) TMB Advisory Room ณ สาขาที่ให้บริการ

2) โทร. ผ่าน TMB Investment Line 1558 กด #9

3) Line @TMBadvisory

4) ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.tmbbank.com/tmbadvisory/