Investment Articles

สรุป Q1/63 .. ไตรมาสสุดป่วนตลาดการเงินโลก

ไตรมาส 1/2563 นอกจากสถานการณ์ PM 2.5 จะกลับมาในช่วงต้นปี ด้านออสเตรเลียก็เกิดไฟป่ารุนแรง ฝั่งตะวันออกกลางก็ปะทุความขัดแย้งจากเหตุสังหารผู้นำทางการทหารอิหร่านโดยโดรนรบของสหรัฐอเมริกา แต่เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของคนทั่วโลก ตลอดจนสุขภาพเงินในกระเป๋าของนักลงทุน ส่วนใหญ่คงเห็นตรงกันว่าคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และโดยภาพรวมแล้ว ไตรมาส 1/2563 นี้ก็มีเหตุการณ์ในตลาดการเงินเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว บทความฉบับนี้จึงขอสรุปเหตุการณ์ในตลาดการเงินในส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน (25 มีนาคม 2563) เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับข้อมูลภาพรวมครบในที่เดียว

ณ สิ้นปี 2562

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,230.78 จุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี (US10Y) อยู่ที่ 1.919% ต่อปี CBOE Volatility Index ซึ่งสะท้อนความผันผวนในตราสารอนุพันธ์ของ S&P 500 Index  (VIX) อยู่ที่ระดับ 13.78

ด้าน SET Index ปิดที่ 1,579.84 จุด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี (TH10Y) อยู่ที่ 1.49% ต่อปี

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ดัชนี Shanghai Stock Exchange (SSEC) ปิดที่ 3,050.12 จุด ราคาทองคำอยู่ที่ 1,517.18 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อออนซ์ (USD/Oz) ราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 66.00 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล (USD/bbl)

มกราคม 2563

😷 องค์การอนามัยโลก (WHO) เริ่มออกรายงานสถานการณ์อย่างเป็นทางการ (Situation Report) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม โดยระบุว่า WHO ประจำประเทศจีนได้รับแจ้ง ณ วันสิ้นปี 2562 พอดิบพอดี ว่าพบผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม  ทางการจีนประกาศว่าอาการติดเชื้อดังกล่าว เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

วันที่ 13 มกราคม กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยรายงานไปยัง WHO ว่าพบผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรก ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

ในรายงานครั้งแรกของ WHO เมื่อวันที่ 21 มกราคม มีผู้ป่วยในจีน 278 ราย ไทย 2 ราย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แห่งละ 1 ราย รวม 282 ราย ขณะที่ ณ 31 มกราคม ผ่านไปเพียง 10 วันจากรายงานครั้งแรก มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9,826 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ด้านประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 14 ราย

📉 ในตลาดการเงิน ดัชนี S&P 500 ปิดสิ้นเดือนไปที่ 3,225.52 จุด แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับสิ้นปี 2562 VIX เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 18.84 ขณะที่ US10Y ขยับลงมาที่ระดับ 1.52% สะท้อนแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ดัชนี SSEC ของจีนปิดก่อนเทศกาลตรุษจีน (กลับมาเปิดอีกทีเดือน ก.พ. 63 เลย) ที่ระดับ 2,976.53 ลดลง 2.4% จากสิ้นปี 2562

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ด้าน SET Index ขยับลดลงมาปิดที่ 1514.14 จุด หรือลดลง 4.2% จากสิ้นปี 2562 และ TH10Y ขยับลงมาที่ 1.31% ต่อปี สะท้อนแรงซื้อในตราสารหนี้เช่นเดียวกันในสหรัฐอเมริกา

ราคาทองคำขยับขึ้นเป็น 1,589.69 USD/Oz เพิ่มขึ้น 4.8% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent  ปิดที่ระดับ 56.64 USD/bbl ลดลง 14.2% จากสิ้นปี 2562

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกรวมถึงของประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับเดิมจากปลายปี 2562 กล่าวคือ US Fed Fund Rates คงอยู่ในกรอบ 1.5% – 1.75% ต่อปี BOE Bank Rate 0.75% ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยคงอยู่ที่ 1.25% ต่อปี

🔑 ภาพรวมเดือนมกราคม 2563 — ดัชนีหุ้นไทย จีน รวมถึงในประเทศใกล้เคียงจีน เริ่มออกอาการติดลบ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในภูมิภาคเริ่มเพิ่มจำนวน ส่วนดัชนีหุ้นสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังทรงตัว เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังต่ำ ด้านตลาดพันธบัตรมีแรงซื้อมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่นิยมใช้หลบความเสี่ยงอย่างทองคำ มีราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมันดิบมีราคาต่ำลงมาก ซึ่งแปรตามอุปสงค์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านในช่วงต้นเดือนที่ไม่ลุกลาม

กุมภาพันธ์ 2563

😷 ณ 15 กุมภาพันธ์ WHO รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 50,580 ราย เสียชีวิต 1,526 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน ผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนยังมีเพียง 526 ราย เสียชีวิต 2 ราย

อย่างไรก็ดี ณ 29 กุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 85,043 ราย  เสียชีวิต 2,924 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศจีน แต่มีพัฒนาการที่สำคัญคือ จำนวนผู้ติดเชื้อในส่วนอื่นของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 6,009 ราย หรือ 11 เท่าตัวในเวลาเพียงครึ่งเดือน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 86 ราย

📉 ในตลาดการเงิน ดัชนี S&P 500 ปิดสิ้นเดือนไปที่ระดับ 2,954.22 จุด ลดลง 8.4% จากสิ้นเดือนมกราคม สอดคล้องกับ VIX ซึ่งเพิ่มไปที่ระดับ 40.11 ส่วน US10Y มีแรงซื้อโถมเข้ามาจนกดอัตราผลตอบแทนให้เหลือเพียง 1.16% ต่อปี

(กราฟจาก cnbc.com)

ด้านดัชนี SSEC ของจีน ปิดที่ระดับ 2,880.30 จุด ลดลง 3.1% จากเดือนก่อน ซึ่งเหมือนจะลดลงไม่มาก แต่เป็นการฟื้นตัวจากระดับต่ำกว่า 2,800 จุดในช่วงต้นเดือน

ด้าน SET Index ปิดสิ้นเดือนที่ระดับ 1,340.52 จุด ลดลง 11.5% จากเดือนก่อน และ TH10Y ขยับต่อเนื่องลงมาที่ระดับ 1.17% ต่อปี รักษาแนวโน้มเดียวกันกับตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา

ราคาทองคำทรงตัวที่  1,585.40 USD/Oz แต่ระหว่างเดือนผันผวนสูง ในช่วงกลางเดือนปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,690 USD/Oz ก่อนจะถูกเทขายลงมา ด้านราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดที่ระดับ 50.10  USD/bbl ลดลง 11.5% จากเดือนก่อน

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ยังคงอยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อน ส่วนของไทยได้มีการปรับลดลงจาก 1.25% เหลือ 1.00% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 กุมภาพันธ์

🔑 ภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2563 — COVID-19 ส่งผลกระทบชัดเจนทั้งในด้านการสาธารณสุขและด้านตลาดการเงิน ตลาดหุ้นปรับลงแรง ตลาดพันธบัตรมีอัตราผลตอบแทนลดลงต่อเนื่องตามแรงซื้อที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิ่งตามอุปสงค์ที่ลดลง ด้านธนาคารกลางประเทศฝั่งตะวันยังไม่ขยับตัว

มีนาคม 2563

😷 ณ 15 มีนาคม ยอดติดเชื้อทั่วโลกผ่านหลักแสนมาอยู่ที่ 153,517 ราย มีผู้เสียชีวิต 5,735 ราย ขณะที่สถานการณ์ในจีนบรรเทาลงอย่างชัดเจนเมื่อพิจารณาจากยอดติดเชื้อใหม่รายวัน แต่ฝั่งยุโรปสาหัสขึ้นมาก ยอดติดเชื้อในอิตาลีสูงถึง 21,157 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 1,441 ราย พูดได้ว่ายุโรปคือคลื่นลูกที่สองของ COVID-19 ต่อจากจีนที่เป็นคลื่นลูกแรก

และล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 750,890 ราย เสียชีวิต 36,405 ราย ผู้ติดเชื้อในจีนมีเพิ่มบ้างเล็กน้อย ขณะที่ยุโรปมียอดติดเชื้อรวม 423,946 ราย เสียชีวิต 29,694 ราย แต่อัตราการติดเชื้อเพิ่มรายวันค่อนข้างทรงตัว โดยคลื่นลูกที่สามได้ชี้ไปที่สหรัฐอเมริกา จากช่วงกลางเดือนที่มีผู้ติดเชื้อ 1,678 ราย แต่ ณ สิ้นเดือนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 140,640 ราย เสียชีวิต 2,757 ราย

📉 ในตลาดการเงิน ดัชนี S&P 500 ปรับลดลงเหลือ 2,584.59 จุด ลดลงอีก 12.5% จากสิ้นเดือนก่อน โดยระหว่างเดือนลงไปต่ำสุดที่ 2,237.40 จุด

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

VIX ขยับขึ้นเป็น 53.54 ตามดัชนีที่แกว่งแรงและมีการบวกลบแต่ละวันในระดับสูงถึง 5%-10% โดยระหว่างเดือนขยับไปสูงสุดที่ระดับ 83.56

(กราฟจาก cnbc.com)

ด้าน US10Y ปรับลดลงแรงมาอยู่ที่ 0.70% ต่อปี แต่ระหว่างเดือนก็ผันผวนในกรอบกว้างถึง 0.50% – 1.25% ต่อปี สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดพันธบัตรทั่วโลกไม่น้อย

(กราฟจาก cnbc.com)

ด้านดัชนี SSEC ของจีนปิดที่ระดับ 2,750.30 จุด ลดลงเล็กน้อยจากปลายเดือนก่อน แต่ระหว่างเดือนก็มีความผันผวนในกรอบกว้างที่ระดับ 2,660 จุด – 3,071 จุด เช่นเดียวกับตลาดการเงินอื่น ๆ

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ด้าน SET Index ปรับลดลงมาที่ 1,125.86 จุด ลดลง 16.0% ในเวลาหนึ่งเดือน และแต่ละวันมีความผันผวนสูงมากระดับ 5%-15% ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องปรับเกณฑ์ Ceiling/Floor ให้แคบลงมาจาก +/- 30% ต่อวัน เหลือ +/- 15% ต่อวัน ซึ่งพบว่าในแต่ละวันมีหุ้นขนาดกลางถึงใหญ่หลายตัวมีราคาบวกลบชนเกณฑ์ใหม่ นับว่าเป็นการช่วยควบคุมความผันผวนในแต่ละวันให้ต่ำลงกว่าเดิม

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)
(ภาพจาก Facebook fanpage: SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ขณะที่ TH10Y กลับปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.52% ต่อปี (สิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.17% ต่อปี) และระหว่างเดือนความผันผวนสูงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยและวงการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

โดยภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสำนักงาน กลต. ได้จัดแถลงข่าวร่วมเพื่อนำเสนอนโยบายสร้างความเชื่อมันให้กับตลาดส่วนนี้

(การแถลงข่าวร่วม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กลต. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 — ที่มา: Facebook fanpage สำนักงาน กลต.)

และก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ภาครัฐได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 0.75% ต่อปี ในการประชุม กนง. นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

จากมาตรการดังกล่าวของภาครัฐ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรภาครัฐของไทยปรับลดลงจากระดับสูงสุดในเดือนนี้ (ซึ่งเกินกว่า 1.80% ต่อปี) และราคาตราสารปรับเพิ่มขึ้น ช่วยเสริมความมั่นใจให้ผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(กราฟจาก tradingeconomics.com)

อย่างไรก็ดี จากการที่ตลาดพันธบัตรผันผวนในลักษณะ Market Yield แกว่งขึ้นแรงในช่วงกลางเดือน ทำให้ราคาหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป (ระดับความเสี่ยง 4) ลดลงแรงกว่าระดับปกติที่เคยเป็นมา ทำให้นักลงทุนมีการขายหน่วยลงทุนประเภทนี้เป็นจำนวนมาก จนถึงช่วงวันที่ 25-26 มีนาคม 2563 ปรากฎว่ามีหลายกองทุนต้องประกาศระงับการซื้อขาย ปิดกอง และทยอยคืนเงิน ซึ่งกองทุนที่ปิดตัวดังกล่าวมีมูลค่า (ณ ราคาที่เปิดเผยสุดท้าย) รวมกันประมาณ 148,000 ล้านบาท

ด้านราคาทองคำอยู่ที่ 1,576.70 USD/Oz และเคลื่อนไหวผันผวนตลอดเดือน ช่วงกลางเดือนปรับลงไปแตะระดับ 1,450 USD/Oz ซึ่งเป็นการปรับลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นแบบฉีกตำราการเงินพอสมควร โดยคาดว่า เป็นการขายนำเงินไปชดเชยผลขาดทุนในหุ้นร่วมกับการขายเพื่อลดความเสี่ยงในภาพรวม อย่างไรก็ดี ก็มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ของเดือน

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ด้านราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับ 25.94  USD/bbl ลดลงถึง 48.2% จากเดือนก่อน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากซาอุดิอาระเบียที่ประกาศลดราคาให้คู่ค้ารายใหญ่พร้อมแสดงจุดยืนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบโต้รัสเซียที่ปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อเสนอของ OPEC

(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย US Fed Fund Rates มีการปรับลดถึงสองครั้งในเดือนเดียว ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.00% – 0.25% ต่อปี เทียบเท่าระดับครั้งวิกฤติการเงินปี 2551

ส่วนธนาคารกลางอังกฤษก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในเดือนเดียวกันเช่นกัน โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 0.10% ต่อปี

🔑 ภาพรวมเดือนมีนาคม 2563 — ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนสูงมาก ตลาดหุ้นในภาพรวมปรับลดลงแรงและรายวันมีการเหวี่ยงในกรอบกว้าง ตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกายังคงได้รับความสนใจแต่ก็ผันผวนสูง ด้านตลาดพันธบัตรไทย ภายใต้ความผันผวนมีแรงขาย ทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางกองได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัว ขณะที่ภาครัฐก็มีการออกมาตรการสนับสนุนตลาดกองทุนรวมตราสารหนี้ในหลายมิติเช่นกัน เช่น การอนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ในกองทุนเป็นหลักประกันในการกู้ยืมสภาพคล่องกับธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตลาดการเงินโดยรวมมีการฟื้นตัวบ้าง และมีความผันผวนลดลง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: who.it, bot.or.th, bangkofengland.co.uk, federalreserve.gov, thaibma.or.th, cnbc.com, Aspen by ThaiQuest