Investment Articles

เปิดประวัติศาสตร์ 45 ปี และก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ครบรอบ 45 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสู่การเติบโตร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อทุกคน

[Special Content]

การลงทุนในหุ้นเป็นอีกวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากให้โอกาสได้รับผลตอบแทนระยะยาวที่น่าสนใจกว่าการลงทุนหลาย ๆ ประเภท แถมในระยะสั้นก็มีโอกาสเก็งกำไรผ่านเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และนอกจากเรื่องผลตอบแทน บางท่านก็เปรียบการลงทุนในหุ้นเหมือนการทำธุรกิจ เพราะเมื่อซื้อหุ้น ก็ได้ร่วมเป็นเจ้าของกิจการ เพียงแต่ไม่ต้องลงแรงเพื่อก่อร่างสร้างธุรกิจเอง ทั้งยังมีรูปแบบการลงทุนได้ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง

การลงทุนหุ้นในตลาดแรก ก็คือการซื้อหุ้น IPO ซึ่งจะต้องจองซื้อผ่านผู้จัดจำหน่าย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ส่วนการลงทุนในหุ้นภายหลังขั้นตอน IPO ไปแล้ว ก็จะเป็นการซื้อขายในตลาดรอง โดยมี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปกติการซื้อหุ้นในตลาดแรกนั้น นักลงทุนทั่วไปอาจทำได้ยากกว่า เนื่องจากต้องมีการจองซื้อ อีกทั้งจำนวนหุ้นที่มีจำนวนจำกัด จึงอาจไม่ได้หุ้นครบตามที่ต้องการ ซึ่งหากไม่มี SET ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง การลงทุนในหุ้นก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนทั่วไป ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายได้อย่างทุกวันนี้

ด้วยความสำคัญนี้เอง และประจวบเหมาะกับที่ปีนี้ SET ครบรอบ 45 ปี Thailand Investment Forum จึงขอพาทุกท่านมาทำความรู้จัก SET ให้มากขึ้น ในฐานะองค์กรที่เป็นฟันเฟืองหลักตลาดทุนไทย ซึ่งยังคงมุ่งมั่นพัฒนาวงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักลงทุน ธุรกิจ ผู้ระดมทุน และตัวกลางต่าง ๆ สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากวงการตลาดทุน

กว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหน้าที่การเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหุ้น และคอยพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหุ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็กำลังเดินหน้าสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัล โดยได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนสร้างแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนเป็นดิจิทัลครบวงจร เพื่อสร้างประสบการณ์การลงทุนใหม่ ซึ่งกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวไกลมาได้อย่างทุกวันนี้ ก็ได้ผ่านช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยมามากมาย โดยหากจะให้ย้อนกลับไป ก็ต้องย้อนไปถึงปี 2518 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรก

  1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้บริการซื้อขายหุ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 ณ ชั้น 4 อาคารศูนย์การค้าสยาม โดยในช่วงเริ่มต้นมีพนักงานเพียง 20 กว่าชีวิต เปิดซื้อขายวันแรกด้วยหุ้นเพียง 8 ตัว
  2. ในปี 2534 ตลาดหลักทรัพย์เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ซื้อขายหลักทรัพย์แทนการซื้อขายแบบเคาะกระดาน เรียกว่าระบบ ASSET ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น SET CONNECT ระบบซื้อขายที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก


  3. หลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยก็ได้เริ่มไต่ระดับกลายเป็นแนวโน้มขาขึ้นและไปแตะจุดสูงสุดครั้งก่อนที่ 1,789.16 ในปี 2537 กระทั่งในปี 2540 ประเทศไทยก็เกิดวิกฤตการเงินครั้งสำคัญอย่าง วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยโดนโจมตีค่าเงินอย่างหนัก ทำให้ตลาดหุ้นตกลงไปจุดต่ำสุดที่ 204 ในเดือนสิงหาคมปี 2541 เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดกว่า 88% ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
  4. ปี 2542 มีการตั้งตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อรองรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีศักยภาพ ให้เข้ามาระดมทุนเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ต่อมาในปี 2543 ได้เปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยบริษัทเซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด และในปี 2549 ได้เปิดตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น
  5. เวลาผ่านไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรฐกิจและตลาดหุ้น แม้ในปี 2551 ตลาดหุ้นไทยต้องพบเจออีกบททดสอบสำคัญอย่างวิกฤต “ซับไพรม์” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ SET Index ตกลงกว่า 50% จาก 800 ลงมา 400 จุด แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี
  6. ในช่วงต่อมา แม้ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤตอีกหลายครั้ง อาทิ ภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2554 เหตุการณ์วางระเบิดราชประสงค์ ในปี 2558 ซึ่งก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่หลังจากนั้นก็กลับมาได้ทุกครั้ง จนกระทั่ง SET Index ขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 1,852.21 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
  7. ในปี 2562 เดินหน้าสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร ตั้งแต่การเปิดบัญชีที่ไม่ต้องใช้กระดาษ ผ่านการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาแพลตฟอร์ม FundConnext เชื่อมโยงการซื้อขายกองทุนรวมในประเทศแล้วกว่า 21 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และเชื่อมต่อยังไป Clearstream แพลตฟอร์มการซื้อขายกองทุนรวมระดับโลก เปิดประตูเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยกับอีกกว่า 56 ประเทศทั่วโลก
  8. ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหุ้นบริษัทจดทะเบียนให้นักลงทุนสามารถซื้อขายกันทั้งสิ้น 724 บริษัท ซึ่งหุ้น 5 ใน 8 ตัวที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่เปิดทำการครั้งแรกนั้นได้เติบโตและกลายมาเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 63) ได้แก่
    • ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาปิดวันแรก 15.75 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 100.50 บาท
    • เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ราคาปิดวันแรก 0.17 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 41.50 บาท
    • ดุสิตธานี (DTC) ราคาปิดวันแรก 0.94 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 7.10 บาท
    • ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ราคาปิดวันแรก 1.13 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 340 บาท
    • ทุนธนชาต (TCAP) ราคาปิดวันแรก 1.12 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 35.25 บาท

ข้ามผ่านมรสุม ยืนหยัดในทุกวิกฤต

จากที่ได้ย้อนรอยพาไปดูประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กันมาแล้ว จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เปิดมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ฝ่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและมรสุมมาหลายต่อหลายครั้ง และในวิกฤตแต่ละครั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ออกมาตรการและให้ความช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งเสริมสร้างความรู้และความเชื่อมั่นเพื่อขยายฐานผู้ลงทุน เพิ่มปริมาณ ความหลากหลาย และคุณภาพสินค้าการลงทุน ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูล มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤต

นอกจากนั้น ยังมีพัฒนาการเพื่อเสริมสภาพคล่องและเสถียรภาพในการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ปรับเกณฑ์ ceiling & floor จาก 10% เป็น 30% เพื่อให้ราคาซื้อขายหลักทรัพย์สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด สะท้อนปัจจัยพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น เริ่มนำมาตรการ circuit breaker มาใช้กรณีมีปัจจัยภายนอกมากระทบอย่างรุนแรง เพื่อให้ผู้ลงทุนมีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน (ใช้ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2549 จากมาตรการกันสำรอง 30% ของ ธปท. และล่าสุดเมื่อ 12 และ 13 มีนาคม 2563 จากสถานการณ์ COVID-19)

ล่าสุดในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในตลาดทุน ทั้ง บจ. บล. บลจ. และคัสโตเดียนที่ได้รับผลกระทบ โดยลดค่าธรรมเนียมรายปีแก่หลักทรัพย์จดทะเบียนที่ TSD เป็นนายทะเบียน ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรายปีแก่บริษัทที่เข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ลดค่าธรรมเนียมแก่บริษัทสมาชิก และลดค่าธรรมเนียมรักษาหลักทรัพย์ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ร่วมแบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม ด้วยการสนับสนุนตู้พ่นฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส (CoviClear) แก่โรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด 5 แห่ง เพื่อร่วมป้องกันแพร่ระบาดของ COVID-19 และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้สมทบทุนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนผ่านมูลนิธิต่าง ๆ ด้วย

มุ่งพัฒนาตลาดทุน เพื่อตอบโจทย์ทั้งนักลงทุน ธุรกิจ และผู้ร่วมตลาด

นอกจากจะร่วมฝ่าฟันและช่วยเหลือกันในทุกช่วงวิกฤตแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับภารกิจการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดยมุ่งสร้างระบบนิเวศของการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น

  • การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดทุนแก่ประชาชนคนไทย เนื่องจากการลงทุนในหุ้นในยุคแรกยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประชาชนและแทบไม่มีใครรู้จัก ซึ่งเป็นภารกิจแรก ๆ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยในปี 2545 ได้เริ่มจัดงานมหกรรมการลงทุนครบวงจร SET in the City เพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าถึงทุกผลิตภัณฑ์การลงทุน
  • การส่งเสริมความรู้การเงินการลงทุนครอบคลุมถึงความรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินแก่เยาวชนและประชาชนก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเริ่มมาจากความมั่นคงทางการเงินของประชาชน โดยได้จัดตั้งห้องสมุดมารวย ซึ่งเป็นห้องสมุดตลาดทุนครบวงจรแห่งแรกในไทย และจัดตั้ง INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย
  • ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG)  เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็น Sustainable Stock Exchange ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ครบรอบปีที่ 45 สร้างการเติบโตร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืน

เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 45 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่ต้องพร้อมรับมือต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์ในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตลาดทุนโลก เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวข้ามผ่านไปได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และต่อยอดธุรกิจใหม่เป็นหลักสำคัญ ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่

นอกจากกลยุทธ์ทั้งสามด้านนี้แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ขยายขอบเขตการทำงาน ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตามแนวคิด  “SET … Make it Work for Everyone”

ก่อนจบกันไป Thailand Investment Forum ขอฝากคำถามไปยังผู้อ่านว่า ท่านอยากเห็น SET พัฒนาไปอย่างไรในอนาคต ? ซึ่งความเห็นของท่านจะมีส่วนช่วยพัฒนาวงการตลาดทุน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ท่านลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในที่สุด จึงขอเชิญชวนมาให้ความเห็นกันเยอะ ๆ ครับ