== สรุปของสรุป ==
1. แบงก์ชาติจะเป็นเจ้ามือเอง ในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท โดยตั้งเป็นกองทุนรวม
2. แบงก์ชาติอาจจ้างบริษัทหลักทรัพย์ (น่าจะ บลจ.) ให้บริหารกองทุนนี้ต่อก็ได้
3. หุ้นกู้เอกชนที่จะถูกซื้อ ต้องเป็นการออกใหม่ในตลาดแรกเพื่อ roll over ของเดิม + ต้องระดมทุนจากช่องทางอื่นมาก่อน >50% (แต่ขอยกเว้นได้) + Investment Grade เท่านั้น + ไม่อยู่ในภาคการเงิน
4. ต่อไปแบงก์ชาติอาจขายกองทุนนี้ต่อให้บุคคลอื่นก็ได้
5. ถ้าบริหารแล้วกำไร ให้ส่งเข้ากระทรวงการคลัง ถ้าบริหารแล้วขาดทุน กระทรวงการคลังชดเชยคืนให้แบงก์ชาติไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
6. หากจำเป็น แบงก์ชาติอาจจะ intervene ในตลาดรองด้วยก็ได้
———-
= สรุปกฎหมายรักษาสภาพคล่องตราสารหนี้เอกชน =

1. วันนี้ กฎหมายรักษาสภาพคล่องตราสารหนี้เอกชน หรือที่มีชื่อทางการว่า “พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓” ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
2. ให้มีการตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้เอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 (ม.7)
3. ให้กองทุนนี้ดำเนินการตามกฎหมายหลักทรัพย์ มีขนาดกองทุนเริ่มแรกไม่เกิน 400,000 ล้านบาท (ม.8)
4. ให้ช่วงแรก ให้แบงก์ชาติเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้แต่ผู้เดียว (ม.8)
5. ให้มี “คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ” โดยมี ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. (หน่วยงานที่ดูแลการออกพันธบัตรรัฐบาล) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. และผู้ทรงคุณวุฒิอีก ไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ .. รวมมีกรรมการกำกับกองทุนฯ ไม่เกิน 7 คน (ม.9)
6. คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีอำนาจแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เพื่อจัดการกองทุนนี้ (ม.10)
7. ในระดับรองลงมาจากคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ ให้มีการตั้ง “คณะกรรมการลงทุน” โดยให้รองผู้ว่าแบงก์ชาติหนึ่งคน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนจากสบน. ผู้แทนจาก สศค. และผู้เชี่ยวชาญอีกไม่เกิน 2 คน เป็นกรรมการ .. รวมมีกรรมการลงทุนไม่เกิน 5 คน (ม.12)
8. คณะกรรมการลงทุนมีอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุน (ม.13)
9. ลักษณะตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะลงทุนได้ ต้องมีลักษณะดังนี้ (1) เป็นการออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด (2) ใช้แหล่งเงินทุนอื่นก่อนไม่น้อยกว่า 50% เว้นแต่ได้รับการผ่อนผัน (3) มี Credit Rating ระดับที่ลงทุนได้ (4) ผู้ออกตราสารหนี้ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนไทย และไม่ใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน (ม.14)
10. ให้กรรมการในข้อ 5 และ 8 ได้รับค่าตอบแทนโดยถือเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ (ม.15)
11. การแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เพื่อจัดการกองทุน ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ม.16)
12. ในระยะต่อไป แบงก์ชาติอาจขายหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นต่อก็ได้ (ม.17)
13. หากตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจาก COVID-19 แบงก์ชาติอาจซื้อขายตราสารหนี้เอกชนในตลาดรองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะตราสารหนี้ออกใหม่ (ม.19)
14. การดำเนินการของแบงก์ชาติตามกฎหมายนี้ หากมีกำไร ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากขาดทุน ให้กระทรวงการคลังชดเชยคืนให้แบงก์ชาติในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท (ม.20)
15. เหตุผลที่ต้องออกกฎหมายนี้ เพราะสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ผู้ประกอบการซึ่งระดมทุนด้วยตราสารหนี้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกะทันหัน ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้มูลค่านับแสนล้านบาทได้ จึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เป็นความเสี่ยงเชิงระบบ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (หมายเหตุประกอบพ.ร.ก.)
(อ้างอิง: www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0012.PDF)
Categories: Investment Articles, Knowledge Resources