Investment Articles

เจาะภาพรวมธุรกิจ และการเสนอขายหุ้นสามัญของ Makro หลังผนึกกำลัง Lotus’s

(Special Content)

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดดีลใหญ่ในวงการค้าปลีกเมื่อกลุ่ม CP ชนะการประมูลกิจการของ Tesco Lotus ในประเทศไทย และมาเลเซีย หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับโฉมจาก Tesco Lotus มาเป็น Lotus’s ซึ่งหลายท่านน่าจะเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว จนมาถึงช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ได้มีการขยับครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อกลุ่ม CP ตัดสินใจที่จะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยโอนกิจการ Lotus’s ให้มาอยู่ภายใต้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro ซึ่งรายละเอียดขั้นตอนการโอนกิจการสามารถสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้

  1. Makro รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPRH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกิจการ Lotus’s ในไทยและมาเลเซีย ด้วยวิธี Entire Business Transfer (EBT)
  2. Makro ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ CPRH ซึ่ง CPRH ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัท และเริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชี ส่งผลให้หุ้นของ Makro ดังกล่าวถูกส่งมอบให้กับผู้ถือหุ้นของ CPRH ซึ่งได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPH และ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด หรือ CPM ตามสัดส่วนการถือหุ้น
  3. Makro เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา Makro ได้ดำเนินการรับโอนกิจการทั้งหมดของ CPRH และจัดสรรหุ้นสามัญเพื่อตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะเป็นการเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) ในลำดับต่อไป ภายหลังจากได้ Lotus’s มาเสริมทัพ Makro จะมีภาพรวมธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้จะมีจุดเด่นและความน่าสนใจในแง่มุมใดบ้าง TIF จะพาไปเจาะลึกในบทความนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลัง Makro ได้ Lotus’s มาเสริมทัพ

1. ยกระดับสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งแบบ B2B และค้าปลีกแบบ B2C ระดับภูมิภาค

จากวิสัยทัศน์ของ Makro ที่ “มุ่งเป็นที่หนึ่งเรื่องการจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจร สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ” และหลังการรับโอนกิจการเสร็จสิ้นจะทำให้ Makro กลายเป็นผู้นำทั้งธุรกิจค้าส่งแบบ B2B (Business to Business หรือ การค้ากับผู้ประกอบการ) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือ การค้ากับผู้บริโภค) สินค้าอุปโภคบริโภคอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยยอดขายประมาณการปี 2563 รวมมากกว่า 400,000 ล้านบาท โดยจะให้บริการใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักแบบครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งแบบ B2B ธุรกิจค้าปลีกแบบ B2C และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า

ธุรกิจค้าส่ง (B2B): Makro เป็นผู้ค้าส่ง B2B ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียหากพิจารณาจากยอดขายรวมในปี 2563 บริษัทมีการดำเนินธุรกิจ ศูนย์จำหน่ายสินค้าที่เน้นจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภค ภายใต้ชื่อ “Makro” ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เมียนมา กัมพูชา และ อินเดีย (ภายใต้แบรนด์ “LOTS Wholesale Solutions”)  โดยปัจจุบัน Makro มีสาขารวมกว่า 145 สาขาในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ Makro ยังทำธุรกิจนำเข้า ส่งออก และจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นพร้อมบริการจัดส่ง หรือ “Food Service” ในไทย สิงค์โปร์ ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ธุรกิจค้าปลีก (B2C): Lotus’s เป็นผู้ค้าปลีกอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค B2C ในไทยและมาเลเซีย โดยปัจจุบันมีสาขารวมกันมากกว่า 2,000 สาขา โดยมีรูปแบบร้าน hypermarkets supermarkets และ mini-supermarkets ภายใต้แบรนด์ “Lotus’s”

ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า: Lotus’sทำธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีร้านค้าหลักเป็น โดย hypermarkets ของ Lotus’s ปัจจุบันมีพื้นที่ให้เช่ารวมมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร
สัดส่วนของรายได้ประมาณการณ์ในปี 2563 แยกตามประเภทธุรกิจจะอยู่ที่ 51% 46% และ 3% ตามลำดับ

2. มีความเป็นเลิศด้านการจัดหาสินค้า และมีระบบงานห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่แข็งแกร่ง

การจับมือกันของ Makro และ Lotus’s จะส่งผลดีโดยตรงต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่จะแข็งแกร่งมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของทั้ง 2 บริษัทร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดหาสินค้า ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับผู้ค้าปลีกชั้นนำระดับโลก

ในส่วนของความเป็นเลิศด้านการจัดหาสินค้า ทั้งสองบริษัทจะมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือในระยะยาวกับพันธมิตรในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกร และผู้ผลิตสินค้ารายย่อย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในการผลิตสินค้าประเภทอาหารสด ช่วยสนับสนุนในด้านการส่งออกและสร้างมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับขยายธุรกิจแก่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า SMEs เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเติบโตและพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเติมเต็มความต้องการด้านอาหารสดแก่ผู้บริโภค โดยจะมุ่งขยายความเป็นผู้นำในสินค้าอาหารสด

3. ช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (Synergy)

การรวมกันของ Makro และ Lotus’s จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน (Synergy) ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและระบบการจัดการ เนื่องจากลักษณะธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรบางส่วนร่วมกัน เช่น Supply chain และระบบ Logistic รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนหลังบ้าน (Back-office) ก็จะมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภาพรวมจะส่งผลต่อ Economies of scale ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว โดยคาดการณ์มูลค่าจาก Synergy ระหว่างสองบริษัท ในช่วงกลางปี 2565-2566 จะมีมูลค่ารวมกันกว่า 2.7 พันล้านบาท โดย Synergy ที่เกิดขึ้นในแต่ละด้านสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain): สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของ Supply chain ของทั้งสองบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับผู้ค้าปลีกชั้นนำระดับโลก
  • ด้านการดำเนินงาน: ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ารายเล็ก
  • ด้านหน่วยงานสนับสนุน (Back-office): เพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของหน่วยงานสนับสนุนที่มีความคล่องตัวมากขึ้น (Lean and agile back-office)
  • ด้านการกระจายสินค้า (Logistics): เพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในการจัดส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าถึงร้านค้าและลูกค้าปลายทาง
4. เพิ่มศักยภาพและโอกาสในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ

อย่างที่ทราบว่าปัจจุบันทั้ง Makro และ Lotus’s ประกอบธุรกิจโดยมีสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 Lotus’s มีจำนวนสาขาในไทย 2,164 สาขา และมาเลเซีย 62 สาขา ส่วน Makro มีสาขารวม 145 สาขา ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 แบ่งเป็นสาขาในไทย 138 สาขา อินเดีย 3 สาขา กัมพูชา 2 สาขา จีน 1 สาขา และเมียนมา 1 สาขา นอกจากนี้ ยังทำธุรกิจ Food Service ในอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงค์โปร์ ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

หลังจากนี้ Makro และ Lotus’s จะสามารถเพิ่มศักยภาพและโอกาสการเติบโตในต่างประเทศจากการใช้ประโยชน์ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. รูปแบบของร้านค้าที่หลากหลายครอบคลุมทั้งค้าส่ง (B2B) และค้าปลีก (B2C) 2. องค์ความรู้ (Know-how) เกี่ยวกับผู้บริโภคระดับภูมิภาค 3. ระบบงานห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) 4. การขยายธุรกิจจากภายนอกเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม (Opportunistic inorganic expansion) ซึ่งในระยะสั้นถึงระยะกลาง Makro จะยังมุ่งเน้นตลาดในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

กลยุทธ์เสริมศักยภาพการเติบโต

1. ผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทแทนที่ช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิม ซึ่งทาง Makro ก็ได้มีการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ “omni-channel” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับบริการดิจิทัล สังคมไร้เงินสด และความสะดวกสบายในการใช้บริการ โดยไม่ต้องไปที่ร้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็น New S-Curves ในการสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ตัวอย่างช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ Makroclick แอปพลิเคชัน Makro การร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee และ Lazada และการสั่งซื้อและจัดส่งแบบเร่งด่วน (on-demand) ผ่าน Grab และ Foodpanda

2. สร้างแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การให้บริการแก่ลูกค้า

นอกเหนือจากการผสมผสานช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ด้วยกลยุทธ์ในรูปแบบ “omni-channel” แล้ว Makro ยังมีกลยุทธ์ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาธุรกิจ (Digitalization) และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า วางแผนการขยายเครือข่ายร้านค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ

สำหรับการมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า จะมีการลงทุนในเทคโนโลยีและการให้บริการ เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ลูกค้า รวมถึงจะมอบประสบการณ์ไร้รอยต่อ เช่น จุดชำระเงินด้วยตนเอง (Self-checkout) นอกจากนี้จะใช้เทคโนโลยีการและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ซื้อสินค้าและระบบ Supply chain

ในส่วนของการขยายเครือข่ายร้านค้าในประเทศไทย จะเน้นการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย สำหรับ B2C จะเน้นขยายสาขารูปแบบ Mini-supermarket (Lotus’s Go Fresh) ประมาณ 250 สาขาต่อปี ส่วน B2B จะเน้นขยายร้านค้าขนาดเล็กลง (Smaller format store) ประมาณ 75 สาขาในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ และประมาณ 150-225 สาขาในระยะยาว


3. การเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งสนับสนุน SMEs ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส”

การรวมกันของ Makro และ Lotus’s นอกจากจะส่งผลดีต่อการเพิ่มศักยภาพและโอกาสขยายตลาดต่างประเทศแล้ว Makro และ Lotus’s ยังเป็นองค์กรที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งหยิบยื่นโอกาสนี้ให้แก่ SMEs และผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นของไทย โดยการสร้างความร่วมมือระยะยาวด้วยการสนับสนุน SMEs และผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่น ให้สามารถนำสินค้าที่มีคุณภาพกระจายสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐานสร้างการยอมรับในระดับสากล และส่งเสริมให้เกิดโอกาสการเติบโตและพัฒนาไปด้วยกันในทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ผลิต SMEs พนักงาน และผู้ถือหุ้น ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของ Makro คือ

  • Multi-formats ขยายตัวสู่อาเซียนด้วยรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย
  • Award ให้รางวัลความสำเร็จของทีมงาน และลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
  • Know the differences ศึกษาทำความเข้าใจในความแตกต่างเฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น
  • Responsible สร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับผิดชอบต่อสังคม
  • Offer the best นำเสนอแต่สิ่งที่ดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุด ให้กับลูกค้า

รายละเอียดแผนเสนอขายหุ้นสามัญ (Public Offering: PO)

หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer: EBT) ล่าสุด Makro ได้ยื่นแบบไฟลิ่งเพื่อจะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 2,270,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20.32 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของ Makro ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเสร็จสิ้น โดยมีสัดส่วนการเสนอขายดังนี้

  • หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย Makro จำนวนไม่เกิน 1,362,000,000 หุ้น หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จำนวนไม่เกิน 363,200,000 หุ้น
  • หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPH จำนวนไม่เกิน 363,200,000 หุ้น
  • หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด หรือ CPM จำนวนไม่เกิน 181,600,000 หุ้น

โดยจะมีการจัดสรรหุ้นสามัญบางส่วนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ในราคาเสนอขายเดียวกันกับราคาที่จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (PO) ซึ่งจะมีการกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้น Makro (Record Date) ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ และสามารถเช็กผลการจัดสรรออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ Settrade ในวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยมีรายละเอียดการจัดสรรหุ้น ดังนี้ 

  • ผู้ถือหุ้นเดิมของ Makro (ยกเว้น CPALL บริษัทย่อยของ CPALL CPM และ CPH) ในอัตราส่วน 10 หุ้นสามัญของ Makro ต่อ 1 หุ้นสามัญของ Makro ที่เสนอขาย
  • ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPALL (ยกเว้นกลุ่ม CPG (บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด) ตามแบบ 56-1 ประจำปี 2563 ของ CPALL) ในอัตราส่วน 15 หุ้นสามัญของ CPALL ต่อ 1 หุ้นสามัญของ Makro ที่เสนอขาย
  • ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPF (ยกเว้นกลุ่ม CPG ตามแบบ 56-1 ประจำปี 2563 ของ CPF) ในอัตราส่วน 70 หุ้นสามัญของ CPF ต่อ 1 หุ้นสามัญของ Makro ที่เสนอขาย

นอกจากนี้ Makro อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกินแก่ผู้จองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จำหน่ายโดยผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) จำนวนไม่เกิน 340,500,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายให้แก่ประชาชนในครั้งนี้  ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่นักลงทุนไทยจะได้ร่วมเติบโตไปกับธุรกิจค้าส่งแบบ B2B และค้าปลีกแบบ B2C ของคนไทยที่เตรียมขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค

การเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ จะทำให้มูลค่าตลาด (Market capitalization) ของ Makro สูงขึ้นอย่างมาก อีกทั้งสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งจะเข้าหลักเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งยังช่วยเสริมให้สภาพคล่องของการซื้อขาย ด้วยเหตุดังกล่าว Makro จึงอาจถูกพิจารณาจัดเข้าไปคำนวณในดัชนีสำคัญ ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดย Makro จะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจ ลดต้นทุนทางการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่สนใจ MAKRO จะจัดสรรหุ้น PO โดยวิธี Small Lot First ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของ SETTRADE ผ่านช่องทางของตัวแทนจำหน่ายหุ้น (Selling Agents) 3 ราย ได้แก่ (1) แอปพลิเคชัน Bualuang mBanking รวมถึงสำนักงานใหญ่และสาขาธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ (2) แอปพลิเคชัน SCB Easy รวมถึงสำนักงานใหญ่และสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ทั่วประเทศ และ (3) แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที

สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมของ MAKRO CPALL และ CPF ที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น PO สามารถจองซื้อผ่านช่องทางของตัวแทนรับจองซื้อหุ้น (Subscription Agents) 2 ราย ได้แก่ การจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Bualuang mBanking รวมถึงสำนักงานใหญ่และสาขาธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ และแอปพลิเคชัน SCB Easy รวมถึงสำนักงานใหญ่และสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยสามารถจองซื้อหุ้นตามสิทธิที่ได้รับจัดสรร หรือเกินกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรร (ไม่กำหนดจำนวนจองซื้อสูงสุดของการจองซื้อหุ้นเกินกว่าสิทธิที่ได้รับการจัดสรร) หรือน้อยกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรร หรือสละสิทธิไม่จองซื้อก็ได้ โดยระบบของ SETTRADE จะจัดสรรหุ้นตามสิทธิที่ได้รับแก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายที่จองซื้อในรอบแรก โดยสิทธิในการได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเกินกว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 บริษัทแต่ละราย จะคำนวณจากการนำสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 3 บริษัทที่แสดงความจำนงจองซื้อเกินกว่าสิทธิทั้งหมดของผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละรายมารวมกัน และจะจัดสรรเพิ่มแก่ผู้จองซื้อเกินกว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิมใน MAKRO CPALL และ CPF จนกว่าหุ้นจะหมดหรือครบตามจำนวนที่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อ ส่วนกรณีที่ผู้จองซื้อหุ้นรายเดียวกันยื่นใบจองซื้อมากกว่า 1 ใบ ระบบการจัดสรรของ SETTRADE จะรวมจำนวนหุ้นที่จองซื้อจากทุกใบจองเป็นยอดเดียว ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ สามารถตรวจสอบสิทธิที่ได้รับจัดสรรทาง http://www.settrade.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-090-9191