Knowledge Resources

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 | บิล เกตส์ | 30 เม.ย. 63

เมื่อ Bill Gates เขียนเรื่องวัคซีน COVID-19 ทีไอเอฟก็ขอแปลมาให้อ่านกัน

[ อ่านต้นฉบับก่อนเลย >> gatesnotes.com/Health/What-you-need-to-know-about-the-COVID-19-vaccine ]

  1. คำถามที่ Gates ได้รับบ่อย ๆ ช่วงนี้คือ “เมื่อไรโลกจะกลับสู่ภาวะปกติ” ซึ่ง Gates จะตอบเหมือนเดิมทุกครั้งว่า ก็เมื่อมียารักษา (เป็นแล้วหายแน่) หรือไม่ก็มีวัคซีนป้องกัน (ไม่เป็นแต่แรก)
  2. เราน่าจะยังไม่เจอยารักษาแบบที่ได้ผลชะงัดในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น เราต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีน
  3. ถ้าเราจะพาโลกกลับสู่ภาวะปกติ เราต้องมีวัคซีนหลักพันล้านโดส แจกจ่ายไปทุกมุมโลก ยิ่งเร็วยิ่งดี
  4. มูลนิธิ Bill & Melinda Gates เป็นผู้ให้ทุนพัฒนาวัคซีน COVID-19 รายใหญ่ที่สุดของโลก และจำนวนเงินที่ทุ่มลงไป เรียกได้ว่าทำให้โครงการอื่น ๆ ที่เคยทำมากลายเป็นเด็ก ๆ ไปเลย
  5. Gates คาดว่าการผลิตวัคซีนจะต้องใช้เวลาอีก 9 เดือนถึง 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งเหมือนจะใช้เวลานาน แต่ปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลาถึงประมาณ 5 ปี ให้ครอบคลุมการทดสอบในสัตว์และในมนุษย์ เพื่อให้ได้ทั้ง “ความปลอดภัย” จากการใช้ ควบคู่กับ “ประสิทธิภาพ” ของการป้องกัน และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันทั่วไป ก็ยังมีประสิทธิภาพแค่ 45% เท่านั้น
  6. การทดสอบวัคซีนให้ได้ครบทั้งความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จะต้องผ่าน 3 เฟส ..
    เฟส 1) ทดลองกับอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อกำหนดสูตรการผลิตที่เหมาะสม ให้มีขนาดโดสต่ำสุดที่ยังได้ผลดีและปลอดภัย // เฟส 2) ทดสอบกับกลุ่มคนที่มีอายุและสถานะสุขภาพที่ต่างกัน // เฟส 3) ทดสอบกับคนหลักพัน โดยจะเน้นกลุ่มที่เสี่ยงจะติดเชื้อ และรอดูผล ทำให้เฟสนี้ใช้เวลานานสุด .. เมื่อผ่านครบ 3 เฟส จึงเตรียมกระบวนการผลิตปริมาณมาก พร้อม ๆ กับขอนุญาตจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานภาครัฐ
  7. ยิ่งผลิตวัคซีน COVID-19 ได้เร็วเท่าไร ยิ่งรักษาชีวิตผู้คนและบรรเทาความเสียหาบทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น ดังนั้น ในกรณี้ การพัฒนาวัคซีนจะต้องทั้งทำหลายเฟสให้เหลื่อมกัน ไม่รอให้จบเป็นเฟส ๆ เหมือนขั้นตอนปกติ และที่สำคัญ ขั้นตอนการขออนุญาตจะต้องตัดจบให้สั้นที่สุด ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐด้วย
  8. การลดเวลาพัฒนาจาก 5 ปี เหลือ 9 เดือนหรืออย่างมากไม่เกิน 2 ปี จะมีความเสี่ยงด้านการเงินอย่างมากในกรณีที่ล้มเหลวแล้วต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าภาครัฐ องค์กรต่าง ๆ รวมถึงมูลนิธิของ Gates จะสนับสนุนเงินทุนเต็มที่ ขอให้เร่งพัฒนาให้เร็วที่สุด และสามารถให้ทุนพัฒนาหลายโครงการได้พร้อมกัน โครงการไหนล้มเหลวบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะภาพรวมจะเพิ่มโอกาสให้ค้นพบวัคซีนได้เร็วขึ้น
  9. จนถึงต้นเดือนเม.ย. 63 มี(ว่าที่)วัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแล้วถึง 115 ตัว ซึ่ง 8-10 ตัวในกลุ่มนี้ มีทีท่าว่าจะไปได้สวย
  10. การพัฒนาวัคซีนแบบมาตรฐาน จะมี 2 แบบคือ 1) ใช้เชื้อโรคที่หมดฤทธิ์แล้ว (Inactivated) มาสร้างภูมิคุ้มกัน และ 2) ใช้เชื้อโรคที่อ่อนแอลงแล้ว (Live but weakened) มาสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งสองแบบนี้ ใช้เวลาพัฒนานานเกินไป
  11. จากข้อ 10. จึงเป็นการพัฒนาด้วยเทคนิกใหม่คือ วัคซีนแบบ RNA/DNA ซึ่งก่อนหน้านี้ มูลนิธิของ Gates ให้ทุนวิจัยเทคนิกนี้มานานหลายปีแล้วเพื่อใช้รักษามาลาเรีย
  12. แทนที่จะฉีดเชื้อโรคตามวิธีดั้งเดิมแบบข้อ 10. เพื่อรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน .. เทคนิควัคซีน RNA/DNA จะลัดขั้นตอนโดยใช้สารพันธุกรรม (ก็คือ RNA หรือ DNA ที่ปรุงมาแล้ว) มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันทีโดยไม่ต้องรับเชื้อในวัคซีนเข้าไปก่อน
  13. เทคนิควัคซีน RNA/DNA หากได้ผลก็จะผลิตได้เร็วมาก เพราะใช้วัตถุดิบน้อย แต่ยังต้องใช้ความลุ้นอยู่อีกมาก เพราะเป็นเทคนิกใหม่ที่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้ผลก็ได้
  14. การพัฒนาเทคนิก RNA/DNA เป็นแค่ทางหนึ่งที่ดูดีในตอนนี้ แต่ก็ยังต้องลองอีกหลาย ๆ ทางควบคู่กันไป กันเหนียว
  15. อย่าคาดหวังว่าวัคซีนที่ได้ผลดีและปลอดภัยต่อชีวิต จะสมบูรณ์แบบทุกด้าน อย่างวัคซีนฝีดาษก็จะทิ้งรอยแผลเป็นที่แขน (แต่เป็นคนละยุคกับวัคซีน BCG ที่คน Gen-X มักโดนกัน ซึ่ง BCG ใช้ป้องกันวัณโรค ไม่ใช่ฝีดาษ — ค้นคว้าเพิ่มโดย TIF) หรืออาจเป็นไข้ หรือบางรายในส่วนน้อยอาจมีปฏิกริยารุนแรงต่อวัคซีนก็เป็นได้
  16. วัคซีนที่ได้ผลดีต้องได้ผลอย่างน้อย 70% จึงจะหยุดการระบาดได้ชะงัด แต่ถ้าได้ผล 60% ก็พอใช้ แต่อาจมีการระบาดย่อม ๆ ในชุมชน ส่วนที่ได้ผลน้อยกว่า 60% ไม่ควรนำมาใช้ เพราะไม่สามารถสร้าง herd immunity ได้
  17. ความท้าทายที่สำคัญคือต้องมีวัคซีนที่ได้ผลดีในผู้สูงอายุด้วย เพราะยิ่งอายุมาก การตอบรับวัคซีนจะด้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีที่ใช้กันดั้งเดิมคือ จะเพิ่มความแรงของวัคซีนหากเป็นการฉีดให้ผู้สูงอายุ แต่ก็มีความเสี่ยงคืออาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น (ตามข้อ 15)
  18. นอกจากความปลอดภัยและการใช้ได้ผลดีแล้ว ยังต้องพิจารณาอีก 3 ประเด็น คือ .. 1) ปริมาณโดสมากหรือน้อย — หากต้องใช้หลายโดสจึงจะครบสูตร ก็ต้องทวีคูณต้นทุนในการผลิต ขนส่ง และหัตถการ // 2) ฉีดแล้วคุ้มครองนานแค่ไหน — ถ้าวัคซีนแบบฉีดแล้วคุ้มครองได้ยาวนาน มันยังผลิตยาก ใช้เวลาพัฒนาเยอะ เราอาจจะต้องหันมาผลิตวัคซีนเฉพาะหน้าที่คุ้มครองได้สั้น ๆ ก่อน (เช่น ไม่กี่เดือน) แล้วรีบพัฒนาวัคซีนที่อยู่ได้นานกว่าควบคู่กันไป // 3) เก็บรักษาอย่างไร — วัคซีนทั่วไปเก็บได้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ซึ่งตู้เย็นตามบ้านก็ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นวัคซีน RNA/DNA ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส ซึ่งในภาพรวมของโลก จะเก็บรักษาได้ยากกว่ามาก
  19. เชื่อว่าต่อไปเมื่อวัคซีน COVID-19 เข้าที่แล้ว ก็จะกลายเป็นวัคซีนมาตรฐานสำหรับเด็กเกิดใหม่ อย่างที่เราฉีดเป็นชุดให้ลูกหลานเรากันอยู่แล้ว
  20. แม้จะค้นพบสูตรวัคซีนที่ใช่แล้ว ความท้าทายขั้นต่อไปคือ การผลิตและแจกจ่ายให้ทั่วถึงอย่างน้อย 7 พันล้านโดสทั่วโลก คือเกือบทุกคนในโลกต้องได้รับวัคซีนนี้ แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าต้องใช้โรงงานหรือกระบวนการผลิตแบบใด (เพราะยังไม่เจอวัคซีนที่ใช่)
  21. สิ่งที่พอทำได้ตอนนี้ควบคู่ไปกับการหาสูตรวัคซีน คือสร้างโรงงานผลิต (ระดับพันล้านโดส) หลาย ๆ รูปแบบเตรียมไว้ เมื่อพบสูตรการผลิตเมื่อไร จะได้สเกลอัปได้ทันที แต่แนวทางนี้จะใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ต้องเตรียมหาเงินทุนไว้รองรับแต่เนิ่น ๆ
  22. เมื่อค้นพบสูตร และเริ่มผลิตได้ในสเกลสูง โจทย์ต่อไปคือ จะแจกจ่ายให้คนกลุ่มไหนก่อน แน่นอนว่าต้องแจกจ่ายให้บุคลากรสาธารณสุขก่อน แล้วกลุ่มไหนจะเป็นกลุ่มต่อไป ? คนสูงอายุ หรือแรงงานในสาขาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ .. ซึ่ง Gates ฟันธงว่า ควรแจกจ่ายให้กลุ่มประเทศยากจนก่อน เพราะ COVID-19 มีโอกาสแพร่กระจายง่ายกว่ามากในกลุ่มคนรายได้น้อยที่ไม่สามารถทำ physical distancing ได้ (สังเกตว่า Gates ไม่ได้ใช้คำว่า social เพราะไม่สื่อความได้ดีเท่า physical — ความเห็น TIF ซึ่งสอดคล้องกับคำที่เลขาธิการ WHO ใช้เช่นกัน) ซึ่งหากโรคแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศยากจน การเสียชีวิตก็อาจจะสูงมาก แต่หากให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ก่อน ก็จะรักษาชีวิตคนได้เป็นล้าน
  23. นอกเหนือไปจากแก้ปัญหาครั้งนี้แล้ว ต้องคิดวิธีป้องกันปัญหาลักษณะนี้ในอนาคตต่อไปด้วย
  24. แม้ตอนนี้หลายสิ่งอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ถือว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว .. Gates เชื่อว่าการเน้นพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุดคือเรื่องที่จำเป็นและถูกต้อง โดยในระหว่างนี้ Gates อยากให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ เพราะการก้าวผ่านสถานการณ์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ///

แปลและเรียบเรียงโดย SJ@TIF (2.46 am)

– All translation rights reserved –

Categories: Knowledge Resources