Investment Articles

อธิบายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย & อัปเดตกรณีลดอัตราดอกเบี้ยฯ เหลือ 0.50% ต่อปี

ปูพื้นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกลไกที่ส่งต่อผลเศรษฐกิจไทย

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือดอกเบี้ยแกนหลักของประเทศซึ่งมีหน้าที่ประครองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่ตกต่ำจนประชาชนเดือนร้อน และไม่ร้อนแรงเกินไปจนสุ่มเสี่ยง

อัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ จะว่าไปก็เปรียบเหมือนคันเร่งและแป้นเบรคของรถยนต์ ซึ่งเจ้ารถยนต์นี้ก็คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อเศรษฐกิจชักจะเหงาหงอย เติบโตต่ำ ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ที่วิ่งช้าลงจนแทบหยุด โดยหลัก ๆ ก็จะดูจากการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Production หรือ GDP) ที่ชะลอตัว ยอดการส่งออกสุทธิที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะเหยียบคันเร่งด้วยการ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้กลไกหลักในตลาดการเงิน ซึ่งก็คือแบงก์พาณิชย์ ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีแรงฮึดจนกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง กล่าวคือ

1) ส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ “ในฐานะเจ้าหนี้” ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้ซึ่งมีทั้งประชาชนและภาคธุรกิจหายใจหายคอได้คล่องขึ้นด้วยเหตุที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลง … เมื่อดอกเบี้ยต่ำลง ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มจะใช้จ่ายด้วยการก่อหนี้มากขึ้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และเมื่อดอกเบี้ยต่ำลง ลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น

2) ส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ “ในฐานะลูกหนี้” ลดดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกดดันให้ลูกค้าเงินฝาก คิดอ่านนำเงินออมที่ได้ดอกเบี้ยต่ำลงไปใช้จ่ายมากขึ้น หรือไม่ก็เอาไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น

รูปที่ 1: เปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปี  2000 – 2020
(กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

นอกจากนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกลไกแล้วก็คือการปรับลด “อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน” (1-Day Repurchase Rate หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 1-Day Repo Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรมกู้ยืมระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงิน ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้ามือหลักอยู่ในตลาด และมีธนาคารพาณิชย์เป็นคู่ค้าหลัก ซึ่งเจ้าอัตราดอกเบี้ย 1-Day Repurchase Rate นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเจ้า 1-Day Repo Rate ถูกปรับลดลง  อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรภาครัฐ (กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ) ก็จะลดลงตามไปด้วย เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลง ก็จะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ลดลงไปด้วย เท่ากับเป็นการกดดันให้นักลงทุนในพันธบัตร ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในการลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น (หลักการคล้าย ๆ กับการลดดอกเบี้ยเงินฝาก)

และนอกจากนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐไทยนั้น ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีนักลงทุนต่างประเทศด้วย เมื่อผลตอบแทนต่ำลง ความน่าสนใจก็ลดลง จึงมีแนวโน้มที่จะถอนเงินลงทุนออกไปประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงทำให้ค่าเงินบาท (เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอย่าง US Dollar) มีโอกาสอ่อนลงด้วย และเมื่อเงินบาทอ่อนลง ภาคธุรกิจส่งออกก็จะขายสินค้าได้เป็นเงินบาทมากขึ้น กำไรก็จะมากขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง

ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจชักจะคึกคักเกินไป เติบโตร้อนแรง ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ที่ชักจะซิ่งเกินจนมีโอกาสแหกโค้งพากันตายยกคัน เงินเฟ้อชักจะพุ่งสูงจากการที่ข้าวของแพง กนง.ก็จะเหยียบเบรคด้วยการ “ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา เพื่อติดเบรคเศรษฐกิจให้ไม่ร้อนแรงจนเกินไป กล่าวคือ 1) เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายด้วยการก่อหนี้ และลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะลดการกู้ยืม เพราะต้นทุนแพงขึ้น และ 2) เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น ลูกค้าที่ชอบความเสี่ยงต่ำ ก็จะลดการใช้จ่ายและการลงทุนด้านอื่น ๆ เพื่อเอาเงินมาฝากมากขึ้น

และเช่นเดียวกัน เมื่อมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็คือการปรับเพิ่ม 1-Day Repo Rate ก็จะทำให้การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก อย่างพันธบัตรภาครัฐ มีความน่าสนใจมากขึ้น เท่ากับเป็นดึงเงินออกมาจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรภาครัฐของไทยสูงขึ้น ความน่าสนใจก็สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่เงินลงทุนจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินบาท (เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอย่าง US Dollar) มีโอกาสแข็งค่าขึ้น และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ภาคธุรกิจส่งออกก็จะขายสินค้าได้เป็นเงินบาทน้อยลง กำไรก็จะลดลง เท่ากับเป็นการกระตุ้นชะลอเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดข้างต้น สรุปเป็นภาพได้ดังนี้

รูปที่ 2: กลไกการทำงานของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (โดย TIF)

กรณีกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.50% ต่อปี

ในการประชุมกนง. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 63 ปรากฏว่า มีมติ 4:3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลงเหลือ 0.50% ต่อปี นับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่มีการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

รูปที่ 3: 1-Day Repo Rate ปี  1994 – 2020 ซึ่งนำมาใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา (กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

ซึ่งสรุปเหตุผลของ กนง.ได้ดังนี้

  1. เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก
  2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาด ตามราคาพลังงานที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
  3. เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กรรมการเสียงข้างน้อย 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปีตามเดิม แล้วไปเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว

(อ่านเอกสารผลการประชุมกนง. วันที่ 20 พ.ค. 63 ฉบับเต็มได้ที่นี่ >> www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Documents/PressMPC_32563_fp98cu52.pdf)

คาดการณ์ผลกระทบด้านต่าง ๆ

เมื่อพิจารณาตามกลไกในรูปที่ 2 ร่วมกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาลง (รอบล่าสุด) มาตั้งแต่ปลายปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและน่าจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้ ได้แก่

1. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก มีแนวโน้มลดลงทั้ง 2 ขา ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีแรงจูงใจในการกู้ยืม (เพราะต้นทุนเงินทุนต่ำลง) และ/หรือ ถอนเงินฝากมาใช้จ่ายมากขึ้น (เพราะผลตอบแทนน้อยลง)

รูปที่ 4: ตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และเงินฝากประจำ 3 เดือนของบางธนาคาร เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

2. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (และหุ้นกู้เอกชน) ลดต่ำลง ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผลตอบแทนตราสารหนีัทั้งระบบที่ออกใหม่ จะต่ำลง .. แต่ตราสารหนี้ที่มีอยู่เดิมในตลาด จะมีราคาสูงขึ้น (ตามสมการ อัตราดอกเบี้ยในตลาดลด = ราคาตราสารหนี้เพิ่ม)

รูปที่ 5: เปรียบเทียบเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลวันที่ 1 ส.ค. 62 และ 4 ก.พ. 63
(กราฟจาก ThaiBMA และเพิ่มคำอธิบายโดย TIF)

3. เงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลหลักเช่น USD ทั้งนี้ เมื่อมองเฉพาะปัจจัยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย .. แต่ในความเป็นจริง ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น การส่งออกนำเข้า และกระแสเงินลงทุนไหลเข้าออก รวมถึงค่าเงินต่างประเทศเอง (เช่น อยู่ดี ๆ USD แข็งค่าของเขาเอง ก็ทำให้ THB/USD อ่อนค่าได้เองเช่นกัน โดยปัจจัยภายในประเทศไทยคงที่) .. นอกจากนั้น การขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในหลายครั้งก็เป็นการ “แก้” ภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าหรือแข็งค่าเกินไป คือเป็นผลจากเหตุ ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดผล

รูปที่ 6: แนวทางของ กนง. ที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน จากรายงานการประชุม กนง. ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 62 ซึ่งเป็นครั้งที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ต่อปี ลงมาเหลือ 1.25% ต่อปี (ที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2019/Pages/n6562.aspx)

4. เอื้อให้ตลาดหุ้นเป็นบวก .. อย่างไรก็ดี เช่นเดียวค่าเงินบาท ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย .. ในระยะสั้น สด ๆ ใหม่ ๆ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นได้บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป และมีปัจจัยอื่นที่ใหม่กว่าแรงกว่าเกิดขึ้น ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจลดความสำคัญลง

รูปที่ 7: SET Index วันที่ 20 พ.ค. 63 จนถึง 15.25น. (กราฟจาก Aspen by ThaiQuest)

สรุปความคาดหวังของ กนง. จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับประวัติการณ์ในวันนี้

  1. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น
  2. จะช่วยสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐฐาลและมาตรการด้านสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้า
  3. ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SME ให้เกิดผลมากขึ้น

(อ้างอิงตามเอกสารด้านบนที่กล่าวแล้ว)

ส่วนเราในฐานะประชาชน ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปในหลาย ๆ ด้าน ว่าการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ (อีกครั้ง) ในรอบนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ตลอดจนภาวะการลงทุนในหลักทรัพย์ ได้มากน้อยแค่ไหน .. แต่อย่างน้อยในหลักการ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ตามที่กลไกที่ได้อธิบายไปทั้งหมดข้างต้น ย่อมเป็นปัจจัยด้านบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

– All rights reserved –