Knowledge Resources

การรับมือ COVID-19 และการเตรียมตัวรับการระบาดครั้งต่อไป | บิล เกตส์

แปลจาก: How to respond to COVID-19 And prepare for the next epidemic, too โดย Bill Gates ซึ่งเขียนไว้ที่ https://www.gatesnotes.com/Health/How-to-respond-to-COVID-19 ณ วันที่ 28 ก.พ. 2563

แปลโดย: SJ@TIF bit.ly/about_TIF


ในวิกฤติแต่ละครั้ง ผู้นำมีความรับผิดชอบที่สำคัญเท่าเทียมกันสองประการคือ แก้ปัญหาตรงหน้า และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ก็เป็นกรณีศึกษาชั้นเยี่ยมในกรณีนี้

เราต้องรักษาผู้ป่วยให้ทันท่วงที พร้อมกับพัฒนากระบวนการรับมือในภาพรวม ประเด็นแรกมีความกดดันมากกว่า แต่ประเด็นหลังก็ส่งผลอย่างสำคัญในระยะยาว

ความท้าทายในระยะยาวที่จะพัฒนาความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลกได้กล่าวไว้หลายปีแล้วว่า

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในระดับที่เร็วและรุนแรงไม่แพ้ไข้หวัดใหญ่ปี 1918 นั้นไม่ใช่อยู่ที่ว่า “จะเกิดหรือไม่” แต่อยู่ที่ว่า “จะเกิดเมื่อไร”

ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ มูลนิธิบิลและเมลินดา เกสต์ ได้จัดสรรทรัพยากรจำนวนมากในการเตรียมความพร้อมให้โลกสามารถรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้น

และในขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับวิกฤติที่เกิดอย่างฉับพลันนอกเหนือไปจากความท้าทายในระยะยาว ในสัปดาห์ที่ผ่านมา COVID-19 เริ่มมีลักษณะคล้ายโรคระบาดแห่งศตวรรษที่เราเคยหวาดกลัว ผมหวังว่าสถานการณ์จะไม่แย่ถึงขนาดนั้น แต่เราควรตั้งสมมติฐานว่ามันจะแย่ขนาดนั้น จนกว่าเราจะมีข้อมูลมากขึ้นไปกว่านี้

มีเหตุผลสองประการที่ถือได้ว่า COVID-19 มีความเป็นโรคระบาดแห่งศตวรรษ

ประการแรก ไวรัสนี้ไม่ใช่เพียงคร่าชีวิตผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีด้วย ข้อมูลเท่าที่มีในขณะนี้ชี้ว่าไวรัสนี้มีอัตราการเสียชีวิตปราณ 1% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเป็นหลายเท่าตัวของไข้ขวัดใหญ่ทั่วไปตามฤดูกาล และเป็นอัตราที่อยู่ระว่างการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1957 (0.6%) และ ในปี 1918 (2%)

ประการที่สอง COVID-19 สามาถแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดเชื้อหนึ่งรายจะแพร่เชื้อต่อไปอีกสองหรือสามคน และนี่เป็นอัตราการเพิ่มผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดยกกำลัง (Exponential) และยังมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือแม้แต่ผู้ที่ยังไม่มีอาการใด ๆ นั้นหมายความว่า COVID-19 เป็นเชื้อที่ควบคุมได้ยากกว่า MERS และ SARS ซึ่งจะแพร่กระจายจากผู้ป่วยที่มีอาการแล้วเท่านั้น และยังติดต่อได้ยากกว่ามาก โดยจะเห็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า SARS ถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

แต่ก็ยังมีข่าวดี ที่ประเทศ รัฐ รัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ สามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อีกหลายประการในระยะต่อไป เพื่อชะลอการแพร่ระบาด

ตัวอย่างเช่น นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือประชาชนในประเทศตนเอง รัฐบาลประเทศร่ำรวยสามารถยื่นความช่วยเหลือมายังประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา เพราะหากระบบสาธารณสุขในหลายประเทศเริ่มรับมือไม่ไหว ก็จะเปิดโอกาสให้สถานการณ์แย่ลงได้ ซึ่งประเทศยากจนจะไม่มีอำนาจต่อรองในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยกว่าก็จะเน้นดูแลประชาชนของตัวเองเป็นหลัก

หากประเทศในแถบอัฟริกาและเอเชียใต้ได้รับการช่วยเหลือในทันที พวกเราจะสามารถรักษาชีวิตผู้คนได้มาก และช่วยชะลอการแพร่ระบาดในระดับโลกได้ (เมลินดาและผมได้ให้ทุนประเดิมเพื่อการรับมือกับ COVID-19 รวม ๆ กันแล้วถึง 3,100 ล้านบาท ซึ่งเน้นไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)

โลกของเราต้องเร่งพัฒนาวิธีการรักษาและการผลิตวัคซีน และจนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสนี้และพัฒนาวัคซีนในขั้นทดลองขึ้นมาได้หลายตัวแล้ว ในเวลาเพียงไม่กี่วัน และ

แนวร่วมนวัตกรรมเพื่อความพร้อมรับมือการแพร่ระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) กำลังเตรียมทดสอบวัคซีนอีกแปดตัว ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะสำเร็จ

หากมีวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งตัวหรือมากกว่านั้นที่พบว่าปลอดภัยและได้ผลในสัตว์ ก็จะพร้อมสำหรับการทดสอบในระดับที่กว้างขวางขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งการค้นพบยารักษาโรคสามารถเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นได้ ด้วยการใช้ฐานข้อมูลของสารประกอบต่าง ๆ ที่ทดสอบแล้วว่าปลอดภัย ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคนิกคัดกรองใหม่ ๆ อย่าง machine learning มาใช้ระบุวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถยกระดับสู่การทดสอบระดับที่กว้างขวางขึ้นได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์

และแม้ว่าความพยายามเหล่านี้ น่าจะสามารถรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ได้ เรายังต้องเปลี่ยนแปลงระบบอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้รับรับมือกับการแพร่ระบาดรอบต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

การช่วยเหลือประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางให้มีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่แข็งแกร่งนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคุณสร้างคลินิก เท่ากับคุณกำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการต่อสู่กับโรคระบาด

และเจ้าหน้าสาธารณสุขที่ผ่านการอบรม จะไม่ได้เพียงช่วยให้วัคซีนเข้าถึงประชาชน  แต่ยังช่วยติดตามสถานการณ์ของโรค และช่วยแจ้งข่าวให้โลกได้ระวังตัวแต่เนิ่น ๆ

และโลกของเราต้องลงทุนในระบบเฝ้าระวังการเกิดโรค ซึ่งรวมถึงระบบฐานข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้คน ที่พร้อมให้หน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ รวมถึงการสร้างกฏเกณฑ์ระดับสากลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน

ด้านรัฐบาลก็ต้องมีฐานข้อมูลรายชื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีทักษะ ตั้งแต่ระดับผู้นำในท้องถิ่นไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งพร้อมออกปฏิบัติการในทันที รวมถึงรายชื่อของผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้เรียกใช้และแจกจ่ายให้ทันที

นอกจากนั้น เราต้องสร้างระบบในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ให้ได้รับการพิจารณาอนุญาตใช้ในคนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแจกจ่ายวัคซีนไปยังผู้คนระดับพันล้านคนได้ในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากค้นพบว่าเกิดการระบาด

แต่การพัฒนาระบบดังกล่าวนั้นต้องเผชิญความยากลำบากหลายด้าน ทั้งในเชิงเทคนิค การเมือง และงบประมาณ รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน แต่อุปสรรคเหล่านั้น พวกเราสามารถก้าวข้ามไปได้

ความท้าทายเชิงเทคนิกประการหนึ่งของการผลิตวัคซีน คือการพัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนซึ่งปัจจุบันยังช้าเกินไป เราจึงต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้ปลอดภัยและผิดพลาดน้อย เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ในคนนั้นเกิดได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลิตในจำนวนมากได้ที่ราคาถูก

นอกเหนือไปจากแนวทางเชิงเทคนิกดังกล่าว เราต้องมีความพยายามทางการเมืองการทูต ให้มีความร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุข

การพัฒนายารักษาโรคต้องผ่านการทดสอบมากมาย และการจดสิทธิบัตรก็ต้องได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติ เราต้องใช้เวทีโลกต่าง ๆ ในการแสวงหาจุดร่วม ทั้งในด้านการกำหนดลำดับความสำคัญในการวิจัย ไปจนถึงกระบวนการทดสอบ เพื่อให้ยารักษาโรคที่มีประสิทธิผล สามารถนำออกใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป้าหมายของการแสวงหาจุดร่วมนี้ คือการได้รับผลทดสอบที่ชัดเจนและได้รับอนุมัติทางกฎหมาย ภายในเวลาน้อยกว่าสามเดือน โดยที่ไม่เกิดเป็นความเสี่ยงต่อผู้ป่วย

จะทำการใหญ่ย่อมใช้ทุนสูง ซึ่งปฏิบัติการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ต้องการเงินทุนเพิ่มอีกหลายเท่าตัวจากระดับปัจจุบัน เราต้องการเงินอีกหลายพันล้านเหรียญสำหรับการทดสอบในเฟส 3 และการให้วัคซีนได้รับอนุมัติทางกฎหมาย และต่อจากนั้นก็ยังต้องการเงินทุนเพิ่มอีก เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการเข้าถึงพื้นที่ปัญหาได้แต่เนิ่น ๆ

ทำไมรัฐบาลต้องสนับสนุนปฏิบัติการนี้ ? เอกชนดำเนินการเองได้หรือไม่ ? การพัฒนายารักษาโรคระบาดเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมาก บริษัทยาจึงต้องการเงินทุนจากภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองและกล้าที่จะเดินหน้าทำงานเต็มที่ นอกจากนั้นรัฐบาลต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่มีเงินทุน จำเป็นต้องลงทุนในโรงงานผลิตยาในระดับสากล เพื่อผลิตยาให้เพียงพอในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ จะสามารถผลิตวัคซีนเชิงป้องกันได้ในยามปกติ พร้อมกับมีศักยภาพที่จะเพิ่มการผลิตยามเกิดการแพร่ระบาด และท้ายที่สุด รัฐบาลต้องให้เงินทุนสนับสนุนการจัดซื้อและขนส่งวัคซีนไปยังประชาชนกลุ่มที่ประสบปัญฆา

มีความชัดเจนว่าเราต้องใช้เงินทุนมหาศาลหลายพันล้านเหรียญในการพัฒนาเรื่องนี้ แต่เมื่อเทียบกับความสำคัญของปัญหาแล้วก็คงเลี่ยงไม่ได้

และหากพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด ยังไม่ต้องพูดถึงห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอัมพาต ยังไม่ต้องพูดถึงตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งหนัก ยังไม่ต้องพูดถึงชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงถึงชีวิต ก็นับว่าการลงทุนให้กับเรื่องนี้มีความคุ้มค่า

ท้ายที่สุด ภาครัฐและเอกชนต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่าในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาด ยารักษาโรคต้องไม่แพงขึ้น ต้องหาได้ทั่วไปในราคาที่ผู้คนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในพื้นที่แพร่ระบาดหนักและมีผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งข้อตกลงนี้ไม่ใช่เพื่อคุณธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการตัดตอนการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแล้วและช่วยป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในอนาคตได้เช่นกัน

ผู้นำต่าง ๆ ต้องเริ่มดำเนินการทันที เราไม่เหลือเวลาอีกต่อไป


– All translation rights reserved –

Categories: Knowledge Resources