ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจซึ่งมีความมั่นคง มีภูมิต้านทานจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนระยะยาว หนึ่งในธุรกิจที่ว่านั้นก็คือ ธุรกิจอาหาร แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หรือเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหน มนุษย์เราก็ยังคงต้องบริโภคอาหารเพื่อดำรงชีวิต ในตลาดหุ้นไทยเอง ก็กำลังจะมีหุ้นน้องใหม่ที่น่าสนใจในหมวดธุรกิจนี้อย่าง “บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “NRF” เตรียมจดทะเบียนเข้าตลาด SET และเพื่อเตรียมความพร้อมแก่นักลงทุนที่สนใจ วันนี้ TIF จะขอพาไปทำความรู้จักกับ NRF กันให้มากยิ่งขึ้น
NRF คือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร รวมถึงอาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช น้ำสลัด ผลไม้อบแห้ง และเครื่องดื่มชนิดผงและน้ำ โดยผลิตภัณฑ์ของ NRF แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต เช่น อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารมังสวิรัติและเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ
- ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ เช่น เครื่องปรุงต้มยำ เครื่องปรุงแกง ตราพ่อขวัญ
- ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) เช่น เส้นชิราตากิ หรือ เส้นบุก
- ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape)
รายได้หลักของ NRF จะมาจากรายได้จากการขาย โดยมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิตสูงที่สุด โดย 3 เดือนแรก ปี 2563 คิดเป็นประมาณ 62.2% รองลงมาจะเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ประมาณเกือบ 26.0% และส่วนที่เหลือจะมาจากผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช


สำหรับสัดส่วนรายได้แบ่งตามภูมิภาค NRF จะมีรายได้จากการขายในต่างประเทศเป็นหลักโดย 3 เดือนแรก ปี 2563 คิดเป็นประมาณ 83.3% โดยโซนยุโรปคิดเป็น 35.1% โซนอเมริกาเหนือ 31.5% และ ส่วนอีก 13.7% จะเป็นรายได้จากการขายในประเทศ


เจาะลึกแต่ละผลิตภัณฑ์ของ NRF
1. ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต
- NRF รับจ้างผลิตสินค้าและเครื่องดื่มให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยสามารถรับผลิตสินค้าได้ 4 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่ (1) กลุ่มเครื่องปรุงสำหรับการประกอบอาหาร (2) กลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (3) อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (4) อาหารมังสวิรัติและเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ
- NRF เตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตเส้นบุก (Konjac) ซึ่งด้วยทิศทางและแนวโน้มการรักษาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก NRF จึงมองเห็นโอกาสเติบโต และทำการขยายกำลังการผลิต โดยมีสัญญาการผลิตรายปีกับผู้จัดจำหน่ายเส้นบุกรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
2. ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ
- NRF ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยได้นำเสนอรสชาติดั้งเดิมตามแบบอาหารเอเชีย รวมทั้งยังพัฒนารสชาติและบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ตามความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งตราสินค้าปัจจุบันของบริษัทมีทั้งหมด 6 ตราสินค้า ได้แก่
(1) พ่อขวัญ (Por Kwan) ที่เป็นตราสินค้าแรกของ NRF โดยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์พ่อขวัญ เช่น เครื่องปรุงต้มยำ เครื่องปรุงรสไทย น้ำจิ้ม และเครื่องแกง
(2) Lee Brand เป็นตราสินค้าที่เน้นที่ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรสอาหารท้องถิ่นในแถบภูมิภาคเอเชีย น้ำซุปสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของอาหารเอเชีย เช่น ซอสผัดพริกไทยดำ ซอสเทอริยากิ ซอสยากิโตริ
(3) Thai Delight เป็นตราสินค้าที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสำเร็จรูปที่ไม่ต้องปรุงรส เช่น แกงเขียวหวานไก่ และผัดไท
(4) Shanggie ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรสอาหารและซุปกึ่งสำเร็จรูป เช่น ขิงดองสำหรับซูชิ เฝอ ซุปเกี๊ยว
(5) DeDe เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มสำเร็จรูปทั้งชนิดผงและน้ำ เช่น น้ำมะพร้าว ชาไทย ชานมไข่มุก
(6) Sabzu เป็นตราสินค้าที่ NRF ตั้งใจนำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ที่มีพริกเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ซอสศรีราชา น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มไก่ รวมทั้งพริกในรูปแบบขนมขบเคี้ยว - หากแบ่งสัดส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ สินค้าแบรนด์พ่อขวัญจะมีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดที่ประมาณ 60% และรองลงมาจะเป็นสินค้าแบรนด์ Lee Brand ประมาณ 25%


- นอกจากสินค้าจากทั้ง 6 แบรนด์แล้ว NRF กำลังอยู่ระหว่างออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ตราสินค้าใหม่ของบริษัทฯ ในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes
3. ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช
- NRF ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้าอาหารโปรตีนจากพืช โดย NRF จะมีสูตรอาหารลับเฉพาะ เช่น ข้าวปั้นหน้าปลาไหลที่ทำจากพืช เนื้อบาร์บีคิวจากเนื้อขนุนดิบ และเส้นชิราตากิปรุงในซอสรสต่าง ๆ
- NRF ยังได้ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยร่วมทุนกับเบรคส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในทวีปยุโรป อีกทั้งยังได้ไปร่วมลงทุนใน Meatless Farm ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอังกฤษที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมผลิตอาหารโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ NRF ยังได้ไปร่วมลงทุนในกองทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืช ผ่านบริษัท บิ๊กไอเดียเวนเจอร์ จำกัด (Big Idea Venture LLC) และกองทุนนิวโปรตีน (New Protein Fund I) เพื่อเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก
4. ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape)
- ในเดือนธันวาคม 2562 NRF ได้เข้าทำสัญญาเพื่อเข้าซื้อเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์ V-shape และใช้เทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์ V-shape ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสะดวกสบายเหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย โดยการเข้าซื้อในครั้งนี้ ก็จะช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับลูกค้าหลักของ NRF จะเน้นกลุ่ม B2B รวมถึงจะเน้นการส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมากกว่าการขายในประเทศ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มร้านขายของทั่วไป เช่น พวกร้านขายของชำ ร้านขายของเบ็ดเตล็ด และร้านโชห่วยต่าง ๆ
- กลุ่มโมเดิร์นเทรดหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น Walmart
- กลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น 7-Eleven
- กลุ่มลูกค้าฟูดส์เซอร์วิส เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร
- กลุ่มลูกค้าออนไลน์
ในส่วนลูกค้าในประเทศไทยเกือบทั้งหมดจะเป็นบริษัทผู้ส่งออกสินค้า (Trader)
ผลการดำเนินงาน NRF
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2562 NRF นั้นสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2562 กำไรสุทธิจะลดลงจากปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการตรวจสอบสินค้านำเข้าบางประเภททำให้รายได้จากการขายในโซนอเมริกาเหนือลดลง รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทซึ่งยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562 ทำให้ NRF ซึ่งเน้นส่งออกสินค้าและมีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นหลักได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนี้ด้วย แต่กระนั้นในปี 2562 NRF ก็มียอดขายในโซนยุโรปเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


สำหรับช่วง 3 เดือนแรก รายได้ในปี 2563 ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องประกอบอาหารและเครื่องปรุงรส ทั้งแบบรับจ้างผลิตและภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ แม้ว่ารายได้จากการขายในประเทศจะลดลง จากสถานการณ์ COVID-19


ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2562 NRF มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2,595.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งเท่ากับ 2,459.5 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 5% โดยจะเพิ่มขึ้นหลัก ๆ จากการสร้างโรงผลิตเส้นบะหมี่ รวมถึงการลงทุนใน Meatless Farm และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศ สำหรับหนี้สิน NRF มีหนี้สินในปี 2562 ทั้งสิ้น 1,423 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ซึ่งเท่ากับ 1,461.3 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 2% โดยหนี้สินหลักของ NRF จะเป็นเงินกู้ระยะยาวกับสถาบันการเงิน ในขณะที่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 NRF มีสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งสิ้น 2,588.7 และ 1,399.9 ล้านบาทตามลำดับ

ด้านอัตราส่วนทางการเงิน NRF มีอัตราส่วนสภาพคล่องในปี 2560, 2561, 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 เท่ากับ 0.9, 0.3, 0.9, 0.8 เท่าตามลำดับ โดยในปี 2561 ที่บริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่องลดลงอย่างชัดเจนเป็นผลมาจาก NRF มีเงินกู้ยืมระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดจำนวน 1,010.2 ล้านบาทในปีนั้น สำหรับอัตรากำไรสุทธิ NRF มีอัตรากำไรสุทธิในปี 2560, 2561, 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 เท่ากับร้อยละ 5.9, 8.4, 3.6, 7.4 ตามลำดับ โดยในปี 2562 ที่อัตรากำไรสุทธิลดลงนั้น เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อกิจการและการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2563 NRF มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 3.8% จากการที่ NRF มีการประหยัดขนาดการผลิตที่มากขึ้น (Economies of Scale) และมียอดขายที่มากขึ้น รวมทั้งเงินสกุลบาทยังอ่อนค่าลงเล็กน้อยอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้ NRF ได้เปรียบในการแข่งขันและน่าจับตามอง
- เป็นผู้ผลิตอาหารรายแรก ๆ ของไทย ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต ทั้งในด้านการผลิตและการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในด้านอาหาร ผ่านการเข้าไปลงทุนใน Brecks, Meatless Farm และ Big Idea Venture
- มีทีมวิจัยและพัฒนาภัณฑ์ที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถตอบโจทย์ในการผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการทั้งในด้านรสชาติและบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบัน NRF มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 SKUs และสูตรอาหารมากกว่า 500 สูตร
- คุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก จากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล
- ช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งผ่านพันธมิตร 25 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น
สำหรับการระดมทุนโดยการเข้าสู่ตลาด SET ของ NRF ในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการเพิ่มเติมในอนาคต ได้แก่
(1) Big Idea Venture และ New Protein Fund I เพื่อเปิดโอกาสให้ NRF สามารถเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมระดับโลก
(2) แพลนท์แอนด์บีนเบสต์ เพื่อรองรับขยายกำลังการผลิตอาหารโปรตีนจากพืช
(3) ซิตี้ฟูด เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและรองรับการเติบโตของ NRF ในอนาคต
(4) นำเงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทอีกด้วย
โดยการเสนอขายหุ้นของ NRF จะเสนอขายไม่เกิน 340 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็น (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายโดย NRF จำนวน 290 ล้านหุ้น (2) หุ้นสามัญเดิมเสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ DPA Fund S Limited จำนวน 50 ล้านหุ้น
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการเสนอขายครั้งนี้ได้จากหนังสือชี้ชวน (Filing) ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่ https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=288065
Categories: Investment Articles, Special Content