(Special Content)
เมื่อพูดถึง “เงินติดล้อ” ภาพจำที่คุ้นเคยของหลายคนคงจะหนีไม่พ้นโฆษณาสินเชื่ออนุมัติไว ใช้เพียงทะเบียนรถ ก็รับเงินสดทันที ด้วยการสร้างการรับรู้ที่เข้าใจได้ง่าย นำเสนอบริการด้านสินเชื่อที่สะดวก และไม่ซับซ้อน ประกอบกับการมีช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย (Omni-channel) ผ่านเครือข่ายมากกว่า 1,000 สาขา ครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศ เหล่านี้ล้วนทำให้เงินติดล้อสามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว และขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 (คำนวณจากยอดสินเชื่อคงค้าง ในปี 2562)
นอกเหนือจากธุรกิจสินเชื่อ ปัจจุบัน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ “เงินติดล้อ” ยังมีการขยายผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความหลากหลายอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมไปถึงการเป็นนายหน้าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดดเด่นไม่แพ้ธุรกิจด้านสินเชื่อ และยังเป็นนายหน้าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอีกด้วย ทำให้ล่าสุดเงินติดล้อได้เตรียมที่จะ IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต ในโอกาสนี้ TIF จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับเงินติดล้อให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับทุกท่านที่สนใจ
== ภาพรวมโครงสร้างธุรกิจของเงินติดล้อ ==
ปัจจุบันเงินติดล้อมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมบริการทางการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อย โดยสามารถแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจสินเชื่อ
ประกอบไปด้วย สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเพื่อสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่ม Underbanked หรือ กลุ่มคนที่ไม่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดโดยธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทอื่นที่มีเงื่อนไขในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินหลักของธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทดังกล่าว
1.1 สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
เงินติดล้อเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในปี 2562 โดยคิดเป็นประมาณ 16% เมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้าง โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจากโอลิเวอร์ ไวแมน) และมีจำนวนลูกค้าสินเชื่อฯ กว่า 730,000 บัญชี ส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่บุคคลธรรมดา เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก
1.2 สินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะที่เป็นการขายและเช่ากลับคืน (Sale and Lease Back)
สำหรับธุรกิจเช่าซื้อในลักษณะที่เป็นการขายและเช่ากลับคืน (Sale and Lease Back) นี้ ลูกค้าจะขายรถมือสองให้บริษัทฯ จากนั้นบริษัทฯ จะให้ลูกค้าเช่ารถกลับไป โดยลูกค้าจะได้กรรมสิทธิ์เมื่อชำระหนี้ครบ ปัจจุบันให้สินเชื่อฯ ครอบคลุม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุกมือสอง
1.3 บัตรกดเงินสดหมุนเวียน
เงินติดล้อ เปิดตัวบัตรกดเงินสดหมุนเวียนในปี 2562 โดยให้บริการแก่ลูกค้าสินเชื่อที่มีทะเบียนรถจักรยานยนต์เป็นประกันที่มีประวัติกับบริษัทฯ และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดเท่านั้น และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เงินติดล้อได้เริ่ม Campaign โฆษณา เพื่อเป็นการโปรโมตบัตรกดเงินสดหมุนเวียน และ เงินติดล้อคาดว่าจะให้บริการบัตรกดเงินสดแก่กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ ในอนาคต
2. ธุรกิจนายหน้าประกันภัย
ด้านธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต เงินติดล้อดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงความคุ้มครองจากผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยการเชื่อมโยงช่องทางการจัดจำหน่ายหลายช่องทาง (Omni-Channel) ทำให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและซื้อกรมธรรม์ประกันวินาศภัย และประกันชีวิต จากบริษัทพันธมิตรกว่า 18 บริษัทได้ในที่เดียว ส่งผลทำให้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
- ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภททั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ
- ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
- ประกันสุขภาพ เช่น ประกันภัยโรคมะเร็ง และประกันโควิด
- ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ
== สัดส่วนรายได้ของ เงินติดล้อ แบ่งตามที่มาของรายได้ ==
เมื่อเจาะไปยังสัดส่วนรายได้ในปี 2563 จะพบว่ารายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมเป็นรายได้หลักของเงินติดล้อ โดยมีสัดส่วน 71.3% ของรายได้รวมทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนรายได้กว่า 7,530.5 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ (ซึ่งรวมถึงรายได้ค่านายหน้าและรายได้ค่าตอบแทนอื่นจากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต) มีสัดส่วนรายได้ 17.0% ตามมาด้วยรายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 11.4% และรายได้อื่นคิดเป็นสัดส่วน 0.3%
== รายได้จากธุรกิจด้านสินเชื่อยังโดดเด่น ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตต่อเนื่อง ==
ภาพรวมรายได้ของเงินติดล้อ เมื่อแบ่งตามที่มาของรายได้จะพบว่า สำหรับปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืม มีสัดส่วนของรายได้สูงสุด คิดเป็นรายได้จำนวนกว่า 7,530.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% จาก 5,972.2 ล้านบาทสำหรับปี 2562 ขณะที่รายได้ค่านายหน้าและรายได้ค่าตอบแทนอื่นจากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีรายได้ ณ สิ้นปี 2563 จำนวนกว่า 1,146.6 ล้านบาท เติบโต 75.3% จาก 653.9 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อมีกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับปี 2563 มีรายได้ 1,204.8 ล้านบาท ลดลง 27.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้จำนวน 1,663.0 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการที่เงินติดล้อเริ่มมุ่งเน้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่กลุ่มลูกค้ารถบรรทุก และกลุ่มลูกค้ารถยนต์ 4 ล้อที่มีวงเงินสูงมากขึ้น แทนการให้สินเชื่อเช่าซื้อที่มีลักษณะเป็นการขายและเช่ากลับคืน เนื่องจากเงินติดล้อมีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวดีขึ้น
== จุดแข็งทางธุรกิจของเงินติดล้อ ==
ช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย (Omni-channel)
เพื่อลดช่องว่าง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ เงินติดล้อจึงนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความรวดเร็วและไม่ยุ่งยากให้แก่กลุ่มลูกค้า ผ่านช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย อาทิ สาขาที่มีมากกว่า 1,000 แห่ง ใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ เสริมด้วยเครือข่ายการส่งต่อลูกค้าที่กว้างขวาง เช่น การขายผ่านทางโทรศัพท์ ตัวแทน ตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกมือสอง การส่งต่อลูกค้ามาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา Call Center 24 ชั่วโมง และช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ของบริษัทฯ Facebook Tid Lor Connect บนแอปพลิเคชันไลน์ และแอปพลิเคชัน เงินติดล้อ
นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์มาใช้
เงินติดล้อได้พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานความเชี่ยวชาญทางด้านการบริการทางการเงินเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน เช่น การใช้ข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System) พร้อมกับชุดคำสั่งในระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Machine Learning Algorithm) ในการประเมินตำแหน่งที่ตั้งสาขาที่เหมาะสม โปรแกรมถามตอบอัตโนมัติ (Chatbot) กระบวนการทำงานอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ และการออกแบบระบบอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบการช่วยตัดสินใจ (Decision Making Engine) จากข้อมูลคะแนนเครดิตของลูกค้า
== แนวคิดการดำเนินธุรกิจของเงินติดล้อ ที่สร้างโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน==
มุ่งสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส
เงินติดล้อมุ่งสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ผ่านเงื่อนไขของธนาคารพาณิชย์ หรือหรือนิติบุคคลอื่นที่มีเงื่อนไขและ/หรือแนวทางในการประกอบธุรกิจในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์หรือนิติบุคคลดังกล่าว (Underbanked) เป็นการลดช่องว่างเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัทที่มีรายได้และเงินหมุนเวียนที่ไม่แน่นอนและมีข้อมูลประวัติทางการเงินที่จำกัด
สร้างโอกาสทางความรู้ด้านการเงินให้กับผู้คนในสังคม
นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว เงินติดล้อ ให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงการเพื่อสังคมในรูปแบบ Creating Shared Value (CSV) ผ่านโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ก่อนจะขยายโครงการไปสู่ชุมชน ภายใต้ “โครงการนำความรู้สู่ชุมชนเพื่อชีวิตหมุนต่อได้” (Financial Education) โดยมุ่งให้ความรู้เบื้องต้นทางการเงิน การบริหารรายรับรายจ่าย การออม การคำนวณอัตราดอกเบี้ย การจัดการด้านการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ดีขึ้น และมีชีวิตหมุนต่อได้อย่างยั่งยืน
== ความน่าสนใจในการเข้าลงทุนเงินติดล้อ ==
= ด้านฐานะการเงิน =
ณ สิ้นปี 2563 เงินติดล้อ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 53,335.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 22,076.4 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนรวม 31,259.1 ล้านบาท ด้านหนี้สิน ณ สิ้นปี 2563 เงินติดล้อ มีหนี้สินทั้งหมด 41,587.0 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 12,597.6 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 28,989.4 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 11,748.5 ล้านบาท
= ด้านอัตราส่วนทางการเงิน =
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
เงินติดล้อ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2563 เท่ากับ 3.4 เท่า โดยแนวโน้มการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นมีสาเหตุหลักจากการที่บริษัทฯ มีส่วนทุนที่สูงขึ้นจากกำไรจากการดำเนินงาน
อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL) ณ สิ้นปี 2561 สิ้นปี 2562 และสิ้นปี 2563 เท่ากับ 1.1 เท่า 1.3 เท่า และ 1.7 เท่า ตามลำดับ
ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สำหรับปี 2561 สำหรับปี 2562 และสำหรับปี 2563 เท่ากับ 17.3 เท่า 15.1 เท่า และ 15.2 เท่า ตามลำดับ โดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากปี 2561 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตรารายได้ดอกเบี้ยรับ และอัตราส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทฯ
= ด้านผลการดำเนินงาน =
รายได้และอัตรากำไรสุทธิ
เงินติดล้อ มีรายได้รวมสำหรับปี 2563 จำนวน 10,558.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายได้จำนวน 9,457.9 ล้านบาท โดยรายได้ที่เติบโตมีผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืม ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิสำหรับปี 2563 เท่ากับ 22.9%
กำไรสุทธิ
ด้านกำไรสุทธิสำหรับปี 2563 เงินติดล้อมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2,416.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 2,201.7 ล้านบาท กำไรสุทธิในภาพรวมเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 หากคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วง 2 ปี ย้อนหลังจะเท่ากับ 36.0% ต่อปี
== วัตถุประสงค์ในการระดมทุน และรายละเอียดการเสนอขายหุ้น IPO ==
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เงินติดล้อมีแผนนำเงินทุนไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานรวมทั้งใช้ปรับโครงสร้างเงินทุนในอนาคต โดยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 39.1 ของ จำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 136,114,200 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด) ทั้งนี้ ผู้จองซื้อรายย่อยสามารถจองซื้อหุ้นได้ในวันที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น.– วันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 16.00 น. ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น (ตามเวลา วิธีการ และเงื่อนไขการจองซื้อที่ตัวแทนจำหน่ายหุ้นแต่ละรายกำหนด)
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการเสนอขายครั้งนี้ได้ที่
- เว็บไซต์บริษัท www.tidlorinvestor.com
- หนังสือชี้ชวน (Filing) http://bit.ly/TIDLOR_SEC_FILING
—————————————
Disclaimer:
ข้อมูลนี้จะถูกเผยแพร่ให้แก่นักลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ข้อมูลนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ในหรือเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม (รวมถึงเขตแดนและอาณาเขต มลรัฐใด ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเขตการปกครองพิเศษกรุงวอชิงตัน) และข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นหรือเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายหรือคำชี้ชวนเพื่อการซื้อหรือจองซื้อหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลักทรัพย์ที่อ้างถึงหรือกล่าวถึงในข้อมูลนี้ไม่ได้จดทะเบียนและจะไม่ได้รับการจดทะเบียนภายใต้ United States Securities Act of 1933 (the “Securities Act”)
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ดังกล่าวไม่อาจถูกเสนอขายหรือขายในประเทศสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะเป็นกรณีที่เป็นไปตามข้อยกเว้นจากข้อกำหนดการจดทะเบียนภายใต้ the Securities Act และจะไม่มีการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา
Categories: Investment Articles, Special Content