ในปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม แนวทางหลักที่หลายประเทศเริ่มผลักดันคือการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน (Energy Transition) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งกลายมาเป็นเมกะเทรนด์ที่นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจ
หนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักก็คือ สปป.ลาว ด้วยสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ ทำให้ สปป.ลาว สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้มากถึง 80% ของกำลังการผลิตโดยรวม โดยกว่า 60% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ปัจจุบัน สปป.ลาว มีนโยบายเปิดกว้างในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ สปป.ลาว ก้าวเป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน จากการประเมิน สปป.ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 MW หรือคิดเป็นกำลังการผลิตที่ยังสามารถผลิตเพิ่มได้มากกว่า 2 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน
โดยเร็ว ๆ นี้ EDL-Gen หรือ บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของ สปป.ลาว ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกให้ประเทศไทยกว่า 42% ได้เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ มูลค่ารวมไม่เกิน 3,700 ล้าน เพื่อใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2564 โดยมีบริษัท ทวินไพน์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในการระดมทุนของประเทศในกลุ่ม CLMVT เป็นที่ปรึกษาในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ในปัจจุบัน
ทำความรู้จักกับ EDL-Gen
1. ภาพรวมธุรกิจ
EDL-Gen หรือ บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของ สปป.ลาว ปัจจุบันมีบริษัท Electricite du Laos (EDL) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 51% (EDL เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาล สปป.ลาว เป็นผู้ถือหุ้น 100%) ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนรองลงมาคือ PHONGSUBTHAVY Group และบริษัทในเครือของ RATCH Group ในสัดส่วน 24% และ 10.11% ตามลำดับ
ณ 30 มิถุนายน 2564 EDL-Gen มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,949 MW โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งของโครงการที่เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วทั้งหมด 1,683 MW จำนวน 27 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของและพัฒนาโครงการเอง (HPP) จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 699 MW และโครงการที่พัฒนาร่วมกับเอกชน (IPP) จำนวน 16 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น 984 MW โดยกว่า 44% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของ EDL-Gen เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกให้กับประเทศไทย
2. เป้าหมายและแนวทางการขยายธุรกิจ
ปัจจุบัน EDL-Gen มีแนวทางและเป้าหมายการขยายธุรกิจที่ชัดเจน โดยมีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2572 จะพัฒนาโครงการให้ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 41 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,435 MW แบ่งเป็นโครงการที่พัฒนาเอง (HPP) จำนวน 17 โครงการ กำลังการผลิต 974 MW และโครงการที่พัฒนาร่วมกับเอกชน (IPP) จำนวน 24 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,461 MW ซึ่งแนวทางการขยายธุรกิจดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ EDL-Gen เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนับสนุนให้ สปป.ลาว ก้าวเป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน
3. จุดแข็งและความได้เปรียบของ EDL-Gen
1. ทำเลที่ตั้ง
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ สปป.ลาว มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2573 สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมกว่า 21,000 MW จากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศที่คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 MW ในระยะยาว หรือคิดเป็นกำลังการผลิตที่ยังสามารถผลิตเพิ่มได้มากกว่า 2 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบันสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วทั้ง 27 โครงการของ EDL-Gen มีการกระจายตัวทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของทำเลที่ตั้งในกรณีที่เกิดภัยแล้ง
นอกจากนี้ จากสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ทำให้ปริมาณน้ำฝนใน สปป. ลาว เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำภายในประเทศ โดยจากการติดตามข้อมูลจุดวัดระดับน้ำตามเขื่อนของ EDL-Gen พบว่าปริมาณน้ำฝนในครึ่งปีแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ลุ่มน้ำต่างๆ ของ สปป. ลาว มีมวลน้ำที่ไหลผ่าน (in flow) เขื่อนต่างๆ ที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าของ EDL-Gen เพิ่มขึ้นถึง 76% ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียนได้ดีขึ้น
2. ความต้องการนำเข้าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน
จากรายงานของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยมากกว่าครึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศเป็นการผลิตเพื่อส่งออก จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สปป.ลาว ได้ลงนามกรอบความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคล่วงหน้ารวมกว่า 20,600 MW แบ่งเป็น ไทย 9,000 MW กัมพูชา 6,000 MW เวียดนาม 5,000 MW เมียนมา 300 MW และมาเลเซีย 300 MW โดย สปป.ลาว ตั้งเป้าที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มกว่า 11,000 MW ภายในปี 2573 เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว
สำหรับ EDL-Gen กว่า 44% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทฯ ในปี 2563 เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ และกว่า 42% เป็นการส่งออกให้ EGAT หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หากอ้างอิงข้อมูลจาก EGAT ประเทศไทยมีการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในสัดส่วนกว่า 12% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบทั้งหมดของประเทศ และยังมีแผนที่จะนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มอีกกว่า 3,000 MW
3. โครงสร้างผู้ถือหุ้นช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสัญญาการซื้อขายที่การันตีรายได้
EDL-Gen เป็นรัฐวิสาหกิจที่มี EDL (ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาล 100%) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจของรัฐมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน EDL-Gen มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยภาครัฐลดลงเหลือ 51% ส่งผลให้นอกเหนือจากการได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐแล้ว การเข้ามาของภาคเอกชนยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ EDL-Gen มีประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จากการเข้าถึงช่องทางในการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จากความสัมพันธ์ที่ดีของบริษัทเอกชนผู้ถือหุ้นกับการไฟฟ้าเวียดนาม
ในส่วนของสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งโครงการที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของและพัฒนาโครงการเอง (HPP) และโครงการที่พัฒนาร่วมกับเอกชน (IPP) ส่วนใหญ่เป็นสัญญาภายใต้เงื่อนไข take-or-pay ซึ่งกำหนดให้ผู้ซื้อไฟฟ้าต้องชำระเงินขั้นต่ำ ในกรณีที่ไม่สามารถซื้อไฟฟ้าได้ตามปริมาณที่ตกลงไว้ ซึ่งจะช่วยการันตีรายได้ให้แก่ EDL-Gen
4. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน
– ผลประกอบการบริษัทฯ ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564
ในครึ่งแรก ของปี 2564 EDL-Gen มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ทั้งหมด 3,373 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 59% เมื่อเทียบกับ EBITDA ในช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ 2,127 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก การที่บริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 66% เป็น 3,472 ล้านบาท โดยรายได้จากโครงการที่ EDL-Gen ลงทุนและพัฒนาโครงการเองนั้นเพิ่มขึ้น 28% เป็น 2,005.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมทุนกับ IPP เพิ่มขึ้นถึง 176% เป็น 1,466.5 ล้านบาท ซึ่งส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมทุนกับ IPP ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2564 นั้นมาจาก ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการเทินหินบูน (Theun Hin Boun) น้ำงึม 2 (Nam Ngum 2) และ ไซยะบุรี (Xayaburi) ที่เพิ่มขึ้น 55%, 337% และ 201% ตามลำดับเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563 โดยทั้ง 3 เขื่อนได้ส่งออกไฟฟ้ามายังประเทศไทย ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจรวม 1,146.2 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1,217.5 ล้านบาท หรือ 1,707% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ 71.3 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงจาก Bloomberg เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ 0.0035 กีบ ต่อ บาท)
– ค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ที่มีแนวโน้มน้อยลง
เนื่องจากมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งอยู่ในแผนการขยายธุรกิจที่วางไว้สอดคล้องกับแผนการระดมทุนที่ผ่านมาที่ครอบคลุมโครงการในอนาคตไปถึง 10 ปี ทำให้ EDL-Gen จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีเพียงค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านการซ่อมบำรุงเท่านั้น
– ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 มีเพียงเล็กน้อย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อหลายกลุ่มธุรกิจ ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคการท่องเที่ยวและบันเทิงลดน้อยลง แต่ในทางกลับกันการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้ไฟฟ้ามากถึงเกือบ 80% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากสถิติความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศของช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นประมาณ 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ในภาพรวมแล้ว EDL-Gen ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รายละเอียดของหุ้นกู้ EDL-Gen
หุ้นกู้ EDL-Gen ที่เตรียมเสนอขายครั้งที่ 2/2564 เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นโดยจะเสนอขายจำนวน 2 ชุด แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.90% และหุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.50% ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ตลอดอายุของหุ้นกู้ มูลค่าการเสนอขายรวมทั้ง 2 ชุดไม่เกิน 3,700 ล้านบาท สำหรับวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2564 นี้
ทั้งนี้ หุ้นกู้ EDL-Gen ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต โดยทริสเรทติ้ง (Tris Rating) ที่ระดับ “BBB-“ แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว ตลอดจนผลการดำเนินงานซี่งเป็นที่ยอมรับ และการมีโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวเป็นอย่างดี กำหนดราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 100 หน่วย ซึ่งการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ จะเสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ กำหนดการจองซื้อระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2564 ผ่านสถาบันการเงินที่ร่วมเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)
นักลงทุนท่านใดที่สนใจรายละเอียดการออกหุ้นกู้ EDL-Gen ครั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง >> https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSDE01.aspx?TransID=357139
(Special Content)
Categories: Investment Articles, Knowledge Resources, Special Content