Investment Articles

ทำไมราคาน้ำมันดิบถึงร่วงแรง ?

1. เมื่อกลางเดือน ก.พ. 63 สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร (sanction) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ‘Rosnelf’ ฐานที่ขนส่งน้ำมันให้กับเวเนซูเอลา โดยสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลของ Nicolás Maduro ซึ่งสหรัฐฯ ได้ sanction รัฐบาลนี้มานานแล้ว .. ทำให้ความตึงเครียดด้านพลังงานระหว่างสหรัฐฯ และ รัสเซีย ระอุขึ้นไปอีก

2. เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา มีการประชุม OPEC ที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งในที่ประชุมวิเคราะห์กันว่า อุปสงค์ส่วนเพิ่มในปี 2020 จะลดลงจาก +1.1 ล้านบาเรลล์ต่อวัน (b/d) เหลือ +0.48 ล้าน b/d เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

3. ที่ประชุม OPEC บรรลุข้อเสนอว่า ให้เสนอต่อไปยังที่ประชุมร่วมรัฐมนตรีประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก OPEC (OPEC and non-OPEC Ministerial Meeting) ให้ลดกำลังการผลิตโดยรวมลง 1.5 ล้าน b/d โดยแบ่งเป็นส่วนของสมาชิก OPEC 1.0 ล้าน b/d และ non-OPEC 0.5 ล้าน b/d และรัสเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศ non-OPEC รายใหญ่ ที่อยู่ในข่ายต้องลดกำลังการผลิตลงด้วย

ซึ่งการลดกำลังการผลิตรายวัน (หากตกลงกันได้) ก็จะทำให้อุปทานตึงตัวขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ร่วงมาก่อนหน้าแล้ว ก็อาจฟื้นตัวได้ เป็นผลดีต่อผู้ขายน้ำมัน โดยเฉพาะผู้ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า เช่น ผู้ผลิต Shale Oil (น้ำมันที่แทรกตัวอยู่ในชั้นหิน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูงกว่าและแพงกว่า ในการผลิต) ในประเทศสหรัฐฯ

4. ปรากฎว่า รัสเซียปฏิเสธการลดกำลังการผลิต ขอยืนไว้ที่เดิม โดยประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า ราคาปัจจุบัน (ก่อนที่จะดิ่งนรก) เป็นระดับที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจรัสเซียแล้ว และรัสเซียก็มีเครื่องมือหลายอย่างที่จะรับมือกับ COVID-19 (คือไม่ต้องลดการผลิตน้ำมันก็ได้)

5. เท่ากับว่าข้อเสนอจากที่ประชุม OPEC ในข้อ 3 ล้มเหลว เพราะรัสเซียในฐานะผู้ผลิต non-OPEC รายใหญ่ ไม่เล่นด้วย โดยนักวิเคราะห์มองกันว่า เป็นการตอบโต้ของรัสเซียต่อสหรัฐฯ จากข้อ 1 และเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปได้ เป็นการกดดันผู้ผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ ให้ลำบากขึ้นในภาวะราคาขายที่ต่ำ

6. ซาอุดิอาระเบีย ในฐานะพี่ใหญ่ใน OPEC ก็ซัดกลับ ซึ่งอาจจะเป็นการซัดทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ พร้อมกันในนัดเดียว ด้วยการประกาศลดราคาขายล่วงหน้าให้ลูกค้าจีน ถึง $6 – $7 ต่อบาเรลล์ และแทนที่จะลดกำลังการผลิตตามแนวทาง OPEC กลับประกาศจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีก 2 ล้าน b/d นั่นคือ เท่ากับเป็นการตัดราคาขายและเพิ่มอุปทานไปพร้อมกัน ภายใต้อุปสงค์เบาบางลงจากสถานการณ์ COVID-19 .. ซึ่งผลคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งนรก 25-30% ตั้งแต่เปิดตลาดช่วงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 9 มี.ค. 63

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

7. ที่ว่าซาอุฯ อาจจะซัดรัสเซียและสหรัฐฯ ในนัดเดียว ก็เพราะทั้ง รัสเซียและสหรัฐฯ ต่างก็เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดน้ำมันดิบโลก แถมในสหรัฐฯ ก็ยังมุ่งพัฒนาการผลิต Shale oil ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะแย่งส่วนแบ่งจากซาอุฯ ไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

และแม้สหรัฐฯ จะเหมือนเป็นพันธมิตรสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์กับซาอุฯ มายาวนาน แต่อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นหัวใจสำคัญแทบจะสิ่งเดียวของเศรษฐกิจประเทศทะเลทราย การปกป้องอุตสาหกรรมตัวเองก็เป็นเรื่องจำเป็น .. ความอยู่รอด ไม่เข้าใครออกใคร

นอกจากนั้น การที่ราคาน้ำมันดิบลดต่ำมาก ยังทำให้ความสนใจของชาวโลกที่มีต่อ “รถพลังงานไฟฟ้า” (ที่ช่วงนี้ค่ายรถพากันเปิดตัวรัว ๆ) มีน้อยลง โดยเฉพาะในด้านความคุ้มค่าในการใช้งานเมื่อเทียบกับรถที่เติม fossil fuel .. เงินทอง ไม่เข้าใครออกใคร

//

== แถม: ทำไมราคาน้ำมันดิบดิ่งแล้วดัชนีหุ้นไทยต้องดิ่งตาม ==

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกับราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานของไทย (และเกือบทุกแห่งในโลก) มีความสัมพันธ์กันสูงมาก แทบจะเป็นกราฟเดียวกัน ►► หุ้นกลุ่มพลังงานมีน้ำหนักสูงมากในการคำนวณดัชนี เช่น PTT เป็นหุ้นที่มีน้ำหนักสูงสุดในตลาดหุ้นไทย (น้ำหนักจะลดลงเรื่อย ๆ ตามราคาที่ย่อลง) ►► หุ้นพลังงานดิ่ง SET Index ก็ดิ่ง ►► SET Index ดิ่ง หุ้นโดยรวมก็ดิ่งตาม ►► หุ้นที่ดิ่งตามเค้าไปโดยไม่ได้เกี่ยวข้องทางตรง เมื่อได้สติแล้วก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้บ้าง ส่วนหุ้นพลังงานคงต้องรอดูราคาน้ำมันดิบเป็นหลักไปก่อน

และเชื่อว่าคืนนี้ตลาดสหรัฐฯ ที่จะเปิดตามมาหลังสุดนับจากข่าวราคาน้ำมันดิบออกมา (เอเซียเจอก่อน ตามมาด้วยยุโรปที่ตลาดเปิดช่วงเย็นตามเวลาไทย) ก็น่าจะแย่เช่นกัน

รวบรวมและเรียบเรียงโดย SJ@TIF >> bit.ly/about_TIF

– All rights reserved –

== อ้างอิง ==

• สรุปการประชุม OPEC  https://www.opec.org/opec_web/en/press_room/5865.htm

• ข่าววิเคราะห์  https://oilprice.com/Energy/Energy-General/Oil-Prices-Crash-20-As-Oil-War-Begins.html

• ข่าววิเคราะห์  https://www.cnbc.com/2020/03/08/putin-sparks-an-oil-price-war-and-us-companies-may-be-the-victims.html

• ข่าววิเคราะห์ https://www.forbes.com/sites/rrapier/2020/03/08/what-was-russia-thinking-in-refusing-to-cut-oil-production/

Categories: Investment Articles