Investment Articles

กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ครอบคลุมเงินฝากแค่ไหน ?

ข้อมูลและสถิติ (บางส่วน) ของการคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย

0. การคุ้มครองเงินฝากคืออะไร ?

“คือนโยบายและมาตรการสำคัญของภาครัฐ เพื่อให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน ว่าจะได้รับเงินฝากคืนภายในเวลาที่รวดเร็ว หากสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งประสบปัญหาต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต”

(Ref: www.dpa.or.th/faq)

——–

1. วงเงินคุ้มครองเงินฝาก ณ ปัจจุบันคือเท่าไร ?

5 ล้านบาท/คน (รวมทุกบัญชี)/สถาบันการเงิน .. เช่น ถ้ามีเงินฝาก 10 ล้านบาท แล้วฝากไว้กับธนาคารเดียวกันทั้งหมด จะได้รับการคุ้มครองเพียง 5 ล้านบาท แต่ถ้าแบ่งไปฝาก 2 ธนาคาร ที่ละ 5 ล้านบาท รวมกันแล้วจะได้รับการคุ้มครองครบทั้ง 10 ล้านบาท

(Ref: www.dpa.or.th/articles/view/1328)

——–

2. เงินที่ใช้คุ้มครองเงินฝาก มาจากไหน ?

มาจาก “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก” ซึ่งดูแลบริหารจัดการโดย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีบทบาทดังนี้

“เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินโดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายใต้วงเงินและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินฝากที่มีจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ”

(Ref: www.dpa.or.th/site/index/#organization)

——–

3. กองทุนคุ้มครองเงินฝากจะมีขนาดเติบโตขึ้น (แข็งแกร่งขึ้น คุ้มครองได้มากขึ้น) จากอะไร ?

📌 กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง นำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก ในอัตรา 0.01% (หมื่นละหนึ่งบาท) ต่อปี ของยอดเงินฝาก

(Ref: www.prachachat.net/finance/news-250358 ดูย่อหน้ารองสุดท้าย)

——–

4. จากอัตรา 0.01% ต่อปี จะทำให้กองทุนคุ้มครองเงินฝากโตขึ้นปีละประมาณเท่าไร ?

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ กุมภาพันธ์ 2563 เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีขนาด 14.16 ล้านล้านบาท ดังนั้น กองทุนคุ้มครองเงินฝากจะมีเงินเพิ่มขึ้น “ประมาณ” 1,416 ล้านบาท/ปี

(Ref: ยอดเงินฝากทั้งระบบ www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx… ร่วมด้วยการคำนวณพื้นฐาน)

——–

5. ขนาดกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ตามงบการเงินล่าสุด คือเท่าไร ?

📌 จากงบการเงินล่าสุดเท่าที่มี ณ วันนี้ (งบ ณ 31 ธันวาคม 2561) พบว่า กองทุนคุ้มครองเงินฝากมีขนาด 123,832 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินนำส่งโดยประมาณในปี 2562 (1,416 ล้านบาท) และบวกกับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ก็จะได้ว่า ยอดกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ ปัจจุบันน่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 125,600 ล้านบาท (ย้ำว่าเป็นการประมาณจากตัวเลขเท่าที่มี บนสมมติฐานที่ควรเป็นไปได้ ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนต้องรอดูในงบการเงินของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก)

(Ref: www.dpa.or.th/…/rayngan-khxng-phu-sxb-baychi-laea-ngb-kar-n… ดูหน้า 5 ร่วมด้วยการคำนวณพื้นฐาน)

——–

6. ขนาดกองทุนคุ้มครองเงินฝากโดยประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของเงินฝากทั้งหมดในประเทศ ?

เมื่อนำตัวเลขข้อ 5 เทียบกับข้อ 4 จะพบว่า กองทุนจะคุ้มครองได้เป็นสัดส่วน 0.9% ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด แต่ช้าก่อน ..

แต่เนื่องจากการคุ้มครองเงินฝาก จะมีให้เฉพาะเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท/บัญชี เท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองทั้งระบบ และสถิติเงินฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท/บัญชี ตามแหล่งข้อมูลเดียวกันข้อ 4 พบว่าจะมีจำนวนเงินรวมกันในช่วง 3.08 ล้านล้านบาท ถึง 6.73 ล้านล้านบาท และมีจำนวนบัญชีรวมกันในช่วง 99.91 ล้านบัญชี 101.37 ล้านบัญชี

โดยสาเหตุที่ต้องระบุเป็นช่วง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เผยแพร่สถิติ ณ จุดแบ่ง 5 ล้านบาท/บัญชีไว้แบบพอดี จะมีแต่จุด 1 ล้านบาท/บัญชี (ยอดรวม 3.08 ล้านล้านบาท และ 99.91 ล้านบัญชี) และ 10 ล้านบาท (ยอดรวม 6.73 ล้านล้านบาท และ 101.37 ล้านบัญชี)

ซึ่งถ้าเอาจุดกึ่งกลางมาคำนวณ (โดยต้องบอกก่อนว่าจะไม่แม่นเป๊ะ เพราะสถิติจริงของจุด 5 ล้านบาท/บัญชี อาจจะมีการเบ้ซ้ายหรือขวาในช่วง 1 – 10 ล้านบาท/บัญชี ก็ได้) ก็จะได้ว่า เงินฝากที่มีไม่เกิน 5 ล้านบาท/บัญชี จะมีเงินรวมกันโดยประมาณ 4.91 ล้านล้านบาท

แต่การคุ้มครองเงินฝาก ยังครอบคลุมไปถึงบัญชีที่มียอดเงิน 5 ล้านบาท/บัญชีด้วย แค่จะคุ้มครองเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น และบัญชีที่มียอดเกิน 5 ล้านบาท/บัญชี มีประมาณ 864,000 บัญชี (ประมาณการณ์จากจุดกึ่งกลางกลุ่ม 1 ล้านบาท/บัญชี และ 10 ล้าน/บัญชี เช่นเดิม) เมื่อคูณกับยอดการคุ้มครอง 5 ล้านบาท/บัญชี ก็จะเป็นเงินส่วนนี้อีกประมาณ 4.32 ล้านล้านบาท

เมื่อนำยอด 4.91 + 4.32 จะได้ 9.23 ล้านล้านบาท และเมื่อนำไปคำนวณกับตัวเลขในข้อ 5 จะได้ว่า

📌 โดยประมาณเท่าที่มีข้อมูล ขนาดของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก มีสัดส่วนเป็น 1.4% ของยอดรวมเงินฝากส่วนที่ได้รับการคุ้มครอง

——–

7. ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในข่ายได้รับการคุ้มครองเงินฝาก คือรายใดบ้าง ?

รายชื่อเต็ม ๆ ดูได้ที่นี่ www.dpa.or.th/site/index/#institute ซึ่งจะเห็นว่า เป็นสถาบันการเงินเอกชนและของรัฐที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ .. ส่วนเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐ เช่น ธอส. ธกส. ไม่อยู่ในข่ายได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

——–

8. จากข้อมูลที่ระบุมาขั้นต้น เราจะพิจารณาความเสี่ยงในการเงินฝากเงินกับสถาบันการเงินเอกชนได้จากปัจจัยใดอีกบ้าง ?

สถาบันการเงินเอกชนหลายแห่ง จะได้รับการพิจารณาจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ทั้งจาก Rating Agency ภายในประเทศ และ/หรือ ต่างประเทศ ซึ่งผู้ฝากเงินสามารถตรวจสอบสถานะล่าสุดได้จากเว็บไซต์หรือ Call Center ของสถาบันการเงินที่ท่านเกี่ยวข้อง

——–

— All rights reserved —