เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ที่่ผ่านมา Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) หรือ FED ได้ให้สัมภาษณ์ Brookings Institute เกี่ยวกับุมมองเศรษฐกิจและมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ คลิปเต็มดูได้ทีนี่
และสรุปประเด็นได้ดังนี้
1) หลายคนหลายคนนำสถานการณ์ตอนนี้ไปเทียบกับ the Great Depression เมื่อประมาณ 90 ปีก่อน แต่ Ben คิดว่ามันไม่ใช่การเทียบที่ดีเท่าไร เหตุการณ์ตอนนั้นลากยาว 12 ปีและเป็นวิกฤติการเงินที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ส่วน COVID-19 คล้ายภัยธรรมชาติ และการเยียวยาก็เน้นแก้ปัญหาฉุกเฉิน ไม่ใช่มาตรการแก้เศรษฐกิจถดถอยแบบทั่วไป
2) เราอาจจะเห็นตัวเลข GDP สหรัฐฯ ติดลบ 30% ในไตรมาส 2/2020 (ด้าน Tradingeconomics.com คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/2020 จะติดลบ 5% และไตรมาส 2/2020 จะติดลบ 17%)
3) ตัวเลขชัด ๆ ต้องรอดูกันต่อไป แต่ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะขึ้นอยู่กับว่า สถานการณ์นี้จะลากยาวเท่าไร .. ยิ่งนาน ธุรกิจจะปิดตัวมากขึ้น คนจะตกงานมากขึ้น
4) ปัจจัยสำคัญสุดที่จะบอกได้ว่าสถานการณ์จะลากยาวแค่ไหน คือความคืบหน้าจากด้านสาธารณสุข ซึ่งการได้รับทรัพยากรอย่างเพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ ก็จะช่วยได้มาก
5) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus package) ไม่น่าจะช่วย เพราะผู้คนออกไปจับจ่ายไม่ได้มากนัก แต่สิ่งที่ช่วยได้คือการเยียวยาฉุกเฉิน (Emergency relief) ที่เน้นให้คนยังพอมีกินอยู่ได้ โดยเฉพาะกับคนรายได้น้อย และธุรกิจที่ขาดรายได้ ซึ่งมาตรการการคลัง 2 ล้านล้านเหรียญของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เน้นการเยียวยาฉุกเฉินอยู่แล้ว และเท่าที่ดู ก็จัดมาแบบใช้ได้ (pretty good)
6) ด้าน FED ก็จัด 3 มาตรการในการสนับสนุนระบบการเงิน ได้แก่
6.1) การสนับสนุนกลไกตลาดให้ทำงานได้และให้มีสภาพคล่องเพียงพอ เช่น การทำ QE .. ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่หลักของ FED ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1913
6.2) ดำเนินนโยบายการเงินโดยการลด FED Fund Rates อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของเอกชน แต่กว่าส่วนนี้จะเห็นผลชัด ก็ต้องให้วิกฤติในเชิงสุขภาพบรรเทาลงก่อน เพราะผู้คนคงไม่ซื้อบ้านซื้อรถ (ด้วยเงินกู้) ในช่วงนี้กันมากนัก
6.3) เข้าไปทำธุรกรรมในตลาดเครดิต (Credit market) ผ่านการให้กู้ยืมระยะสั้นแก่ธุรกิจ เพื่อให้มีกำลังซื้อวัตถุดิบและมีเงินทุนหมุนเวียน + สนับสนุนสภาพคล่องให้กองทุนรวมตลาดเงินที่มีที่ท่าจะถูกไถ่ถอนสูงขึ้น [ส่วนนี้คล้ายมาตรการของแบงก์ชาติไทยที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กองทุนตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้] + เตรียมรับซื้อสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้มีความคล่องตัวขึ้น (ทำนองเหมือนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ — Securitization — ที่มีธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์)
7) นอกจากนั้น FED ยังมีไพ่ใบพิเศษ คือการขอ activate กฎหมายปล่อยกู้โดยตรงให้ภาคเอกชนได้อย่างอิสระมากขึ้น (โดยจะมีการเรียกหลักประกันที่เหมาะสม) จากในภาวะปกติที่ FED ไม่มีอิสระในเรื่องนี้มากนัก
8) ด้านการช่วยเหลือ SME ทาง FED ก็มีมาตรการ Main Street Lending Program ซึ่งคือการรับซื้อสินเชื่อ SME จากสถาบันการเงิน เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินอยากปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ
9) สถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบกับเกือบทุกประเทศทั่วโลก และหลายประเทศจำใจต้องชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก (Global recession)
10) จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก เราได้เห็นผลกระทบต่อเนื่องคือราคาน้ำมันดิบที่ร่วงแรง เงิน USD แข็งค่าขึ้น และเงินทุนไหลออกจากตลาดประเทศเกิดใหม่ (Capital outflows from emerging markets)
11) อย่างไรก็ดีในภาพรวม Ben ค่อนข้างพอใจ (Pretty pleased) กับมาตรการการเงินและการคลังของรัฐที่ได้ทำไปแล้ว แม้ในระยะต่อไปเราอาจจะต้องการมากขึ้น แต่เท่าที่ทำไปแล้วถือว่าได้ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจพอทำงานอยู่ได้ จนกว่าด้านสาธารณสุข (การตรวจ การรักษา การผลิตยา) จะมีความคืบหน้ามากขึ้น
แปลและเรียบเรียงโดย SJ@TIF
– All translation rights reserved –
Categories: Investment Articles, Knowledge Resources