(Special Content)
นักลงทุนหลายท่านน่าจะทราบข่าวการหยุดซื้อขายและปิด 4 กองทุนตราสารหนี้ของ บลจ. ทหารไทย ซึ่งได้แก่กองทุนดังนี้
- กองทุนเปิดทหารไทยธนไพบูลย์ (TMBABF)
- กองทุนเปิดทหารไทยธนเพิ่มพูน (TMBUSB)
- กองทุนเปิดทหารไทยธนพลัส (TMBTHANAPLUS)
- กองทุนเปิดทหารไทยธนไพศาล (TMBBF)
ในโอกาสนี้ TIF จึงขอนำข้อมูลเพิ่มเติมของเหตุการณ์นี้ ทั้งในภาพรวมของตลาดการเงิน และเฉพาะกรณีนี้ มาขยายรายละเอียดให้ทราบกันครับ
ภาพรวมตลาดการเงินโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ลุกลามจากภูมิภาคเอเซียออกไปถึงทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 มาจนถึงปัจจุบัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในทวีปยุโรปเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน ส่วนในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเป็นต้นมา

จากภาวะดังกล่าว ทำให้ตลาดการเงินโลกในเดือนมีนาคม 2563 นี้ มีความผันผวนสูงขึ้นมากในภาพรวม ทั้งตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดพันธบัตร





และในแถลงข่าวร่วมของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเกิดภาวะ “สเปรดเสนอซื้อเสนอขายมีความถ่างกันมาก สะท้อนถึงกลไกตลาดที่ทำงานไม่ได้สอดคล้องกับสภาวะปกติ” (ที่มา: Facebook Fanpage สำนักงาน กลต.)
สถานการณ์ที่เกิดกับ 4 กองทุนตราสารหนี้จาก บลจ.ทหารไทย
จากข้อมูลข้างต้น เมื่อตลาดการเงินโลกผันผวนสูง ซึ่งรวมถึงตลาดตราสารหนี้โลกและในประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ในประเทศไทยจะผันผวนตามไปด้วย ซึ่งเป็นความผันผวนสูงกว่าระดับปกติ โดยเฉพาะกับกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป (ระดับความเสี่ยง 4) ที่ไม่ใช่ประเภทตราสารหนี้ตลาดเงิน (ระดับความเสี่ยง 1 และ 2) ส่วนความผันผวนจะมากหรือน้อย ก็จะต่างกันไปตามลักษณะและอายุตราสารที่กองทุนลงทุนอยู่
และตลาดที่มีความผันผวนสูง ในทางปฏิบัติโดยย่อก็หมายถึงว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละวัน มีช่วงกว้างกว่าระดับปกติ ขณะการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เป็นที่เข้าใจกันโดยสภาพที่เคยเป็นมา ว่าราคาจะมีความสม่ำเสมอ หรือหากเคลื่อนไหวลงไปต่ำกว่าราคาวันก่อนหน้าบ้าง ก็อยู่ในกรอบที่จำกัด
เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ราคากองทุนตราสารหนี้ มีความผันผวนสูงแบบแกว่งลงแรง ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่า สภาพที่เคยเป็นมานั้น จะคงอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ ทำให้เริ่มมีการขายหน่วยลงทุนออกมามากเป็นพิเศษ
และเมื่อนักลงทุนสั่งขายกองทุน ผู้จัดการกองทุนก็จะต้องรวบรวมยอดคำสั่งขายนั้นไปบริหารจัดการให้กองทุนมีสภาพคล่องเพียงพอจะจ่ายเงินคืนได้ตามคำสั่ง ซึ่งในทางปฏิบัติ การบริหารจัดการดังกล่าวก็คือการ “ขาย” สินทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ “สเปรดเสนอซื้อเสนอขายมีความถ่างกันมาก” ตามที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายไว้ในช่วงต้น การขายสินทรัพย์ในกองทุนเป็นจำนวนมาก มีโอกาสทำให้ราคาที่จำเป็นต้องขาย ลงไปลึกกว่าภาวะปกติ ทำให้เมื่อสรุปจบสิ้นวัน ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนที่มีคำสั่งขายในปริมาณสูง ยิ่งลดลงต่ำไปอีก ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้รับเงินคืนตามคำสั่ง


จากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลตามตารางข้างต้น ที่แสดงถึงการขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ บลจ.ทหารไทย จึงได้มีประกาศ ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 (สำหรับ TMBABF และ TMBUSB) และ 26 มีนาคม 2563 (สำหรับ TMBTHANAPLUS และ TMBBF) โดยมีใจความสำคัญคือ จะระงับการซื้อขาย โดยจะคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุน ทั้งนี้ คุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน
- ประกาศวันที่ 25 มีนาคม 2563 : final_announcement_march25.pdf
- ประกาศวันที่ 26 มีนาคม 2563: announcement_tb8_tb9.pdf
เปิดรายละเอียดการลงทุนล่าสุดของทั้ง 4 กองทุน (เท่าที่ บลจ. เปิดเผยไว้)
- TMBABF
- ประเภทกองทุน: กองทุนตราสารหนี้ (ระดับความเสี่ยง 4) กองทุนที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
- อายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารทั้งกองทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563 = 0.99 ปี
- รายละเอียดการลงทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
- ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ: 23.10%
- ตราสารของธนาคารไทยและต่างประเทศ: 47.07%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้: 31.15%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ไม่มี (0.00 บาท)
- อ่านเพิ่มเติม:
- Fund Fact Sheet: T04_03.pdf
- รายงานการลงทุน: T04_Investment_Report.pdf
- TMBUSB
- ประเภทกองทุน: กองทุนตราสารหนี้ (ระดับความเสี่ยง 4) กองทุนที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
- อายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารทั้งกองทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 25631 = 0.99 ปี
- รายละเอียดการลงทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563
- ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ: 17.61%
- ตราสารของธนาคารไทยและต่างประเทศ: 42.96%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้: 39.76%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ไม่มี (0.00 บาท)
- อ่านเพิ่มเติม:
- Fund Fact Sheet: T06_03.pdf
- รายงานการลงทุน: T06_Investment_Report.pdf
- TMBTHANAPLUS
- ประเภทกองทุน: กองทุนตราสารหนี้ (ระดับความเสี่ยง 4) กองทุนที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
- อายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารทั้งกองทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 25631 = 0.54 ปี
- รายละเอียดการลงทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
- ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ: 23.10%
- ตราสารของธนาคารไทยและต่างประเทศ: 47.07%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้: 31.15%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ไม่มี (0.00 บาท)
- อ่านเพิ่มเติม:
- Fund Fact Sheet: TB8_03.pdf
- รายงานการลงทุน: TB8_Investment_Report.pdf
- TMBBF
- ประเภทกองทุน: กองทุนตราสารหนี้ (ระดับความเสี่ยง 4) กองทุนที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
- อายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารทั้งกองทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 25631 = 1.72 ปี
- รายละเอียดการลงทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
- ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ: 17.57%
- ตราสารของธนาคารไทยและต่างประเทศ: 37.01%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้: 46.54%
- ตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ: ไม่มี (0.00 บาท)
- อ่านเพิ่มเติม:
- Fund Fact Sheet: TB9_03.pdf
- รายงานการลงทุน: TB9_Investment_Report.pdf
สถานการณ์ล่าสุดในตลาดการเงิน ณ ช่วงบ่าย 27 มีนาคม 2563
ตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศยังผันผวน แต่อยู่ในระดับที่ลดลง และเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง

ด้านตลาดตราสารหนี้สหรัฐอเมริกาและไทย ความผันผวนลดลง อัตราผลตอบแทนในตลาดปรับลดลงจากช่วงกลางเดือน ทำให้ราคาตราสารมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตามสมการความสัมพันธ์พื้นฐานที่ว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ตราสารหนี้ที่มีอยู่ในตลาดจะมีราคาเพิ่มขึ้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่อายุของตราสารนั้น ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก บลจ. ทหารไทย ที่ฝากแจ้งนักลงทุนผ่านมาทาง TIF
- การดำเนินการดังกล่าว เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้สภาพคล่องในตลาดเบาบางลง ไม่ได้เกิดจากคุณภาพตราสารหนี้ที่ลงทุน
- การดำเนินการดังกล่าว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักลงทุน เพื่อให้มีเวลาที่เพียงพอในการทยอยขายสินทรัพย์ ไม่ต้องเร่งขายจนเกิดผลขาดทุนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะสะท้อนออกมาในมูลค่าที่นักลงทุนจะได้รับเงินคืนในท้ายสุด
- บลจ.ทหารไทย มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน กลต. เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความรัดกุม
- บลจ.ทหารไทย น้อมรับผลที่เกิดขึ้น และจะปฏิบัติงานอย่างเป็นมืออาชีพสูงสุด
- หากผู้ลงทุนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถติดต่อ บลจ.ทหารไทย ได้โดยตรงที่หมายเลข 1725 ในวันและเวลาทำการ 8.30 – 17.30น.
- กำหนดการต่าง ๆ นับจากวันปิดกองทุน (26 มีนาคม 2563 สำหรับ TMBABF และ TMBUSB และ 27 มีนาคม 2563 สำหรับ TMBTHANAPLUS และ TMBBF) เป็นดังนี้
- ภายใน 5 วันทำการ >> ผู้จัดการกองทุนทำการขายทรัพย์สินเท่าที่ทำได้ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุน
- ภายใน 10 วันทำการ >> คืนเงินตามจำนวนเงินที่ขายสินทรัพย์ได้ ณ ขณะนั้น ให้แก่ผู้ถือหน่วย และนับเป็นวันเลิกกองทุน (โปรดสังเกตว่าเป็นคนละวันกับวันปิดกองทุน) โดยบลจ.ทหารไทย จะไม่คิดค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนตั้งแต่วันประกาศยกเลิกกองทุน
- ภายใน 90 วัน นับจากวันเลิกกองทุน >> ขายสินทรัพย์ที่เหลือในราคาเป็นธรรม ทั้งนี้ เงื่อนเวลาการชำระบัญชีอาจเปลี่ยนแปลงได้เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากสำนักงาน กลต.

ความเห็นเพิ่มเติมจาก TIF
หลังจากนักลงทุนได้รับเงินส่วนแรกแล้วใน 10 วันทำการ บลจ.ทหารไทย ควรรีบระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนในการได้รับเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดให้นักลงทุนทราบ เพื่อให้ผู้ลงทุนคลายกังวลและสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้จัก TIF เพิ่มเติม >> คลิก
Categories: Investment Articles