Investment Articles

สรุป Thailand Focus 2021 | ฉายความสำเร็จ ชูศักยภาพตลาดทุนไทย สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก

ทุกปีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะจัดงาน Thailand Focus เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับด้านตลาดทุนของประเทศไทยต่อนักลงทุนทั่วโลก โดยในปีนี้ Thailand Focus 2021 ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 15 ภายใต้ภายใต้แนวคิด “Thriving in the Next Normal” เพื่อนำเสนอศักยภาพ ความแข็งแกร่ง และความพร้อมของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยภายใต้วิถีธุรกิจยุคใหม่

โดยในงาน Thailand Focus 2021 มีเนื้อหาการบรรยายหลากหลายทั้งประเด็นภาพรวมเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 จากมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ และโอกาสการลงทุนในช่วงวิกฤติ จากมุมมองของผู้บริหารของบริษัทชั้นนำในประเทศ รวมถึงเรื่องราวความสำเร็จและทิศทางในอนาคตของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายหลังจากการระบาดของโควิด-19

ในโอกาสนี้ TIF จึงขอรวบรวมสรุปประเด็นจากงาน Thailand Focus 2021 ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่มองหาโอกาสการลงทุนในตลาดทุนไทย ตลอดจนท่านที่ต้องการเรียนรู้แนวคิดในการทำธุรกิจและการปรับตัวในช่วงวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น

1. ภาพรวมความสำเร็จและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนไทย

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่าในทุกสถานการณ์ที่วิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอกในช่วงที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดทุนไทยที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนได้จากความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ดังนี้

  • มูลค่า IPO ปี 2563 ของ SET มีมูลค่ารวมมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่า IPO รวมสูงติด 10 อันดับแรกของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน
  • SET มีมูลค่าการซื้อขายต่อวันกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน จากความหลากหลายของผู้ลงทุน และการจดทะเบียนเข้าตลาดของบริษัทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
  • บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจุดแข็งในนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีจำนวนบริษัทได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์มากที่สุดในอาเซียน อีกทั้ง UN ก็ได้จัดให้ไทยเป็นที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

เพื่อต่อยอดความสำเร็จในปัจจุบัน และเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งเน้น 3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความสามารถให้ตลาดทุนไทยดังนี้

  1. การดำเนินธุรกิจและการลงทุนแบบยั่งยืน ผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลการพัฒนาแบบยั่งยืน (ESG data platform) เพื่อนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบด้านความยั่งยืนสำหรับนักลงทุน
  2. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะมุ่งเน้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วยการเพิ่มบริการใหม่ ๆ  เช่น การออกเสียงการประชุมผู้ถือหุ้นออนไลน์ หรือ e-proxy voting และ การทำความรู้จักลูกค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC
  3. การเชื่อมโยงตลาดทุนในประเทศเข้ากับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านแพลตฟอร์ม Global Product เพื่อเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในตลาดนอกประเทศ เช่นกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) และตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt หรือ DR)

2. สร้างความพร้อมประเทศไทยสู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และบทบาทรวมถึงความคาดหวังของตลาดทุนในช่วงเวลาหลังวิกฤติโควิด-19 ในหัวข้อเสวนา “สร้างความพร้อมประเทศไทยสู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19” โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 การบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชนลดลง ส่งผลทำให้การฟื้นตัวและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง กระทรวงการคลังจึงปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ลงเหลือ 1.3% อันเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดกับภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ
  • ปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้คือ “การส่งออก” เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกเติบโตถึง 16% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ก็มีการขยายตัวขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าที่เติบโตกว่า 14.5%
  • เมื่อมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะเติบโต 0.7% และปีถัดไป 3.7% ในขณะที่สภาพัฒน์คาดกาณ์ว่า GDP ในปีนี้จะเติบโต 0.7-1.2% และปีถัดไป 1.5-2.5% ส่วนกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะเติบโต 1.3% และปีถัดไป 4.0-5.0%
  • ในส่วนของนโยบายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลากหลายโครงการตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2563 เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นย้ำว่าแม้จะเป็นจำนวนเงินการกู้ยืมที่สูง แต่สัดส่วนของหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ  โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 60%
  • เป้าหมายการเติบโตในระยะยาวของประเทศ จะมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง การลดภาวะเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน การสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และการแพทย์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย
  • สำหรับบทบาทและความคาดหวังของตลาดทุน คุณอาคมมองว่านอกเหนือจากบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ตลาดทุนยังช่วยในการจัดการกับสภาพเศรษฐกิจ และลดแรงกระแทกจากวิกฤติต่าง ๆ การส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพของตลาดทุนหลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งจำเป็นที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยหลังช่วงวิกฤติโควิด-19 กลับมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ และเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

3. นโยบายธนาคารกลางเพื่อรับมือยุคแห่งความไม่แน่นอน

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและบทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับวิกฤติโควิด – 19 ไว้ดังนี้

  • แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลานาน (Slow) เพราะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวช้าที่สุด อีกทั้งการฟื้นตัวจะไม่เท่ากัน (Uneven) เห็นได้ชัดจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวกลับมาอยู่เหนือระดับก่อนการแพร่ระบาดแล้ว ในขณะที่ภาคการบริการยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
  • แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ แต่ในภาพรวมเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังมีความมั่นคง สะท้อนได้จาก 1) เสถียรภาพด้านต่างประเทศ จากระดับหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ และเงินทุนสำรองที่สูง 2) เสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน จากการที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีงบการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ และ 3) เสถียรภาพด้านการคลัง จากการที่รัฐบาลยังสามารถกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
  • สำหรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ทางธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำที่สุด เพื่อเอื้อให้ให้ภาวะการเงินช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีสภาพคล่องที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมายและยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การออก พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้
  • ในระยะถัดไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธปท.จะมุ่งเน้นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Greener) และความเป็นดิจิทัลมากขึ้น (more Digital) ในด้านสิ่งแวดล้อม (green) ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ด้านดิจิทัล (Digital) ธปท. ได้วางรากฐานสำหรับระบบชำระเงิน เช่น การทำ QR-Code มาตรฐานในการชำระเงิน และระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางการเงิน เช่น การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

4. วิถีดำรงชีพยุคใหม่: ถอดบทเรียนโควิด-19 สู่ทิศทางแห่งอนาคต

นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยโดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • จากการแพร่ระบาดของสายพันธ์เดลต้าทำให้ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก แต่นพ. โสภณเชื่อว่าช่วงของการระบาดสูงสุดได้เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการระบาดลดลง จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ของการระบาดได้อีกไม่นาน
  • รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการล็อคดาวน์ แต่ปัจจัยสำคัญที่จะควบคุมการระบาดได้คือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยรัฐบาลมีแผนที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้มากกว่า 100 ล้านโดส และให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทันช่วงปลายปี

ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ให้มุมมองด้านเศรษฐกิจและนโยบายการคลังเพื่อก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ดังนี้

  • ดร. พิสิทธิ์สรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของไทยย้อนหลังในปีที่ผ่านมา GDP หดตัว 6.1% ซึ่งดีกว่าตัวเลขที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้คาดการณ์ว่าจะหดตัว 8-10 % ในขณะที่ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2564 ฟื้นตัวถึง 7.5% โดยได้เน้นย้ำว่าแม้ในขณะนี้ไทยจะยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง สถานะด้านการคลังยังอยู่ในระดับที่ดี จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับ 55% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของไทยก็เป็นหนี้ภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลยังสามารถใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ โดยดร. พิสิทธิ์มองว่าจากโครงการกู้ยืมเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่มากเพียงพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดนี้ได้

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้มุมมองเกี่ยวกับผลกระทบและการปรับตัวของธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ทีมวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงแนวโน้มของการฟื้นตัว โดยมีมุมมองว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และภาคบริการ  ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร และโทรคมนาคม ในขณะที่ด้านการฟื้นตัว มีมุมมองว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากก็ยิ่งฟื้นตัวช้า ยกตัวอย่างเช่นการท่องเที่ยว และการบินอาจจะต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปีถึงจะกลับมาเหมือนเดิม
  • นอกจากนี้ยังให้ความเห็นในการปรับตัวในภาคการท่องเที่ยวเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปหลังช่วงโควิด คือ 1) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของคนรุ่นต่าง ๆ 2) แผนการตลาดต้องเข้าถึงความต้องการที่หลากหลาย โดยเฉพาะชนชั้นกลาง  3) ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยว 4) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความสนใจมากขึ้น และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

5. การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อก้าวข้ามวิกฤต

คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวของธนาคารกรุงเทพท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  • สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนทั้งลูกค้าและภาคธนาคาร ทำให้ต้องมีการปิดสาขา หรือปรับรูปแบบการทำงานเป็น Work from home อย่างไรก็ตามโควิด-19 ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจต้องปรับมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนได้จากยอดการทำธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารที่สูงขึ้นอย่างมาก
  • คุณชาติศิริให้มุมมองว่า ภาคธนาคารได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วย ธนาคารกรุงเทพจึงมุ่งเน้นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า รวมทั้งมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้ลูกค้าเดินหน้าต่อไปได้
  • สำหรับโลกหลังโควิดนั้น ไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าการเดินทางทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นโดยเร็ว ประเทศไทยต้องปฏิรูปตัวเองและเน้นไปที่อุตสาหกรรม S-curve เช่น ธุรกิจสุขภาพเวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด โซลาร์เซลล์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ และ ท่าเรือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย ให้มุมมองของการปรับตัวในช่วงวิกฤติไว้ดังนี้

  • ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาด SCG เห็นว่าการเข้าใจต่อสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้องมีความจำเป็นเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง จึงได้ปรับให้มีประชุมจากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ SCG ยังได้ปรับแผนการทำงานของพนักงานทั้ง WFH และในโรงงาน เพื่อไม่ให้ supply chain สะดุด และลดผลกระทบน้อยที่สุดหากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด
  • สถานการณ์โควิดทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป นำสู่การปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เข้ากับการ Work from home โดยหันมาให้บริการรีโนเวทปรับปรุงตกแต่งบ้าน

คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ให้ความเห็นในมุมมองการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกดังนี้

  • เซ็นทรัลฯ ได้ปรับตัวสู่งแนวทาง New Central New Retail ตั้งแต่ช่วงปี 2560 ที่ไทยเผชิญกับกระแส Digital Disruption โดยมุ่งสู่แนวทางการทำตลาดแบบหลายช่องทาง (Omnichannel Economy) เพราะมีความเชื่อว่าลูกค้าต้องการเป็นคนที่ควบคุมและตัดสินใจด้วยตนเอง จึงไม่ได้มุ่งสู่ออนไลน์เพียงอย่างเดียวเหมือนกับบริษัทอื่นๆ

ยังไม่แน่ชัดว่าหลังจากนี้ ไทยจะเผชิญกับโลกหลังโควิด หรือต้องอยู่กับโควิดต่อไป อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดแล้วว่าโควิดส่งผลให้เกิดการ Reset เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่จะต้องปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับคุณค่า ประสบการณ์ ความยั่งยืน และต้องปรับ Business Model ที่เน้นความแตกต่าง ทำงานกันเป็นทีม และล้มเร็วลุกเร็ว

6. ธุรกิจนวัตกรรมของไทย

สำหรับหัวข้อเสวนา “ธุรกิจนวัตกรรมของไทย” จะมุ่งเน้น 2 ประเด็นหลักคือการนำเสนอมุมมองของผู้ประกอบธุรกิจในด้านความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งทำธุรกิจนวัตกรรม และบทบาทของตลาดทุนไทยในการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม

คุณพอล ศรีวรกุล กรุ๊ปซีอีโอแห่ง aCommerce ให้ความเห็นโดยสรุปว่า

  • ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านความพร้อมของตลาด a Commerce เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย เพราะสิ่งที่ทำให้ไทยที่น่าสนใจมากก็คือ ยอดการซื้อแต่ละครั้งหรือที่เรียกว่า basket size นั้นสูงอย่างน่าพอใจ อีกทั้ง อีคอมเมิร์ซ รายใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตลาดก็ค่อนข้างหลากหลาย
  • คุณพอลอธิบายว่าการตัดสินใจที่ก่อตั้งบริษัทในไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้เมื่อบริษัทตัดสินใจที่จะระดมทุนผ่านหุ้นนอกตลาดหรือ private equity ก็สามารถระดมทุนได้สูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ ให้มุมมองว่า

  • บริษัทพึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว เมื่อระดมทุนได้จากตลาดหลักทรัพย์  ก็นำเอามาซื้อเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากนั้นก็เริ่มตั้งศูนย์การผลิต รวมทั้งหาบริษัทที่ผลิตวัตถุดิบอื่น ๆ ที่จะนำเข้ามาป้อนบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็มีอยู่มากมายในประเทศไทย
  • การเข้าถึงแหล่งทุนโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตมากขึ้น  และเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การระดมทุนเช่นนี้ทำให้ต้นทุนของบริษัทลดลงอย่างมาก

คุณเดวิด จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Pomelo Fashion ให้มุมมองว่า

  • Pomelo Fashion เป็นบริษัทแฟชั่นออนไลน์ที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพตั้งขึ้นเมื่อปี 2556  บริษัทก่อตั้งที่เรียกว่า Fashion Super App  ที่เชื่อมโยงแบรนด์เสื้อผ้าราว 275 แบรนด์มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน รวมทั้งมีลูกค้ามากกว่า 2 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • แม้ว่าบริษัทของเขายังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่ก็กำลังมองดูลู่ทาง และคิดว่าหากจะจดทะเบียนก็ควรจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพราะมีความสภาพคล่องสูง  และมีนักลงทุนหลากหลายประเภทที่บริษัทสามารถจะเข้าถึงได้

คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ กรรมการบริษัท บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป ให้มุมมองว่า

  • รัฐบาลควรมั่งเน้นส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมให้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์มีการสนับสนุนในด้านการจับคู่เพื่อหาทุนระหว่างบริษัทและเหล่า Venture Capital (VC) นอกจากนี้รัฐบาลก็ร่วมลงทุนไปกับ VC ด้วย
  • นอกจากนี้ยังแนะนำให้รัฐบาลไทยทบทวนเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีมากมายในขณะนี้  การมีระเบียบมากเกินไปจะจำกัดความคล่องตัว และไม่เอื้อต่อการตั้งสตาร์ทอัพใหม่ ๆ

7. เพิ่มโอกาสด้วยการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดทุนไทย

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้มุมมองในฐานะผู้ที่ลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ไว้ดังนี้

  • ในฐานะที่ กบข.เป็นนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและผลตอบแทนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG จะสามารถนำมาได้ทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทน 

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล มีมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยยึดตามแนวทาง ESG ของ PTTGC โดยสรุปดังนี้

  • การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ องค์กรต้องสร้างค่านิยมให้พนักงานทุกคนเดินตามทางเดียวกัน มีความเชื่อเดียวกัน และปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
  • การเปิดเผยข้อมูลรายงานความยั่งยืน มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นข้อมูลที่โปร่งใส และพิสูจน์ให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย

ดร. ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารทหารไทยธนชาต เสนอแนวคิดการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ของ ttb bank โดยสรุปได้ดังนี้

  • ttb พบว่าแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาสถานภาพทางการเงินของลูกค้าให้แข็งแรง แม้ว่าการทำกำไรจะมีความสำคัญกับธุรกิจธนาคาร แต่ต้องไม่ได้มาจากความสูญเสียทางสังคม หรือ ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่แย่ลง นอกจาก ttb จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ง่ายให้กับลูกค้าแล้ว ยังเป็นความรับผิดชอบที่จะให้พวกเขามีความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง
  • ธนาคารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงหมายถึง การทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น การทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรู้จักการปรับตัวให้อยู่รอดได้

สามารถรับชมเนื้อหาย้อนหลังฉบับเต็มของงาน Thailand Focus 2021 ได้ทาง www.set.or.th/thailandfocus