(ดำเนินรายการโดย น.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร ผู้ก่อตั้งเพจคลินิกกองทุน)
1. ทราบมาว่าทำงานในวงการลงทุนด้านตราสารหนี้มาหลายปี ช่วยเล่าประสบการณ์ส่วนนี้แบบย่อ ๆ
เคยทำงานในสถาบันการเงินในกำกับของแบงก์ชาติและบริษัทประกันข้ามชาติ รวมกันเกือบ 11 ปี ตอนนั้นก็จะดูแลเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัท มีทั้งพอร์ตตราสารหนี้รายตัว หุ้นในตลาด กองทุนอสังหาฯ แล้วก็หุ้นนอกตลาด
แต่ถ้าพวกที่มีสัดส่วนสูงสุดและมีปริมาณซื้อขายผ่านมือสูงสุด ก็จะเป็นตราสารหนี้ ซึ่งก็ผ่านมือมาหมด ทั้งพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรแบงก์ชาติ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ตราสารหนี้แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า SPV และตั๋วบีอี
แล้วก็เป็น ผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนของ ThaiBMA ด้วย
2. ในยุค New Normal หรือ วิถีชีวิตใหม่ พฤติกรรมนักลงทุนจะเป็นอย่างไร
ปีนี้นักลงทุนได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” นั้นเป็นอย่างไร แถมความเสี่ยงมาในหลายมิติด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องราคาขึ้นลง กำไรขาดทุน ยังมีเรื่องสภาพคล่อง อย่างการปิดกองตราสารหนี้ ยังมีเรื่องปัญหาทางกายภาพ เช่นราคาน้ำมันดิบ West Texas ติดลบเพราะความกังวลเรื่องคลังน้ำมัน
พอเจอประสบการณ์ตรง แรง และเร็ว ก็คิดว่านักลงทุนช่วงนี้น่าจะมีความระมัดระวังมากขึ้น หาข้อมูลเบื้องลึกมากขึ้น ลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อาจจะอ่านเฉพาะข้อมูลสรุป อันนี้คือ New Normal ในเชิงการลงทุน
ส่วน New Normal ในเชิงการใช้ชีวิต ผมเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว ก็อาจจะติดตามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดขึ้น แล้วเดี๋ยวก็จะค่อย ๆ ปรับตัวและหาโอกาสทั้งการทำงานและทางธุรกิจ ที่เกิดขึ้นได้เอง
เราอาจจะคาดการณ์ล่วงหน้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง โอกาสที่คาดการณ์แล้วจะผิดนั้นมีสูง เราก็อาจจะต้องเตรียมใจที่จะกล้าปรับตัว เมื่อสถานการณ์จริงไม่เหมือนกับที่เราคาดการณ์ไว้
และต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ก็มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยอดีต และอดีตนี่ไม่ได้หมายความแค่ 20 -30 ปีล่าสุด แต่ต้องย้อนไปเป็นระดับหลายร้อยหรืออาจจะเป็นพันปี ซึ่งจะเห็นว่าพฤติกรรมพื้นฐานและความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ก็ยังคงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไป คือมีความเป็นสัตว์สังคม ต้องการความสะดวกสบาย มีความต้องการต้องกินต้องใช้
รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เนื้อหายังคงเดิม คือถ้าเรามองย้อนไปในอดีตที่ไกลขึ้น เราจะเห็น pattern ที่ซ้ำ ๆ กัน และคาดการณ์พฤติกรรมของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ซึ่งใครที่สนใจอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แนะนำหนังสือ 6 เล่มนี้ครับ รสหวาน รับประทานง่าย เอามาต่อยอดได้ง่าย 4 เล่มเล็กหาไม่ยาก 2 เล่มใหญ่นี่ผมได้มาจากร้าน HardCover ชั้น 6 เซ็นทรัลเอ็มบาสซี

3. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทิศทางของตราสารหนี้ กองทุนตราสารหนี้เป็นอย่างไร
ก่อนจะเข้าเรื่องสถานการณ์ COVID .. ขอให้สถิติของตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ในประเทศไทยเล็กน้อยครับ

ตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่มีการขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท เทียบกับตลาดหุ้นที่มีมูลค่า 14.22 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าขนาดของตลาดตราสารหนี้ ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าตลาดหุ้น
ส่วนกองทุนรวมในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกัน 5.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ถึง 2.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50%
จะเห็นว่า วงการตราสารหนี้ มีความสำคัญสูงมากต่อตลาดการเงินไทย
และการจะคุยคำถามนี้ได้สนุก ต้องทบทวนหลักการของตราสารหนี้ก่อนเล็กน้อย

ข้อแรก ราคาตราสารหนี้ กับอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะผกผันกัน ถ้าเรากำลังพูดถึงตราสารหนี้ที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง และในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น
ข้อสอง ตราสารหนี้ที่มีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันแค่อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ตัวที่มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วต่ำกว่า หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนไป ก็จะมีราคาผันผวนกว่า
ข้อสาม ตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า ก็จะมีความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่า
ที่นี้กลับมาพูดถึงสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา ขอกระโดดมาอัปเดตก่อนว่า หลังจากเข้าไตรมาส 2 เป็นต้นมา ภาวะตลาดมีความนิ่งขึ้นเยอะ แต่ถ้าพูดถึงการลงทุนโดยรวม ในช่วงกลาง ๆ มาจนถึงปลายไตรมาส 1 ก็มีความผันผวนสูงมาก ทั้งที่ดูด้วยตาก็เห็น อย่างช่วงที่มี circuit breaker รายวัน และทั้งที่วัดได้จากดัชนีความผันผวนอย่าง VIX ที่ใช้ข้อมูล Options ของดัชนี S&P 500
ทั่วไปแล้ว หากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น เกิดความผันผวน ตราสารหนี้ก็มักจะเป็นที่วางใจได้ในความมั่นคง ซึ่งคำว่ามั่นคงไม่ได้แปลว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่ได้ขยับ แต่จะเคลื่อนไหวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ราคาตราสารหนี้ที่สัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ก็จึงไม่ได้ผันผวนมาก คือต้องให้เวลาผ่านไปนานหน่อย เช่น หลายเดือน เราถึงจะค่อย ๆ เห็นแนวโน้มว่าผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นพิเศษหรือเปล่า
แต่ในสถานการณ์คราวนี้ อัตราดอกเบี้ยในตลาดของตราสารหนี้ ผันผวนขึ้นลงแรงตามหุ้น น้ำมันดิบ และทองคำ ด้วยเช่นกัน เพราะว่าเงินลงทุนในระดับโลกมีความเชื่อมโยงกันใกล้ชิด และในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง บางวันตลาดดูจะกลับมาบวกดีมาก แต่ผ่านไปอีกวันก็กลับมาแย่มาก ก็มีเห็นหลายครั้งในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
และเมื่อของที่เคยรู้สึกว่า วางใจได้ กลายเป็นผันผวนตามสินทรัพย์อื่น ๆ ก็จะกระทบกับนักลงทุนกลุ่มที่ต้องการความแน่นอน ผลก็คือเกิดการขายออกมาพอสมควร ถ้าเป็นตัวตราสารหนี้เองก็มีผลขาดทุนแบบเทียบวันต่อวันมากเป็นพิเศษ แล้วก็สะท้อนไปที่ราคากองทุนตราสารหนี้ แล้วก็ไปเกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนมากเป็นพิเศษในบางกองทุน
นอกจากนั้น จะเห็นว่าช่วงก่อนหน้านี้ อย่างปลายปี 2019 ที่ยังไม่เกิดสถานการณ์โควิด อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5 ปี ต้นปี 2019 มีผลตอบแทน 2.5% ต่อปี สิ้นปีลดลงเหลือประมาณ 1.7% ต่อปี แต่ในเดือนมีนาคม ผ่านมาไม่กี่เดือน ปรากฎว่าร่วงลงไปถึงระดับ 0.4% ต่อปี แล้วก็แกว่งขึ้นมาที่ 0.8% ต่อปี ในเวลาแต่สัปดาห์เศษ ๆ

ด้านตลาดตราสารหนี้ไทยก็เช่นกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 5 ปี เมื่อต้นปี 2019 ให้ผลตอบแทน 2.08% ต่อปี แต่พอสิ้นปี ลงมาเหลือ 1.26%แต่ในช่วงเดือนมีนาคม ลงมาต่ำถึง 0.68% แล้วก็เด้งขึ้นไปถึง 1.41% ต่อปี ในเวลาแต่สัปดาห์เศษ ๆ
ดูตัวเลขเหมือนไม่เยอะ แต่สำหรับในวงการตราสารหนี้ แบบนี้ถือว่าผันผวนสูงมาก และในภาวะที่ดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้ก็อยู่ในระดับต่ำมาอยู่แล้วแต่เดิม ความผันผวนแบบนี้ยิ่งทำให้ราคาตราสารหนี้เหวี่ยงแรงขึ้นไปอีกระดับ
และจะสังเกตว่าเปิดต้นปีนี้ มาจนถึงต้นเดือนมีนาคม อัตราผลตอบแทนลดลงเร็วมาก ใครที่ลงทุนไว้ในตราสารหนี้รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ จะกำลังแฮปปี้กับราคาที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ถ้าเป็น NAV กองทุน ก็จะเห็นกราฟที่ชัน แล้วพอเข้ากลางเดือนมีนาคม ปรากฎว่าเกมส์พลิก
แต่ท่ามกลางความผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี พร้อมกับจับมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. แถลงข่าวสร้างความมั่นใจให้ตลาด และต่อมามีการตั้งกองทุน BSF ก็ทำให้ภาวะตราสารหนี้ในภาพรวม ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นมา มีความนิ่งขึ้นมาก
แต่เราต้องตระหนักว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โอกาสที่จะลงต่ำกว่านี้ ก็อาจจะมี แต่ในระยะต่อไป โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น ก็มีเช่นกัน และมีพื้นที่ให้ปรับเพิ่มได้เยอะด้วย ซึ่งจะมีผลต่อราคา นักลงทุนก็อาจจะต้องระวังปัจจัยนี้มากขึ้นด้วย
4. ตราสารหนี้ กองทุนตราสารหนี้ ยังมีความเชื่อมั่นและน่าลงทุนหรือไม่
หลักการยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงครับ คือถ้าดูที่ความผันผวนของราคา ตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ก็ยังผันผวนน้อยกว่าหุ้นและกองทุนหุ้น ยังสามารถตอบโจทย์
นักลงทุนที่ต้องการความนิ่ง ได้เป็นอย่างดี แต่ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID
อย่างล่าสุดสภาพัฒน์ก็เพิ่งประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ว่าติดลบ 1.8% ซึ่งลบเยอะสุดในรอบ 8 ปี

ก็อาจะสะท้อนได้ว่าผลประกอบการของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้บางรายอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งถ้าได้รับผลกระทบมากถึงระดับหนึ่ง ก็อาจถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือได้ แล้วก็จะกลับมากระทบต่อราคาของตราสารหนี้รายนั้นในที่สุด
คือนักลงทุนต้องติดตามใกล้ชิดขึ้น แต่ในภาพรวมก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงอยู่เช่นเดิม คือลงทุนได้ แต่คนลงทุนต้องทำการบ้านละเอียดขึ้น และต้องไม่ลืมหลักการกระจายสินทรัพย์ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง
แต่ที่สำคัญ ต้องลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองด้วย หมายถึงว่า ถ้าเรามีเป้าหมายจะให้เงินลงทุนเติบโตสูงมาก หรืออาจจะมีเป้าหมายเป็นจำนวนเงินระดับหนึ่งซึ่งเป็นยอดใหญ่ในอนาคต การนำเงินมากระจุกตัวอยู่ในตราสารหนี้มากเกินไป และเป็นเวลานานเกินไป ก็ไม่น่าจะตอบโจทย์ ส่วนนักลงทุนที่มีขนาดเงินลงทุนสูงอยู่แล้ว ต้องการความสม่ำเสมอเป็นหลัก ความเติบโตเป็นรอง การเน้นตราสารหนี้ก็ยังตอบโจทย์ได้ดี
5. ในฐานะที่อยู่ในแวดวงของตราสารหนี้มานาน เราจะเลือกตราสารหนี้ หรือกองตราสารหนี้ที่ดี และปลอดภัยได้อย่างไร
จะตอบข้อนี้ต้องอธิบายประเภทความเสี่ยงหลัก ๆ ของการลงทุนในตราสารหนี้ก่อนครับ
ข้อแรกคือ คือ ความเสี่ยงด้านตลาด หรือด้านราคา ก็คือโอกาสที่ราคาตราสารจะเพิ่มขึ้นลดลง
ข้อสองคือ คือ ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ อย่างที่อธิบายไปแล้วเมื่อสักครู่ ว่าหากบริษัทผู้ออกตราสารถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง ก็สะท้อนว่าโอกาสที่เขาจะผิดนัดชำระหนี้ก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งความจริงปัจจัยนี้จะส่งผลไปถึงความเสี่ยงด้านราคาที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
ข้อสามคือ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ก็คือโอกาสที่ผู้ลงทุนจะขายตราสารหนี้ได้ช้า หรือถ้าจะรีบขาย ก็จะขายได้ในราคาไม่ดี เพราะมีปริมาณซื้อขายในตลาดน้อย
ทีนี้ถ้าจะแนะนำว่า เราควรเลือกตราสารหนี้อย่างไรดี ขั้นแรก เราต้องเข้าใจภาวะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก่อน ว่าอยู่ในระดับสูงหรือต่ำ และขั้นต่อมา คือทำความใจว่า ปัจจุบันอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลง สองเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการดูว่าเราควรลงทุนในตราสารหนี้แบบใด หรือบางครั้งอาจจะใช้ตัดสินใจไปได้เลย ว่าช่วงนี้ควรลงทุนในตราสารหนี้หรือไม่
ซึ่งก็จะเห็นว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และปัจจุบันเรายังคงอยู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาลง
แต่ในแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง ต้องเข้าใจต่อ ว่ามันลงมานานและลงมาลึก แม้จะลงต่อได้อีก หรืออาจจะถึงขนาดลงไปติดลบแบบในต่างประเทศ แต่ก็มีพื้นที่ให้ลงต่อได้ไม่มากเท่าที่ลงมาแล้ว
ดังนั้น ในช่วงที่ดอกเบี้ยยังเป็นขาลง เราอาจจะพอถือตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวหน่อยได้ เช่น 2-3 ปี หรืออาจจะถึง 5 ปี เพื่อให้ได้รับผลจากราคาที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก และยังได้ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ที่สูงหน่อย
แต่หากต่อไป อัตราดอกเบี้ยเริ่มไม่ลดลงแล้ว เราก็อาจจะลดความเสี่ยงด้านราคาลงมา ด้วยการขยับมาถือตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือน้อยลงได้ เช่น ไม่เกิน 1 ปี
และเราต้องไม่ลืมว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปี ดอกเบี้ยหน้าตั๋วโดยทั่วไปก็จะไม่สูงมาก ตามที่อธิบายแล้วในสไลด์หน้าที่ 3 ว่า ถ้าดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้น ตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่อัตราต่ำ ก็จะได้รับผลกระทบ หรือขาดทุน ได้แรงขึ้นด้วย
ทีนี้ถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่ากองทุนตราสารหนี้ที่เราถืออยู่ ไส้ในนั้นมีอายุคงเหลือเฉลี่ยเท่าไร ก็ให้เปิดดูใน Fund Fact Sheet รายเดือน ซึ่งเขาจะระบุไว้ชัดเจน และต้องเปิดดูในรายงานลงทุนรายเดือน ว่าในกองทุนนั้นถือตราสารหนี้อะไรอยู่บ้าง แล้วค่อยไปไล่ดูตัวหลัก ๆ ว่าเครดิตเรทติ้งล่าสุดมีเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ส่วนใครที่ถือตราสารหนี้รายตัว ก็ต้องหมั่นตรวจสอบงบการเงินของบริษัท และอ่านรายงานล่าสุดของ Rating Agency ซึ่งอย่างของ TRIS Rating ในไทย ก็เข้าดูได้ฟรี แต่ต้องลงทะเบียนก่อน เพื่อให้รู้ว่าเขามีการปรับเปลี่ยนมุมมองของตราสารหนี้ที่เราถืออยู่หรือไม่

ส่วนนี้ก็เป็นการย้ำว่า นักลงทุนยุคนี้ ต้องทำการบ้านละเอียดขึ้น หมดสมัยซื้อแล้วถือลืมได้ ซึ่งถ้าทำได้สม่ำเสมอ เราก็จะเสี่ยงน้อยลง ลดโอกาสเจ็บตัวเจ็บใจในภายหลังได้มาก
6. มองอย่างไรกับครึ่งปีสุดท้ายของการลงทุน
ปีนี้ผ่านไปเร็วมาก เหมือนเวลาหายไปหนึ่งไตรมาสเต็ม ไม่ทันไรเราต้องมาคุยกันเรื่องครึ่งปีหลังแล้ว
จนถึงตอนนี้ มีสองประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป
ข้อแรก สถานการณ์ COVID ในภาพรวมของโลก จะสงบลงอย่างมีนัยสำคัญได้เมื่อไร จะลากยาวถึงไหนกว่าชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งข้อนี้ขึ้นอยู่กับว่า ชาวโลกจะค้นพบวัคซีนหรือยารักษา COVID ได้เร็วแค่ไหน แต่เท่าที่อ่านข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องว่ากันในระดับอีกหลายไตรมาส อาจจะต้องรอถึงปีหน้า เพราะการนำยาออกมาใช้ในวงกว้าง จะต้องใช้เวลาทดสอบให้แน่ใจ

ข้อสอง สถานการณ์ COVID เท่าที่เกิดขึ้นแล้ว ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัท มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งต่อไปเราก็คงเห็นตัวเลขจริงกันมากขึ้น อย่างที่เราเริ่มเห็นตัวเลข GDP ไทย ไตรมาส 1 กันไปแล้ว หากเห็นตัวเลขไตรมาส 2 ที่จะประกาศกลางเดือนสิงหาคม เราก็จะได้ความชัดเจนมากขึ้น ว่าเราน่าจะต้องใช้เวลาแค่ไหนในการฟื้นตัวกลับไประดับเดิม
รวมถึงงบการเงินไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนก็เปิดเผยออกมาแล้ว แม้จะมีบางบริษัทที่ขอเลื่อนการส่งงบ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่า ผลประกอบการอ่อนแอลงพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น สายการบิน และ โรงแรม ซึ่งก็ต้องติดตามกันใกล้ชิดต่อไป
ดังนั้น ครึ่งปีหลัง คงเป็นเรื่องของการติดตามดูภาวะเศรษฐกิจจริง ผลประกอบการจริง ว่าจะแย่มากหรือน้อย กว่าที่คาดการณ์ไว้แค่ไหน ถ้าแย่น้อยกว่าที่คิด ซึ่งอาจจะเกิดจากการคาดการณ์เผื่อด้านลบไว้เยอะ ก็มีโอกาสที่สินทรัพย์การลงทุนต่าง ๆ จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ใครที่ซื้อไว้ถูกจังหวะ ก็มีโอกาสได้กำไรดี
7. ฝากข้อคิดและกำลังใจให้แก่นักลงทุน
อย่างที่ได้พยายามนำเสนอไปแต่ต้น สถานการณ์ COVID ช่วยบอกเราอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” มันมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งความเสี่ยงนี้จริง ๆ ก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หายไปไหน แค่ในเวลาปกติ เวลาที่การลงทุนสดใส เราอาจจะลืมไป
ก็อาจจะเป็นโอกาสเตือนตัวเอง ให้ไม่ประมาท ซึ่งการไม่ประมาท ไม่เผลอคิดว่าสิ่งต่าง ๆ จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เผลอละเลยการรู้เท่าทันสถานการณ์และข้อมูลสำคัญต่าง ๆ
เชื่อว่าการไม่เผลอนี้แหละ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าไปลงทุนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือไม่ก็ช่วยให้เราหลบภัยได้เป็นกลุ่มแรก ๆ
แต่ที่สำคัญ เราต้องมีความรู้ การเงินการลงทุน ที่ถูกหลักการ ไว้เป็นพื้นฐานด้วย เพื่อให้เรานำข้อมูลมาประมวลผลได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
ซึ่งสมัยนี้ความรู้ที่ถูกหลักก็หาได้ทั่วไป ถ้าไม่ฟรีเลยก็ถูกมาก ทั้งจากสื่อของตลาดหลักทรัพย์ ของสมาคมตลาดตราสารหนี้หรือจะติดตาม TIF และ คลินิกกองทุน ก็ดีเช่นกัน
นอกจากนั้น COVID ยังช่วยย้ำเตือนด้วยว่า มนุษย์เรา มีความทั้งความแข็งแกร่งและบอบบาง เราแข็งแกร่งในการดิ้นรนฝ่าฟันปัญหา
แต่ในทางการเงินเราก็บอบบาง ขนาดที่ไวรัสซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทำให้ความมั่งคั่งผู้คนทั่วโลก ลดลงมหาศาล จากตลาดการเงินที่ดิ่งลง ทำให้หลายธุรกิจขาดทุน ทำให้หลายคนเสี่ยงตกงาน ถูกลดเงินเดือน
ซึ่งส่วนนี้ก็ย้อนกลับมาบอกเราว่า ในเชิงการใช้ชีวิต ในการทำงาน ในการมีแหล่งรายได้หลายทาง ในการมีเงินสำรองฉุกเฉิน เราก็ควรเตรียมพร้อมในเรื่องพวกนี้ไว้อย่างไม่เผลอครับ
Categories: Investment Articles, Knowledge Resources